บาลีวันละคำ

ไกวัล (บาลีวันละคำ 2,827)

ไกวัล

รูปงาม ความเพราะ

อ่านว่า ไก-วัน

ไกวัล” บาลีเป็น “เกวล” อ่านว่า เก-วะ-ละ รากศัพท์มาจาก เกวฺ (ธาตุ = แยก, พราก) + อล ปัจจัย

: เกวฺ + อล = เกวล แปลตามศัพท์ว่า “อันพรากจากสิ่งอื่น” หมายถึงมีหนึ่งเดียว หรือสุดยอดอยู่ที่เดียว

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ไขความคำว่า “เกวล” ไว้ว่า expression of the concept of unity and totality (คำแสดงมโนภาพถึงการรวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวและการรวมยอด)

เกวล” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เป็นคุณศัพท์ : เท่านั้น, อย่างเดียว; ทั้งมวล, ทั้งหมด (only, alone; whole, complete)

(2) เป็นกริยาวิเศษณ์ : ด้วยกัน หรือรวมเท่านี้ (altogether or only)

คำว่า “เกวล” ที่คุ้นปากนักสวดมนต์เห็นจะเป็นคำว่า “เกวลปริปุณฺณํ” อันเป็นความตอนหนึ่งในบททำวัตรเช้าที่ว่า –

…………..

โย ธัมมัง เทเสสิ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใดทรงแสดงธรรม

อาทิกัล๎ยาณัง ไพเราะในเบื้องต้น

มัชเฌกัล๎ยาณัง ไพเราะในท่ามกลาง

ปะริโยสานะกัล๎ยาณัง ไพเราะในที่สุด

สาตถัง สะพ๎ยัญชะนัง เกวะละปะริปุณณัง

ปะริสุทธัง พ๎รัห๎มะจะริยัง ปะกาเสสิ.

ทรงประกาศพรหมจรรย์คือแบบแห่งการปฏิบัติอันประเสริฐ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง พร้อมทั้งอรรถะ พร้อมทั้งพยัญชนะ

เกวลปริปุณฺณํ” (เกวะละปะริปุณณัง) แปลว่า “บริบูรณ์สิ้นเชิง” คือครบถ้วนหมดทุกสิ่งทุกประการ

…………..

พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา หรือ พจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธ ทรงเรียบเรียง แสดงศัพท์ที่หมายถึง “นิพพาน” ไว้ 46 ศัพท์หนึ่งในจำนวนนั้นคือ “เกวล” (คาถาที่ 8)

ดังนั้น นอกจากเป็นคุณศัพท์และเป็นกริยาวิเศษณ์แล้ว ถ้าใช้เป็นคำนาม “เกวล” หมายถึง นิพพาน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “เกวล” “ไกวลฺย” และ “เกวลฺย” บอกความหมายไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

(1) เกวล : (คำวิเศษณ์) หนึ่ง, ผู้เดียว, คนเดียว; ทั้งหมด, สากลย์, ทั้งสิ้น; one, alone, only; all, entire, whole; – (คำนาม) ชายผู้ริษยา; an envious or selfish man; – (กริยาวิเศษณ์)  คนเดียว, ผู้เดียว; เทียว, นี่กระไร; only, alone; absolutely, certainly; – (คำนาม) ความรู้ประเภทหนึ่ง, ความรู้ประเภทเอกจิตตา; a species of knowledge, that of the unity of spirit.

(2) ไกวลฺย, เกวลฺย : (คำวิเศษณ์) ไกวัลย์, เกวัลย์, เอก, ผู้เดียว; sole, only; – นิรันตรปรมาคติ, บรมสุขในอนาคต, ความพ้นทุกข์หรือหลุดพ้นจากเครื่องร้อยรัด; eternal emancipation, future happiness, freedom from sorrow or from all fetters.

บาลี “เกวล” ในภาษาไทยใช้เป็น “ไกวัล” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้เป็น “ไกวัล ๑” และ “ไกวัล ๒”  บอกไว้ดังนี้ –

(1) ไกวัล ๑ : (คำวิเศษณ์) ทั่วไป. (ป., ส. เกวล).

(2) ไกวัล ๒ : (คำนาม) ชั้นสวรรค์ เช่น พิราลัยก็ไคลยังนภมน-ทิรทิพยไกวัล. (สมุทรโฆษ).

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คำดีๆ ไม่ถึงยี่สิบปีคนก็ลืม

: คนดีๆ อีกกี่พันปีก็ไม่มีใครลืม

#บาลีวันละคำ (2,827)

9-3-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย