ขอเพียงแค่เปิดพจนานุกรม
ขอเพียงแค่เปิดพจนานุกรม
—————————-
นานมาแล้ว ญาติมิตรท่านหนึ่งที่ติดตามอ่านบาลีวันละคำท่านวิจารณ์ว่า
“ก็ไม่มีอะไร แค่เปิดพจนานุกรมแล้วก็ลอกมาเท่านั้น”
ผมชอบคำวิจารณ์นี้มาก ถูกใจจริงๆ เหมือนท่านมาเห็นวิธีทำงานของผม
“บาลีวันละคำ” ที่ญาติมิตรมีน้ำใจติดตามอ่านกันทุกวันนั้นเปรียบเหมือนแกงที่แม่ครัวตักใส่ชามเป็นอย่างดีแล้วยกไปวางตรงหน้าท่าน
ท่านก็เพียงหยิบช้อนตักใส่ปากได้เลย
แต่ถ้าใครลองแอบตามเข้าไปดูในครัวก็จะเห็นเบื้องหลังของแกงชามนั้น-ไม่ผิดกับสนามรบ
……….
มีดวางพาดอยู่บนเขียง
ตะไคร้ใบมะกรูดกระจุกอยู่ข้างเขียง
เศษผักกองอยู่ทางหนึ่ง
เปลือกหอมกระเทียมเกลื่อนอยู่บนพื้น
สากคาอยู่ในครก
กะละมังใส่น้ำวางเกะกะอยู่ทางหนึ่ง
ผ้าเช็ดมือพาดอยู่ปากตะกร้า
น้ำหยดเปียกอยู่ตรงนั้นตรงโน้น
ถ้าเดินไม่ระวังอาจเหยียบอ่างกะปิที่วางอยู่ข้างขวดน้ำปลา
ฯลฯ
……….
ขั้นตอนการเขียนบาลีวันละคำของผมก็คือ กำหนดคำที่จะเขียนในวันนั้น (๑) อาจมีอยู่ในบัญชีคำที่เตรียมไว้ หรือ (๒) มีญาติมิตรขอมาเป็นการเฉพาะหน้า หรือ (๓) ได้จากเหตุการณ์ประจำวันที่น่าสนใจ หรือ (๔) บังเอิญไปอ่านเจอเข้าที่ไหนสักแห่ง
พอได้คำมาแล้ว ผมก็จะเริ่มกระบวนการ คือค้นหารากศัพท์ของคำนั้น ค้นหาคำแปลจากแหล่งต่างๆ
ตรงนี้แหละครับที่ “พจนานุกรม” ชักแถวเรียงหน้ากันเข้ามา
คว้าเล่มนั้น วางเล่มนี้ เปิดกันจนมือเป็นระวิง-ว่างั้นเถอะ
เหมือนแม่ครัวนั่นเลย หยิบมีด คว้าผัก วางมีด คว้าครก หมุนอยู่ตรงนั้นแหละ
ที่ท่านว่า “ก็ไม่มีอะไร แค่เปิดพจนานุกรมแล้วก็ลอกมาเท่านั้น” ตรงเป๊ะเหมือนตาเห็น
แต่ว่าสนุกครับ เป็นการหาความรู้ แล้วก็ได้ความรู้ไปในตัว
ผมเขียนบาลีวันละคำก็จริง แต่ได้เรียนบาลีวันละหลายคำ
……….
ต่อไปนี้คือบัญชีรายการ “พจนานุกรม” ที่ผมเปิดใช้ประจำวัน
๑ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต)
เล่มนี้ผมได้มาเล่มหนึ่งตอนที่พระเดชพระคุณท่านยังเป็น “พระธรรมกิตติวงศ์” ครั้นตอนที่ท่านได้เลื่อนขึ้นเป็น “พระมหาโพธิวงศาจารย์” รองสมเด็จพระราชาคณะ ก็ได้มาอีกเล่มหนึ่งด้วยน้ำใจที่น่ารักของคุณหนู สุกัญญา เจริญวีรกุล (Sukanya Pema Dechen Chotso)
ขอบคุณทุกครั้งที่เปิดใช้
๒ ธาตุปฺปทีปิกา หรือพจนานุกรม บาลี – ไทย แผนกธาตุ ประกอบด้วยหลักไวยากรณ์ชั้นสูง ของ หลวงเทพดรุณานุศิษฏ์ (ทวี ธรมธัช ป.๙)
เล่มนี้ได้มาอย่างน่าอัศจรรย์ สมัยเป็นพระผมเคยมีฉบับพิมพ์ครั้งแรกๆ กระดาษหนา เล่มโต พอไปเรียนที่อินเดียก็เลยสละให้ใครไป จำไม่ได้ พอมาจับงานเขียนบาลีวันละคำอยากได้มาก แต่ไม่มีโอกาสเข้าไปซื้อที่มหามกุฏฯ
อยู่มาวันหนึ่ง ท่านศาสตราจารย์ ดร.อุทิส ศิริวรรณ ท่านก็โผล่เข้ามาทางเฟซบุ๊ก คุยกันถึงตำราบาลีที่มหามกุฏฯ ผมพูดอะไรไปบ้างก็จำไม่ได้ อยู่มาวันหนึ่ง (อีกที) ท่านก็ส่ง “ธาตุปฺปทีปิกา” เล่มนี้มาให้ เหมือนมีญาณหยั่งรู้ว่ากำลังอยากได้
นี่ก็อีกเล่มหนึ่งที่ขอบพระคุณท่านอาจาร์อุทิสทุกครั้งที่เปิดใช้
๓ พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา หรือ พจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย
พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธ ทรงเรียบเรียง
เล่มนี้ใช้มานานแล้ว เคยเห็น อภิธานัปปทีปิกาสูจิ อีกเล่มหนึ่งเป็นหนังสือเก่า แต่ผมไม่มี ต่อมาท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดพิชยญาติการาม เมื่อยังเป็นที่พระศรีวิสุทธิวงศ์ วัดชนะสงคราม ท่านปริวัตรคัมภีร์อภิธานปฺปทีปิกาฏีกาจากอักษรพม่าเป็นอักษรไทย พิมพ์เผยแพร่เมื่อปี ๒๕๒๗ ผมไม่มีฉบับจริงที่เป็นเล่มหนังสือ แต่ได้ขอยืมฉบับจริงมาจากกองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ แล้วถ่ายภาพข้อความหมดทั้งเล่มเก็บไว้ เวลาจะใช้ก็เปิดอ่านจากภาพ ก็สำเร็จประโยชน์เป็นอันดี
๔ สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ
(นายร้อยเอก หลวงบวรบรรณรักษ์ (นิยม รักไทย) เรียบเรียง)
เล่มนี้นัยว่าพิมพ์ครั้งเดียวแล้วก็หายไปเลย เป็นที่ให้ค้นความหมายในภาษาสันสกฤตได้ดีพอสมควร
๕ อักขรานุกรมกิริยาอาขยาต ในอรรถกถาธรรมบทภาคที่ ๑ นาวาตรี สุรเชษฐ์ ทองแม้น จัดทำ
เล่มนี้ได้รับอภินันทนาการมาจากผู้จัดทำ ผมเคยเสนอให้ท่านจัดทำให้ครบทั้ง ๘ ภาค (อรรถกถาธรรมบทมี ๘ ภาค) จะเป็นอุปการะแก่นักเรียนบาลีเป็นอย่างดียิ่ง
๖ พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต
๗ พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต
๘ พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต (ผนวกอยู่ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม)
๙ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒
๑๐ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔
พจนานุกรม ๒ เล่มนี้ผมต้องเปิดเป็นประจำ เพื่อยืนยันการสะกดคำและความหมายของคำ ผมเปิดเทียบกันทั้งสองฉบับ ฉบับ พ.ศ.๒๕๕๔ แก้ไขปรับปรุงมาจากฉบับ พ.ศ.๒๕๔๒ บางคำใช้บทนิยามตามฉบับ พ.ศ.๒๕๔๒ บางคำปรับแก้ใหม่ เปิดเทียบกันดูเพื่อจะได้รู้ว่าของเดิมนิยามไว้อย่างไร แก้ไขใหม่เป็นอย่างไร เป็นการศึกษาวิธีคิดของคณะกรรมการชำระพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสภาไปในตัว
๑๑ พจนานุกรมบาลี – อังกฤษ ของ ริส เดวิดส์
(THE PALI TEXT SOCIETY’S PALI-ENGLISH DICTIONARY edited by T. W. RHYS DAVIDS)
ฉบับนี้สำคัญมาก สำหรับใช้ดูคำแปลบาลีเป็นอังกฤษ ผมมีทั้งที่เป็นเล่มหนังสือ และเป็นไฟล์ pdf แต่ที่เปิดเป็นประจำคือทางออนไลน์เว็บไซ้ต์ของสมาคมบาลีปกรณ์ (The Pali text society)
พจนานุกรมเล่มนี้ มูลนิธิภูมิพโลภิกขุขอลิขสิทธิ์มาแปลเป็นไทย เรียกว่าพจนานุกรมบาลี-ไทย-อังกฤษ เป็นพจนานุกรมขนาดใหญ่ แยกพิมพ์เป็น ๘ เล่มชุด แต่ก็มีฉบับย่อคัดออกมาเฉพาะบาลีคำตั้งและคำแปล เล่มเดียวจบ ขนาดกระทัดรัดพออาศัยใช้งานได้
พจนานุกรมเล่มนี้ฉบับที่มูลนิธิภูมิพโลภิกขุพิมพ์เป็น ๘ เล่มชุด (บาลี-ไทย-อังกฤษ) มีผู้เอาไปพิมพ์รวมไว้ในโปรแกรมพระไตรปิฎกชุดที่เรียกว่า “เรียนพระไตรปิฎก” (สัญลักษณ์เป็นสามเหลี่ยมสีเหลือง) แต่พิมพ์ตกหล่นมาก (ผู้จัดทำเตือนไว้ก่อนแล้วว่าข้อมูลจากโปรแกรมชุดนี้ไม่เหมาะสำหรับนำไปอ้างอิง) แต่ก็พออาศัยค้นคว้าเป็นเบื้องต้นได้ คือเปิดดูตรงนี้เป็นเบื้องต้น ถ้ามีข้อสงสัยว่าจะตกหล่นผิดพลาดก็ตามไปดูที่ฉบับมาตรฐาน
ผมอยากให้ผู้จัดทำโปรแกรม “เรียนพระไตรปิฎก” ลงทุนตรวจปรู๊ฟพจนานุกรมชุดนี้อีกทีแล้วทำเป็นเวอชั่นใหม่เผยแพร่ จะเป็นอุปการะแก่การค้นคว้าภาษาบาลีอีกเป็นอันมาก
๑๒ DICTIONARY OF PALI PROPER NAMES ของ G.P. MALALASEKERA
ฉบับนี้มี ๒ เล่มจบ เวลาเขียนคำที่เป็นชื่อคนชื่อสถานที่ ดูที่ชุดนี้จะทราบประวัติโดยสรุปครบถ้วน ไม่ต้องเปิดคัมภีร์หลายเล่ม เพราะผู้จัดทำค้นคว้ามาให้ครบถ้วนแล้ว
เล่มนี้ คณะสงฆ์สมัยหนึ่งเคยตั้งท่าแปลเป็นไทย ตั้งชื่อว่า “นามานุกรม…” อะไรสักอย่าง ทำออกมาได้ไม่กี่คำก็เลิกไป ไม่ทราบว่าขัดข้องตรงไหน ผมว่าน่าจะทำต่อ แปลเป็นไทยให้จบทั้งสองเล่ม นักเรียนบาลีและผู้สนใจศึกษาพระพุทธศาสนาจะได้ประโยชน์เป็นอันมาก
แปลกนะครับ งานที่จะทำก็มี คนที่สามารถจะทำได้ก็มี เงินก็มี แต่ความคิดที่จะทำไม่มี ผมไม่เคยเห็นการบริหารงานที่ไหนแปลกประหลาดเหมือนคณะสงฆ์ไทย
………………
ผมเปิดพจนานุกรมทุกวัน วันละหลายเล่ม ถามว่า คนไทย-เด็กไทยทุกวันนี้ เวลาจะคิดจะเขียนอะไร เปิดพจนานุกรมกันบ้างหรือเปล่า?
