บาลีวันละคำ

คีตาญชลี (บาลีวันละคำ 4,215)

คีตาญชลี

การบูชาด้วยบทเพลง

อ่านว่า คี-ตาน-ชะ-ลี

แยกศัพท์เป็น คีต + อัญชลี 

(๑) “คีต” 

บาลีอ่านว่า คี-ตะ รากศัพท์มาจาก –

(1) เค (ธาตุ = ส่งเสียง) + อิ อาคม + ปัจจัย, ลบ เอ ที่ เค (เค > ), ทีฆะ (ยืดเสียง) อิ อาคมเป็น อี

: เค > + อิ = คิ + = คิต > คีต แปลตามศัพท์ว่า “เสียงที่พึงร้องออกมา” 

(2) คา (ธาตุ= ส่งเสียง) + อิ อาคม + ปัจจัย, ลบ อา ที่ คา (คา > ), ทีฆะ อิ อาคมเป็น อี

: คา > + อิ = คิ + = คิต > คีต แปลตามศัพท์ว่า “เสียงอันนักร้องเปล่งออกมา” 

คีต” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้:

(1) เป็นคำกริยา (past participle) หมายถึง ร้องเพลง, สวด, ท่อง, ประกาศ, ออกเสียง (sung, recited, solemnly proclaimed, enunciated)

(2) เป็นคำนาม หมายถึง ร้องเพลง, เพลงขับ (singing, a song)

คำที่อยู่ในชุดของ “คีต” คือ –

นจฺจ (นัจจะ) = การฟ้อน การรำ การเต้น (dancing)

คีต (คีตะ) = การขับ การร้อง การร้องเพลง (singing)

วาทิต (วาทิตะ) = การประโคม การบรรเลงเครื่องดนตรี (instrumental music)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

คีต, คีต-, คีตกะ, คีตะ : (คำแบบ) (คำนาม) เพลงขับ, การขับร้อง, เช่น แลคีตสําเนียงบรรสาน. (สมุทรโฆษ). (ป., ส.).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “คีต” เป็นทั้งบาลี (ป.) และสันสกฤต (ส.)

น่าแปลกที่ สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ที่ผู้เขียนบาลีวันละคำใช้เป็นคู่มือค้นคำสันสกฤต ไม่ได้เก็บคำว่า “คีต” แต่เก็บคำว่า “คีติ” ซึ่งมาจากรากศัพท์เดียวกันไว้ บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

คีติ : (คำนาม) เพลง, การขับร้อง; คำฉันท์อย่างหนึ่ง, รูปอารยามาตร์ (ในซึ่งโศฺลกมีสี่บันทัดๆ ละ ๑๒ และ ๑๘ พยางค์หรืออักษรมาตร์ตามลำดับ); song, singing; a kind of poetical metre, a form of the Āryā metre (in which the stanza consists of four lines of twelve and eighteen syllables or syllabic instants alternately).”

(๒) “อัญชลี” 

เขียนแบบบาลีเป็น “อญฺชลี” อ่านว่า อัน-ชะ-ลี ศัพท์นี้ในบาลีเป็น “อญฺชลิ” (-ลิ เสียงสั้น) ก็มี รากศัพท์มาจาก อญฺชฺ (ธาต = ประกาศ, เปิดเผย; ไป, เป็นไป) + อลิ ปัจจัย

: อญฺชฺ + อลิ = อญฺชลิ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “กิริยาเป็นเครื่องประกาศความภักดี” (2) “กิริยาที่ประกาศความแจ่มแจ้ง” (คือประกาศความฉลาด) (3) “กิริยาที่เป็นไปเพื่อเชื่อมประสานเป็นอันเดียวกัน

ที่เป็น “อญฺชลี” (-ลี เสียงยาว) เพราะลง อลี ปัจจัย 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อญฺชลิอญฺชลี” ว่า extending, stretching forth, gesture of lifting up the hands as a token of reverence, putting the ten fingers together and raising them to the head (การไหว้, ประคองอัญชลี, ยกมือขึ้นประนมซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการนับถือกัน, บรรจงสิบนิ้วรวมกันเข้าและยกขึ้นถึงศีรษะ)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “อญฺชลิ” บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

อญฺชลิ : (คำนาม) การไหว้ (ด้วยหัสต์ทั้งสองอันประณม); อุทกาญชลิหรือน้ำตรวจอุทิศให้แก่ปิตฤ; appropriate salutation (with both hands placed side by side and raised to the forehead); a libation to the manes.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อัญชลี : (คำนาม) การประนมมือ, การไหว้, บางทีใช้เป็น อัญชุลี หรือ ใช้ละว่า ชุลี ก็มี. (ป., ส. อญฺชลิ).”

คีต + อญฺชลิ = คีตญชลิ บาลีอ่านว่า คี-ตัน-ชะ-ลิ แปลงเป็นไทย > คีตาญชลี อ่านว่า คี-ตาน-ชะ-ลี แปลตามประสงค์ว่า “การบูชาด้วยบทเพลง

ขยายความ :

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ที่คำว่า “คีตาญชลี” (อ่านเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566 เวลา 20:30 น.) อธิบายไว้ดังนี้ –

…………..

คีตาญชลี (อังกฤษ: Gitanjali; เบงกอล: গীতাঞ্জলি) มีความหมายว่า “song offerings” หรือ “prayer offering of song” เป็นกวีนิพนธ์ภาษาอังกฤษ จำนวน 103 บท ของรพินทรนาถ ฐากุร ซึ่งแปลจากต้นฉบับภาษาเบงกอล ก่อนที่ท่านจะเดินทางมาประเทศอังกฤษในปี ค.ศ.1912 ต้นฉบับตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.1913 เขียนบทนำโดย ดับเบิลยู. บี. ยีตส์ และได้รับความนิยมอย่างสูง ทำให้ท่านได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปีนั้น (พ.ศ.2456) นับเป็นชาวเอเชียคนแรก และคนแรกที่ไม่ได้เป็นชาวยุโรป ที่ได้รับรางวัลโนเบล

คีตาญชลี ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยโดย กรุณา กุศลาศัย* ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ.2512

…………..

*ตามภาพปกหนังสือ และตามข้อเท็จจริง กรุณา กับ เรืองอุไร (ภรรยาของกรุณา) กุศลาศัย ร่วมกันแปล

…………..

เปิดใจ :

ที่นำคำว่า “คีตาญชลี” มาเขียนเป็นบาลีวันละคำ เนื่องจากผู้เขียนบาลีวันละคำกำลังค้นหาหนังสือ “คีตาญชลี” ที่เป็นไฟล์ PDF ได้ฉบับที่เป็นภาษาอังกฤษแล้ว กำลังหาฉบับที่แปลเป็นไทยที่อาจารย์กรุณา-เรืองอุไร กุศลาศัย เป็นผู้แปล 

ระหว่างค้น ไปพบคำแนะนำหนังสือเล่มนี้หลายแห่ง (และทุกแห่งต้องซื้อ!!) ทุกแห่งจะเอ่ยถึงคำว่า “คีตาญชลี” เหมือนกันหมด คือบอกว่า “คีตาญชลี เป็นภาษาสันสกฤต เกิดจากคำว่า คีต สนธิเข้ากับคำ อัญชลี เป็น คีตาญชลี” 

ผู้เขียนบาลีวันละคำรู้สึกกระทบใจคำว่า “คีตาญชลี เป็นภาษาสันสกฤต” ทั้งเมื่อบอกว่า “เกิดจากคำว่า คีต สนธิเข้ากับคำ อัญชลี” ก็เห็นชัดอยู่แล้วว่าทั้ง “คีต” และ “อัญชลี” เป็นภาษาบาลีด้วย

ทำไมไม่บอกว่า “คีตาญชลี เป็นภาษาบาลีสันสกฤต”

กรณีที่คำนั้นเป็นทั้งบาลีและสันสกฤต คำที่เราใช้เรียกอย่างเป็นทางการคือ “บาลีสันสกฤต” นั่นคือ ไม่ใช่ “บาลี” อย่างเดียว หรือ “สันสกฤต” อย่างเดียว แต่เป็นทั้งบาลีและสันสกฤต จึงเรียกควบกันว่า “บาลีสันสกฤต” 

เรื่องง่าย ๆ แค่นี้ หากแต่สำคัญมากในทางวิชาการ ถ้าเราสมัยนี้ไม่เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญอะไร อนาคตของภาษาไทยก็คงไม่เหลืออะไร

…………..

แถม :

คีตาญชลี” หรือ Gitanjali ฉบับภาษาอังกฤษ ตามไปดาวน์โหลดไฟล์ PDF ได้ที่ลิงก์ข้างล่างนี้

…………..

https://ia802608.us.archive.org/26/items/gitanjalisongoff00tagouoft/gitanjalisongoff00tagouoft.pdf

…………..

https://www.academicdestressor.com/wp-content/uploads/simple-file-list/Gitanjali.pdf

…………..

ญาติมิตรท่านใดมีหนังสือ “คีตาญชลี” ภาษาไทยที่เป็นไฟล์ PDF ฉบับที่อาจารย์กรุณา-เรืองอุไร กุศลาศัย เป็นผู้แปล ถ้าจะกรุณานำลิงก์หรือตัวไฟล์มาแปะไว้ให้ ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ทุกคนไหว้คนอื่นได้ทันที

ไม่ต้องรอพิสูจน์ทฤษฎีว่าเขาเป็นบัณฑิตหรือคนเขลา

: แต่จะให้คนอื่นไหว้เรา 

เราควรไหว้ตัวเองได้ก่อน

#บาลีวันละคำ (4,215)

27-12-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *