บาลีวันละคำ

อาบัติ (บาลีวันละคำ 413)

อาบัติ

อ่านว่า อา-บัด

บาลีเป็น “อาปตฺติ” อ่านว่า อา-ปัด-ติ

รากศัพท์คือ อา (ทั่ว, ยิ่ง) + ปท (ธาตุ แปลงเป็น ปตฺ = ไป, ถึง) + ติ (ปัจจัย = การ-, ความ-) = อาปตฺติ

อาปตฺติ” หมายถึง โทษที่เกิดจากการล่วงละเมิดสิกขาบทหรือข้อห้ามแห่งภิกษุ อย่างที่เข้าใจกันด้วยภาษาง่ายๆ ว่า “ผิดศีล” หรือ “ศีลขาด

คำนี้เรานิยมพูดทับศัพท์ว่า “อาบัติ” เช่น “พระทำอย่างนี้ไม่เป็นอาบัติหรือ

นักบาลีมักแปลตามศัพท์ว่า “การต้อง” หมายถึง “กระทบ” คือ การกระทำเช่นนั้นไปกระทบเข้ากับความผิด หรือมีความผิดเข้ามากระทบผู้กระทำ

อาบัติมี 7 ชื่อ มีความหมายตามลักษณะความผิด ดังนี้ (เพื่อเข้าใจง่าย ขอแปลแบบถอดความ)

(1) ปาราชิก = “แพ้ไล่ออก

(2) สังฆาทิเสส = “ต้องให้สงฆ์สั่งสอน

(3) ถุลลัจจัย = “เลวอย่างหยาบ

(4) ปาจิตตีย์ = “ทำดีตกแตก

(5) ปาฏิเทสนียะ = “รับสารภาพ

(6) ทุกกฏ = “มารยาททราม

(7) ทุพภาสิต = “ปากเสีย

มาตรการลงโทษ (ตัวเลขในวงเล็บคืออาบัติ)

(1) ขาดจากความเป็นพระทันทีที่ทำ

(2) ที่ประชุมสงฆ์ลงโทษตามวิธีการที่กำหนด

(3-7) เปิดเผยความผิดต่อหน้าเพื่อนภิกษุด้วยกัน เรียกว่า “ปลงอาบัติ

: อาบัติเป็นไฟ รักษาใจเป็นน้ำ

บาลีวันละคำ (413)

2-7-56

อาปตฺติ (อา + ปท บทกิริยาเป็น อาปชฺชติ) (บาลี-อังกฤษ)

โทษทางวินัยของสงฆ์ an ecclesiastical offence

อาปชฺชติ ถึง, พบ, ประสบ, ทำ, ก่อ. แสดง to get into, to meet with (acc.); to undergo; to make, produce, exhibit

อาปนฺน (๑) เข้าถึง, พลาดพลั้ง, ต้อง (อาบัติ), ละเมิด entered upon, fallen into, possessed of, having done (๒) มีโชคไม่ดี, มีเคราะห์ร้าย unfortunate, miserable

อาปตฺติ อิต.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

อาบัติ, ความล่วงละเมิดข้อห้ามที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ, โทษทางวินัย

อาบัติ (ประมวลศัพท์)

การต้อง, การล่วงละเมิด, โทษที่เกิดแต่การละเมิดสิกขาบท; อาบัติ ๗ คือ ปาราชิก สังฆาทิเสส ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ ทุพภาสิต; อาบัติ ๗ กองนี้จัดรวมเป็นประเภทได้หลายอย่าง โดยมากจัดเป็น ๒ เช่น

๑. ครุกาบัติ อาบัติหนัก (ปาราชิกและสังฆาทิเสส)

๒. ลหุกาบัติ อาบัติเบา (อาบัติ ๕ อย่างที่เหลือ);

คู่ต่อไปนี้ก็เหมือนกัน คือ

๑. ทุฏฐุลลาบัติ อาบัติชั่วหยาบ

๒. อทุฏฐุลลาบัติ อาบัติไม่ชั่วหยาบ;

๑. อเทสนาคามินี อาบัติที่ไม่พ้นได้ด้วยการแสดง

๒. เทสนาคามินี อาบัติที่พ้นได้ด้วยการแสดงคือเปิดเผยความผิดของตน;

คู่ต่อไปนี้จัดต่างออกไปอีกแบบหนึ่งตรงกันทั้งหมด คือ

๑. อเตกิจฉา เยียวยาแก้ไขไม่ได้ (ปาราชิก)

๒. สเตกิจฉา เยียวยาแก้ไขได้ (อาบัติ ๖ อย่างที่เหลือ);

๑. อนวเสส ไม่มีส่วนเหลือ

๒. สาวเสส ยังมีส่วนเหลือ;

๑. อัปปฏิกัมม์ หรือ อปฏิกรรม ทำคืนไม่ได้คือแก้ไขไม่ได้

๒. สัปปฏิกัมม์ หรือ สปฏิกรรม ยังทำคืนได้ คือแก้ไขได้ 

        อาการที่ภิกษุจะต้องอาบัติ มี ๖ อย่าง  คือ อลชฺชิตา ต้องด้วยไม่ละอาย ๑ อญฺญาณตา ต้องด้วยไม่รู้ว่าสิ่งนี้จะเป็นอาบัติ ๑ กุกฺกุจฺจปกตตา ต้องด้วยสงสัยแล้วขืนทำลง ๑ อกปฺปิเย กปฺปิยสญฺญิตาต้องด้วยสำคัญว่าควรในของที่ไม่ควร ๑ กปฺปิเย อกปฺปิยสญฺญิตา ต้องด้วยสำคัญว่าไม่ควรในของที่ควร ๑ สติสมฺโมสาต้องด้วยลืมสติ ๑

ปาราชิก

(“ผู้พ่ายแพ้”)

เป็นชื่ออาบัติหนักที่ภิกษุต้องเข้าแล้วขาดจากความเป็นภิกษุ, เป็นชื่อบุคคลผู้ที่พ่ายแพ้ คือ ต้องอาบัติปาราชิกที่ทำให้ขาดจากความเป็นภิกษุ, เป็นชื่อสิกขาบท ที่ปรับอาบัติหนักขั้นขาดจากความเป็นภิกษุมี ๔ อย่างคือ เสพเมถุน ลักของเขา ฆ่ามนุษย์ อวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีในตน

สังฆาทิเสส

(“จำปรารถนาสงฆ์ในกรรมเบื้องต้นและกรรมที่เหลือ”)

ชื่อหมวดอาบัติหนักรองจากปาราชิก ต้องอยู่กรรมจึงพ้นได้ คือเป็นครุกาบัติ (อาบัติหนัก) แต่ยังเป็นสเตกิจฉา (แก้ไขหรือเยียวยาได้); ตามศัพท์ สังฆาทิเสส แปลว่า “หมวดอาบัติอันจำปรารถนาสงฆ์ในกรรมเบื้องต้นและกรรมที่เหลือ”, หมายความว่า วิธีการที่จะออกจากอาบัตินี้ ต้องอาศัยสงฆ์ ตั้งแต่ต้นไปจนตลอด กล่าวคือเริ่มต้นจะอยู่ปริวาส ก็ต้องขอปริวาสจากสงฆ์ ต่อจากนั้น จะประพฤติมานัตก็ต้องอาศัยสงฆ์เป็นผู้ให้ ถ้ามีมูลายปฏิกัสสนาก็ต้องสำเร็จด้วยสงฆ์อีก และท้ายที่สุดก็ต้องขออัพภานจากสงฆ์; สิกขาบทที่ภิกษุละเมิดแล้ว จะต้องอาบัติสังฆาทิเสส มี ๑๓ ข้อ คำว่า สังฆาทิเสส ใช้เป็นชื่อเรียกสิกขาบท ๑๓ ข้อนี้ด้วย

