อตัปปา (บาลีวันละคำ 3,526)
อตัปปา
รูปพรหมชั้นที่สิบสาม
อ่านว่า อะ-ตับ-ปา
“อตัปปา” เขียนแบบบาลีเป็น “อตปฺปา” อ่านว่า อะ-ตับ-ปา รูปคำเดิมเป็น “อตปฺป” (อะ-ตับ-ปะ) รากศัพท์มาจาก น (คำนิบาต = ไม่, ไม่ใช่) + ตปฺ (ธาตุ = สะดุ้ง, กลัว) + อ (อะ) ปัจจัย, ซ้อน ปฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย (ตปฺ + ปฺ + อ), แปลง น เป็น อ
: น + ตปฺ = นตปฺ + ปฺ + อ = นตปฺป > อตปฺป แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไม่สะดุ้งกลัวใครๆ”
ในภาษาบาลี “อตปฺป” ใช้เป็นคุณศัพท์ขยายคำว่า “เทวา” (เทวดาทั้งหลาย) เปลี่ยนรูปเป็น “อตปฺปา”
“อตปฺปา” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อตัปปา” คำนี้ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
อภิปรายขยายความ :
ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาลงมา ขยายความคำว่า “อตัปปา” ไว้ดังจะขอยกมาเสนอบางแห่ง ดังนี้
…………..
น กญญฺจิ สตฺตํ ตปฺปนฺตีติ อตปฺปา ฯ
ชื่อว่า อตัปปา เพราะย่อมไม่สะดุ้งกลัวสัตว์ไรๆ
ที่มา: สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาวิภังคปกรณ์ หน้า 836
…………..
ทุติยตลวาสิโน เกนจิ อตปฺปนฺตีติ อตปฺปา ฯ
พวกพรหมผู้อยู่ในชั้นที่ 2 ชื่อว่าอตัปปา เพราะไม่สะดุ้งกลัวอะไรๆ
ที่มา: อภิธัมมัตถวิภาวินี หน้า 159
…………..
“อตัปปา” เป็นชื่อของพรหมชั้นที่ 13 ในรูปาวจรภูมิซึ่งมีทั้งหมด 16 ชั้น
“อตัปปา” เป็นพรหมที่อยู่ในชั้นที่เรียกว่า “สุทธาวาส” ซึ่งมี 5 จำพวก คือ อวิหาพรหม อตัปปาพรหม สุทัสสาพรหม สุทัสสีพรหม และอกนิฏฐพรหม
อตัปปาพรหมเป็นพรหมชั้นที่ 2 ในชั้นสุทธาวาส มีอายุยืนยาว 2,000 กัป
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ไม่กลัวใครเป็นวิสัยของนักเลง
: ไม่ทำบาปอกุศลเพราะกลัวเกรงเป็นวิสัยของบัณฑิต
#บาลีวันละคำ (3,526)
6-2-65
…………………………………..
…………………………………..