อนาคามี (บาลีวันละคำ 773)
อนาคามี
ไทยและบาลีเขียนเหมือนกัน อ่านว่า อะ-นา-คา-มี
“อนาคามี” รากศัพท์มาจาก น (นะ) (= ไม่, ไม่ใช่) + อา (คำอุปสรรค กลับความหมายของคำหลัง : ไป = มา) + คมฺ (ธาตุ = ไป) + ณี ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะต้นธาตุ (คือยืดเสียง อะ ที่ ค (< คมฺ) ให้เป็น อา : ค– > คา–
กระบวนการทางไวยากรณ์ :
ขั้นที่ 1 : อา + คมฺ = อาคม > อาคาม + ณี > อี = อาคามี แปลว่า “ผู้มา”
ขั้นที่ 2 : น + อาคามี = ?
กฎการประสมของ น + :
– ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ แปลง น เป็น อ-
– ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ แปลง น เป็น อน-
ในที่นี้ “อาคามี” ขึ้นต้นด้วยสระ (คือ อา-) จึงแปลง น เป็น อน : น > อน + อาคามี = อนาคามี
อนาคามี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไม่มา (เกิดเป็นมนุษย์)” หรือ “ผู้ไปไม่กลับ”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อนาคามี” ว่า one who does not return, a Never-Returner (ผู้ซึ่งไม่กลับมาอีก, ผู้ไม่หวนกลับมา)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อนาคามี : “ผู้ไม่มาสู่กามภพอีก” เป็นชื่อพระอริยบุคคลชั้นที่ ๓ ใน ๔ ชั้น คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์, บางทีเรียกสั้น ๆ ว่า พระอนาคา”
พระอริยบุคคลชั้นอนาคามีก็คือพระสกทาคามีผู้อบรมจิตให้ละเอียดประณีตสูงขึ้นจนสามารถละสังโยชน์ (= กิเลสที่ร้อยรัดมัดผูกให้เวียนตายเวียนเกิดอยู่วัฏสงสาร fetters; bondage) ได้ 5 อย่าง (สังโยชน์มี 10 อย่าง ที่พระอนาคามีละได้นี้เป็นครึ่งแรก) คือ –
(1) สักกายทิฏฐิ “ความเห็นว่าเป็นตัวของตน” = เห็นว่ามีตัวตนที่จะอยู่เสพสุขถาวรในภพภูมินั้นๆ แม้แต่ในพระนิพพาน (personality-view of individuality)
(2) วิจิกิจฉา “ความลังเลสงสัย” = สงสัยในกรรมดีกรรมชั่ว, ไม่แน่ใจในหนทางปฏิบัติว่าอะไรถูกอะไรผิด (doubt; uncertainty)
(3) สีลัพพตปรามาส “ความถือมั่นศีลพรต” = ถือความขลังความศักดิ์สิทธิ์ในลักษณะต่างๆ รวมทั้งถือว่าเพียงรักษาศีลปฏิบัติกิจวัตรก็อาจบรรลุธรรมได้ (adherence to rules and rituals)
(3 อย่างนี้ละได้แล้วตั้งแต่เป็นพระโสดาบัน แล้วมาละได้อีก 2 คือ)
(4) กามราคะ “ความติดใจในกามคุณ” = ติดอร่อย, ติดสนุก, ติดสุข (sensual lust)
(5) ปฏิฆะ “ความกระทบกระทั่งในใจ” = ความหงุดหงิด, ขัดเคือง, กรุ่นโกรธ (ไม่ต้องถึงกับโกรธแค้น แม้แต่รู้สึกหงุดหงิดก็ไม่มี) (repulsion; irritation)
อนาคามีบุคคลอาจอยู่เป็นฆราวาสได้ แต่จะไม่มีจิตข้องแวะในกามทุกประเภท
คิดกันให้ดีๆ :
ถ้าไปแล้วได้กลับเป็นของดี
ทำไมพระอนาคามีท่านจึงไปไม่กลับ ?
—————-
(ตามคำเสนอแนะของ เมธีวุฒินันทน์ ภาณุภัทรธนวัฒน์)
#บาลีวันละคำ (773)
30-6-57