ถุลลัจจัย

“ความล่วงละเมิดที่หยาบ”, ชื่ออาบัติหยาบอย่างหนึ่งเป็นความผิดขั้นรองลงมาจากอาบัติสังฆาทิเสส เช่น ภิกษุชักสื่อให้ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ภิกษุชักสื่อบัณเฑาะก์ (กะเทย) ต้องอาบัติถุลลัจจัย ภิกษุนุ่งห่มหนังเสืออย่างเดียรถีย์ ต้องอาบัติถุลลัจจัย; ดู อาบัติ

ปาจิตตีย์

“การละเมิดอันยังกุศลให้ตก”, ชื่ออาบัติจำพวกหนึ่ง จัดไว้ในจำพวกอาบัติเบา (ลหุกาบัติ) พ้นได้ด้วยการแสดง; เป็นชื่อสิกขาบท ได้แก่นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐ และสุทธิกปาจิตตีย์ ซึ่งเรียกกันสั้นๆ ว่า ปาจิตตีย์ อีก ๙๒ ภิกษุล่วงละเมิดสิกขาบท ๑๒๒ ข้อเหล่านี้ย่อมต้องอาบัติปาจิตตีย์ เช่น ภิกษุพูดปด ฆ่าสัตว์ดิรัจฉาน ว่ายน้ำเล่น เป็นต้น ต้องอาบัติปาจิตตีย์; ดู อาบัติ

ปาฏิเทสนียะ

“จะพึงแสดงคืน”, อาบัติที่จะพึงแสดงคืน เป็นชื่อลหุกาบัติ คือ อาบัติเบาอย่างหนึ่งถัดรองมาจากปาจิตตีย์ และเป็นชื่อสิกขาบท ๔ ข้อซึ่งแปลได้ว่า พึงปรับด้วยอาบัติปาฏิเทสนียะเช่น ภิกษุรับของเคี้ยวของฉัน จากมือของภิกษุณีที่มิใช่ญาติ ด้วยมือของตน มาบริโภค ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ; ดู อาบัติ

ทุกกฏ

“ทำไม่ดี” ชื่ออาบัติเบาอย่างหนึ่ง เป็นความผิดถัดรองลงมาจากปาฏิเทสนียะ เช่น ภิกษุสวมเสื้อ สวมหมวก ใช้ผ้าโพกศีรษะ ต้องอาบัติทุกกฏ; ดู อาบัติ

ทุพภาสิต

“พูดไม่ดี” “คำชั่ว” “คำเสียหาย” ชื่ออาบัติเบาที่สุดที่เกี่ยวกับคำพูด เป็นความผิดในลำดับถัดรองจากทุกกฏเช่น ภิกษุพูดกับภิกษุที่มีกำเนิดเป็นจัณฑาล ว่าเป็นคนชาติจัณฑาล ถ้ามุ่งว่ากระทบให้อัปยศ ต้องอาบัติทุกกฏ แต่ถ้ามุ่งเพียงล้อเล่น ต้องอาบัติทุพภาสิต; ดู อาบัติ

อาบัติ

  น. โทษที่เกิดจากการล่วงละเมิดสิกขาบทหรือข้อห้ามแห่งภิกษุ มีโทษ ๓ สถาน คือ ๑. โทษสถานหนัก เรียกว่า ครุโทษ หรือ มหันตโทษ ทําให้ภิกษุผู้ต้องอาบัติขาดจากความเป็นภิกษุ ได้แก่ อาบัติปาราชิก ซึ่งเรียกว่า ครุกาบัติ ๒. โทษสถานกลาง เรียกว่า มัชฌิมโทษ ทําให้ภิกษุผู้ต้องอาบัติต้องอยู่กรรมก่อนจึงจะพ้นโทษ ได้แก่ อาบัติสังฆาทิเสส และ ๓. โทษสถานเบา เรียกว่า ลหุโทษ ทําให้ภิกษุผู้ต้องอาบัติที่ตํ่ากว่าอาบัติสังฆาทิเสสต้องปลงอาบัติ คือ บอกอาบัติของตนแก่ภิกษุด้วยกัน ได้แก่ อาบัติถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ และทุพภาษิต ซึ่งเรียกว่า ลหุกาบัติ. (ป., ส. อาปตฺติ).

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย