Month: กรกฎาคม 2013

บาลีวันละคำ

อาบัติ (บาลีวันละคำ 413)

อาบัติ

อ่านว่า อา-บัด
บาลีเป็น “อาปตฺติ” อ่านว่า อา-ปัด-ติ
รากศัพท์คือ อา (ทั่ว, ยิ่ง) + ปท (ธาตุ แปลงเป็น ปตฺ = ไป, ถึง) + ติ (ปัจจัย = การ-, ความ-) = อาปตฺติ

“อาปตฺติ” หมายถึง โทษที่เกิดจากการล่วงละเมิดสิกขาบทหรือข้อห้ามแห่งภิกษุ อย่างที่เข้าใจกันด้วยภาษาง่ายๆ ว่า “ผิดศีล” หรือ “ศีลขาด”

คำนี้เรานิยมพูดทับศัพท์ว่า “อาบัติ” เช่น “พระทำอย่างนี้ไม่เป็นอาบัติหรือ”

นักบาลีมักแปลตามศัพท์ว่า “การต้อง” หมายถึง “กระทบ” คือ การกระทำเช่นนั้นไปกระทบเข้ากับความผิด หรือมีความผิดเข้ามากระทบผู้กระทำ

อาบัติมี 7 ชื่อ มีความหมายตามลักษณะความผิด ดังนี้ (เพื่อเข้าใจง่าย ขอแปลแบบถอดความ)
(1) ปาราชิก = “แพ้ไล่ออก”
(2) สังฆาทิเสส = “ต้องให้สงฆ์สั่งสอน”
(3) ถุลลัจจัย = “เลวอย่างหยาบ”
(4) ปาจิตตีย์ = “ทำดีตกแตก”
(5) ปาฏิเทสนียะ = “รับสารภาพ”
(6) ทุกกฏ = “มารยาททราม”
(7) ทุพภาสิต = “ปากเสีย”

มาตรการลงโทษ (ตัวเลขในวงเล็บคืออาบัติ)

(1) ขาดจากความเป็นพระทันทีที่ทำ
(2) ที่ประชุมสงฆ์ลงโทษตามวิธีการที่กำหนด
(3-7) เปิดเผยความผิดต่อหน้าเพื่อนภิกษุด้วยกัน เรียกว่า “ปลงอาบัติ”

Read More
บาลีวันละคำ

พระสงฆ์ (บาลีวันละคำ 412)

พระสงฆ์
(คำบาลีประสมในภาษาไทย)

คำว่า “พระ” มีผู้ให้ความเห็นว่าน่าจะมาจาก “วร” (วะ-ระ) ในบาลีสันสกฤต แปลว่า “ผู้ประเสริฐ” แปลง ว เป็น พ ออกเสียงว่า พะ-ระ แล้วกลายเสียงเป็น พฺระ (ร กล้ำ)
ในที่นี้คำว่า “พระ” เป็นคำใช้ประกอบหน้าคําอื่นแสดงความยกย่อง (พจน.42 บอกความหมายของ “พระ” ไว้ 13 อย่าง)

“สงฆ์” แปลว่า ฝูงชน, ชุมนุมชน, หมู่, ฝูง, กลุ่ม, กลุ่มใหญ่, ประชาคม, คณะสงฆ์, พระ, นักบวช

ในทางภาษา “พระสงฆ์” แปลว่า “หมู่แห่งผู้ประเสริฐ” หรือ “นักบวชผู้ประเสริฐ”
แต่ในทางความมุ่งหมาย “พระสงฆ์” คือ –

(1) หมู่สาวกของพระพุทธเจ้า เรียกว่า “สาวกสงฆ์” ดังคำสวดในสังฆคุณว่า “สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ = สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว” เริ่มแต่พระโสดาบันจนถึงพระอรหันต์
“สาวกสงฆ์” คือหนึ่งในพระรัตนตรัย (พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์)

(2) ชุมนุมภิกษุหมู่หนึ่งตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป ซึ่งสามารถประกอบสังฆกรรมได้ตามกำหนดทางพระวินัย เรียกว่า “ภิกขุสงฆ์”

ต่อมา มักเรียกอย่างแรกว่า “อริยสงฆ์” อย่างหลังว่า “สมมุติสงฆ์”
พระสงฆ์ ไม่ว่าจะเป็นอริยสงฆ์ หรือสมมุติสงฆ์ ล้วนต้องอยู่ในกรอบคือพระธรรมวินัยอันพระพุทธองค์ทรงแสดงและทรงบัญญัติไว้ดีแล้ว

: ถ้าเห็นกรอบเป็น “เกราะ” ก็เหมาะที่จะเป็นพระสงฆ์
: ถ้าเห็นกรอบเป็น “กรง” สักวันก็คง..หลุดออกไป

Read More