เอาแค่เวลาจะเขียนคำว่า เกร็ดความรู้ … อินทผลัม … ที่ผมทักท้วงไปเมื่อเร็วๆ นี้ ถ้าเปิดพจนานุกรมเสียหน่อย ก็จะไม่เขียนผิดใช้ผิด
เวลานี้เป็นอย่างนี้กันหมด คือจะเขียนคำอะไร นึกจะสะกดอย่างไร นึกอยากจะให้มีความหมายว่าอย่างไร ก็คิดเองเออเอง ใช้เองไปตามที่เข้าใจเอาเอง ภาษาไทยจึงวิปริตไปทุกวัน
ลักษณะนิสัยคิดเองเข้าใจเอาเอง ไม่ตรวจสอบศึกษาเช่นนี้ เวลานี้ลามเข้าไปถึงในหมู่พระภิกษุสามเณรด้วยแล้ว
อะไรผิด อะไรถูก
อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้
อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ
คิดเอาเอง เข้าใจเอาเอง ไม่ศึกษาตรวจสอบกับหลักพระธรรมวินัยคือพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกา พอใจจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไร ก็ทำหรือไม่ทำไปตามที่ตนเข้าใจหรือคิดเอาเองว่าดี พระธรรมวินัยจึงวิปริตไปทุกวัน
……………….
อันที่จริงการเรียนบาลีที่เราเรียนกันอยู่ทุกวันนี้เป้าหมายที่แท้จริงก็คือ-จะได้เอาความรู้ไปศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก-ซึ่งก็คือหลักพระธรรมวินัย อันเป็นตัวพระศาสนา เมื่อได้ความรู้ที่ถูกต้องก็จะได้เอาไปประพฤติปฏิบัติได้ถูกต้อง แล้วจะได้เอาความรู้ที่ถูกต้องนั้นแนะนำสั่งสอนเผยแผ่ให้แพร่หลายต่อไป
แต่เรียนกันไปเรียนกันมา กลายเป็นเรียนเพื่อให้สอบได้ แล้วใช้ศักดิ์และสิทธิ์จากการสอบได้ไปทำกิจอย่างอื่น-ยกเว้นกิจคือการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก
ผู้จบเปรียญธรรม ๙ ประโยค อุปมาเหมือนได้กุญแจไขตู้พระไตรปิฎกมาดอกหนึ่ง
ทุกวันนี้ไม่ได้เอาไปเปิดตู้พระไตรปิฎก
แต่เอาไปคล้องคอเป็นเกียรติยศเท่านั้น
พรุ่งนี้ (๑๐ มีนาคม ๒๕๖๓) คณะสงฆ์จะลงมือตรวจข้อสอบบาลี อีกไม่กี่วันเราจะได้ผู้จบเปรียญธรรม ๙ ประโยคอีกชุดหนึ่ง
ผมพูดกระตุ้น กระตุก กระทุ้ง กระแทก มานาน จนหลายท่านรำคาญ แต่ก็ยังไม่หมดความหวัง
ได้กุญแจไขตู้พระไตรปิฎกมาแล้ว ขอให้เอาไปไขตู้พระไตรปิฎกกันบ้างนะขอรับ อย่าเอาคล้องคอเป็นเกียรติยศเฉยๆ
พระไตรปิฎกคือตัวพระศาสนา
ถ้าไม่ศึกษาค้นคว้าตัวพระศาสนา เราจะรักษาพระศาสนากันไว้ได้อย่างไร
ถ้าไม่รู้จะเริ่มตรงไหน อุ่นเครื่องด้วยการฝึกเปิดพจนานุกรมตามรายการที่ผมแจงไว้ข้างต้นไปพลางๆ ก่อนก็ได้
ขอเพียงแค่เปิดพจนานุกรม
โยมก็พร้อมที่ก้มกราบแทบเท้า
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๙ มีนาคม ๒๕๖๓
๑๙:๒๙