อนาคามี

บาลีวันละคำ

อนาคามี (บาลีวันละคำ 773)

อนาคามี

ไทยและบาลีเขียนเหมือนกัน อ่านว่า อะ-นา-คา-มี

“อนาคามี” รากศัพท์มาจาก น (นะ) (= ไม่, ไม่ใช่) + อา (คำอุปสรรค กลับความหมายของคำหลัง : ไป = มา) + คมฺ (ธาตุ = ไป) + ณี ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะต้นธาตุ (คือยืดเสียง อะ ที่ ค (< คมฺ) ให้เป็น อา : ค- > คา-

กระบวนการทางไวยากรณ์ :
ขั้นที่ 1 : อา + คมฺ = อาคม > อาคาม + ณี > อี = อาคามี แปลว่า “ผู้มา”
ขั้นที่ 2 : น + อาคามี = ?

กฎการประสมของ น + :
– ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ แปลง น เป็น อ-
– ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ แปลง น เป็น อน-

ในที่นี้ “อาคามี” ขึ้นต้นด้วยสระ (คือ อา-) จึงแปลง น เป็น อน : น > อน + อาคามี = อนาคามี

อนาคามี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไม่มา (เกิดเป็นมนุษย์)” หรือ “ผู้ไปไม่กลับ”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อนาคามี” ว่า one who does not return, a Never-Returner (ผู้ซึ่งไม่กลับมาอีก, ผู้ไม่หวนกลับมา)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“อนาคามี : “ผู้ไม่มาสู่กามภพอีก” เป็นชื่อพระอริยบุคคลชั้นที่ ๓ ใน ๔ ชั้น คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์, บางทีเรียกสั้น ๆ ว่า พระอนาคา”

Read More