สลิมฺมรณํ สุขํ โลเก (บาลีวันละคำ 2,819)
สลิมฺมรณํ สุขํ โลเก
ผู้เขียนบาลีวันละคำเห็นภาพที่มีผู้นำมาเผยแพร่ภาพหนึ่ง เป็นรูปคนชูแผ่นกระดาษ กระดาษนั้นเขียนข้อความว่า –
…………..
มศวขอมีจุดยืน
สลิมฺมรณํ สุขํ โลเกฯ
สลิ่มตายแล้วเป็นสุขแก่โลก
…………..
ขอถือโอกาสอธิบายคำบาลีบนแผ่นกระดาษพอเป็นที่เข้าใจของผู้สนใจ
(๑) “สลิมฺมรณํ”
คำว่า “สลิมฺ-” เข้าใจว่าเป็นคำที่ชอบเรียกกันว่า สะ-หลิ่ม เป็นภาษาอะไร หมายถึงอะไร ขอยกไว้ ผู้สนใจพึงไปศึกษากันเอง เท่าที่พอเข้าใจได้ คงจะหมายถึงคนจำพวกหนึ่ง แต่คำนี้ไม่ใช่ภาษาบาลี
“มรณํ” เป็นคำบาลี อ่านว่า มะ-ระ-นัง เป็นคำนาม รูปคำเดิมคือ “มรณ” (มะ-ระ-นะ) แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ นปุงสกลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “มรณํ” แปลว่า “ความตาย”
(๒) “สุขํ”
อ่านว่า สุ-ขัง เป็นคำนาม แปลว่า “ความสุข” เป็นคุณศัพท์ แปลว่า “ให้เกิดสุข” หรือแปลสั้นๆ ว่า “เป็นสุข” รูปคำเดิมคือ “สุข” (สุ-ขะ) ในที่นี้ใช้เป็นคุณศัพท์ ขยายคำว่า “มรณํ” จึงต้องเปลี่ยนรูปให้มีลิงค์ วจนะ (พจน์) และวิภัตติเหมือนคำที่ถูกขยาย (คือ “มรณํ”)
: มรณ สุข = มรณํ สุขํ
(๓) “โลเก”
อ่านตรงตัวว่า โล-เก เป็นคำนาม แปลทับศัพท์ว่า “โลก”
ในภาษาบาลี คำว่า “โลก” (โล-กะ) มีความหมายหลายหลาก เช่น โลก, แผ่นดิน, จักรวาล, คน, มนุษยชาติ, ประชาชน, สัตว์ (world, earth, universe, man, mankind, people, beings)
ขยายความให้เข้าใจกว้างออกไป อาจกล่าวได้ว่า –
1 โลก หมายถึง ดินแดน แผ่นดิน วัตถุธาตุ หรือดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง คือโลกที่เรามองเห็นและอาศัยอยู่นี้ รวมทั้งดาวดวงอื่น
2 โลก หมายถึง สิ่งมีชีวิต เช่นคน สัตว์ เช่นในคำว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
3 โลก หมายถึง สังคม หมู่ชน ชุมชน เช่นในคำว่า โลกติเตียน เมตตาธรรมค้ำจุนโลก
4 โลก หมายถึง ชีวิต อันประกอบด้วยร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรม ของแต่ละคน ที่สำนวนเก่าเรียกว่า “โลกคือกายยาววา หนาคืบ กว้างศอก”
5 โลก หมายถึงวิสัยหรือธรรมดาของโลก เช่น เกิด แก่ เจ็บ ตาย พบ พราก ได้ เสีย อิ่ม อด สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์
6 โลก หมายถึง ค่านิยม ความคิดจิตใจ ความประพฤติแบบหนึ่ง ที่ตรงกันข้ามกับ “ธรรม” เช่น ดื่ม กิน เที่ยว เสพสุข เป็น “โลก” สงบ สำรวม ควบคุมขัดเกลาตนเอง เป็น “ธรรม”
ในที่นี้ “โลก” แจกด้วยวิภัตตินามที่เจ็ด (สัตตมีวิภัตติ) เอกพจน์ นปุงสกลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “โลเก” คำแปลทั่วไปคือ “ในโลก”
ขอให้สังเกตว่า “โลก” ที่ยังไม่ได้แจกด้วยวิภัตติ แปลว่า “โลก” แต่เมื่อแจกด้วยวิภัตติเป็น “โลเก” ไม่ได้แปล “โลก” เฉยๆ แต่แปลว่า “ในโลก”
“ใน” มาจากไหน?
คำว่า “ใน” เป็นคำที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อายตนิบาต” (อา-ยะ-ตะ-นิ-บาด) คือคำเชื่อมในภาษาไทยประจำแต่ละวิภัตติ เพื่อบอกให้รู้ว่าภาษาบาลีคำนั้นในที่นั้นเกี่ยวข้องกับคำอื่นอย่างไร และทำหน้าที่อะไรในประโยค
รวมความทั้งประโยค “สลิมฺมรณํ สุขํ โลเก” แปลตามหลักไวยากรณ์ว่า “อันว่าความตายของ ‘สลิ่ม’ เป็นสิ่งให้เกิดสุข ในโลก”
หรือแปลแบบยกศัพท์ว่า –
สลิมฺมรณํ = อันว่าความตายของ ‘สลิ่ม’
สุขํ = เป็นสิ่งให้เกิดสุข
โลเก = ในโลก
(โหติ = ย่อมเป็น)
โปรดสังเกตว่า ข้อความในแผ่นกระดาษเขียนคำแปลว่า “สลิ่มตายแล้วเป็นสุขแก่โลก” ซึ่งเป็นคำแปลตามประสงค์ของผู้แปล ไม่ใช่คำแปลตามประสงค์ของบาลีไวยากรณ์
เช่น “โลเก” ประสงค์ของไวยากรณ์แปลว่า “ในโลก”
แต่ประสงค์ของผู้แปล แปลว่า “แก่โลก” ซึ่งไม่ตรงตามไวยากรณ์
ถ้าจะให้ตรงตามประสงค์ของผู้แปล “โลก” ต้องเปลี่ยนรูปเป็น “โลกสฺส” (โล-กัด-สะ) ไม่ใช่ “โลเก”
ข้อสังเกต :
ในพระไตรปิฎก มีพระพุทธพจน์ที่รู้จักกันค่อนข้างดีบทหนึ่งว่า –
“อพฺยาปชฺฌํ สุขํ โลเก”
แปลว่า “ความไม่เบียดเบียนกันเป็นเหตุให้เกิดสุขในโลก”
หรือแปลสั้นๆ ว่า “ความไม่เบียดเบียนกันเป็นสุขในโลก”
จะเห็นว่า “สลิมฺมรณํ สุขํ โลเก” มีรูปประโยคและลีลาภาษาคล้ายกันกับ “อพฺยาปชฺฌํ สุขํ โลเก”
ผู้เขียนภาษาบาลีว่า “สลิมฺมรณํ สุขํ โลเก” มีเจตนาจะเลียนหรือล้อเลียนพระพุทธพจน์บทนี้ หรือเพียงแต่ไปคล้ายกันโดยไม่เจตนา เราไม่อาจทราบได้
แต่ที่ทราบได้แน่นอนคือ ในพระพุทธศาสนาไม่มีคำสอนที่บอกว่า ความตายของใครเป็นความสุขแก่โลก
มีแต่สอนว่า “ความไม่เบียดเบียนกันเป็นสุขในโลก”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ประเสริฐกว่าเรียนบาลี แต่ไม่รู้ธรรม
#บาลีวันละคำ (2,819)
1-3-63