บาลีวันละคำ

อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ (บาลีวันละคำ 2,149)

อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ

เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี

อ่านว่า อิ-มัด-สฺมิง สะ-ติ อิ-ทัง โห-ติ

เป็นคำบาลี 2 ประโยค คือ –

(๑) “อิมสฺมึ สติ” ประโยคหนึ่ง

(๒) “อิทํ โหติ” ประโยคหนึ่ง

(๑) “อิมสฺมึ สติ

(1) “อิมสฺมึ” เป็นวิเสสนสัพพนาม รูปคำเดิมคือ “อิม” (อิ-มะ) แปลว่า “นี้” (this) แจกด้วยวิภัตตินามที่เจ็ด (สัตตมีวิภัตติ) เอกพจน์ นปุงสกลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “อิมสฺมึ

วิภัตตินามที่เจ็ดมีคำนำหน้าคำแปล (ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อายตนิบาต”) ในภาษาไทยว่า “ใน-, ใกล้-, ที่-, ครั้นเมื่อ-, ในเพราะ-”

เช่นในที่นี้ “อิม” (ที่เปลี่ยนรูปเป็น อิมสฺมึ) แปลว่า “นี้” “อิมสฺมึ” ก็ต้องแปลว่า ใน-นี้, ใกล้-นี้, ที่-นี้, ครั้นเมื่อ-นี้, ในเพราะ-นี้ (เลือกคำใดคำหนึ่งที่จะเหมาะแก่ความหมายในประโยคนั้น)

เนื่องจาก “อิม” (ที่เปลี่ยนรูปเป็น อิมสฺมึ) แปลเฉพาะตัวว่า “นี้” ยังไม่รู้ว่า “นี้” คืออะไร จึงต้องเติมคำนามเข้ามาเพื่อบ่งชี้

ในที่นี้เติมคำว่า “สิ่ง” เข้ามา “อิม” จึงแปลว่า “(สิ่ง) นี้

เมื่อจะแปล “อิมสฺมึ” ให้เลือกคำนำหน้าคำแปล (อายตนิบาต) ที่เหมาะแก่ความหมายในประโยคมาคำหนึ่ง ในที่นี้เลือกคำว่า “ครั้นเมื่อ-”

อิมสฺมึ” จึงแปลว่า “ครั้นเมื่อ (สิ่ง) นี้

(2) “สติ” เป็นคำกริยาประเภท “กิริยากิตก์” รากศัพท์มาจาก อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) + อนฺต ปัจจัย, ลบต้นธาตุ (อสฺ > )

: อสฺ + อนฺต = อสนฺต > สนฺต แปลตามศัพท์ว่า “มีอยู่

สนฺต” แจกด้วยวิภัตตินามที่เจ็ด (สัตตมีวิภัตติ) เอกพจน์ [ตาม “อิมสฺมึ” ในข้อ (1)] เปลี่ยนรูปเป็น “สติ

โปรดสังเกตและโปรดทราบ:

๑ การเปลี่ยนรูปดังกล่าวนี้เป็นไปตามกฎทางไวยากรณ์ ไม่ใช่ว่าเอาเองตามใจนึก

๒ คำว่า “สติ” ในที่นี้เป็นคนละคำกับ “สติ” ที่แปลว่า “ความระลึกได้” ที่รู้ได้ว่าเป็นคนละคำ ก็เพราะกฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์บ่งบังคับ

เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นคำว่า “สติ” ในที่บางแห่งก็ไม่พึงเข้าใจว่าต้องแปลว่า “ความระลึกได้” เสมอไป

อิมสฺมึ สติ” แปลทั้งประโยคว่า “ครั้นเมื่อ (สิ่ง) นี้มีอยู่

(๒) “อิทํ โหติ

(1) “อิทํ” เป็นวิเสสนสัพพนาม รูปคำเดิมคือ “อิม” (อิ-มะ) คำเดียวกับ “อิมสฺมึ” นั่นเอง แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ นปุงสกลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “อิทํ

วิภัตตินามที่หนึ่ง นิยมใช้คำนำหน้าคำแปล (อายตนิบาต) ในภาษาไทยว่า “อันว่า

อิทํ” จึงแปลว่า “อันว่า (สิ่ง) นี้

(2) “โหติ” เป็นคำกริยาประเภท “กิริยาอาขยาต” รากศัพท์มาจาก หุ (ธาตุ = มี, เป็น) + ปัจจัย + ติ วิภัตติอาขยาต ปัจจุบันกาล, แผลง อุ ที่ หุ เป็น โอ (หุ > โห), ลบ ปัจจัย

: หุ + + ติ = หุติ > โหติ แปลตามศัพท์ว่า “ย่อมมี” หรือ “ย่อมเป็น

อิทํ โหติ” แปลทั้งประโยคว่า “(สิ่ง) นี้ย่อมมี

อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ” แปลรวมทั้ง 2 ประโยคว่า “ครั้นเมื่อ (สิ่ง) นี้มีอยู่ (สิ่ง) นี้ก็ย่อมมี” หรือแปลสกัดความว่า “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี

อภิปราย :

คำบาลีที่นำมาเสนอนี้เป็นการแสดงหลักธรรมอันเป็นกฎที่เรียกว่า “อิทัปปัจจยตา” หรือ “ปฏิจจสมุปบาท” มีปรากฏในพระไตรปิฎกหลายแห่ง เช่น มหาตัณหาสังขยสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ พระไตรปิฎกเล่ม 12 ข้อ 448 เป็นต้น

ข้อความเต็มส่วนหนึ่งว่าดังนี้ –

…………..

อหมฺปิ  เอวํ  วทามิ  อิมสฺมึ  สติ  อิทํ  โหติ  อิมสฺสุปฺปาทา  อิทํ  อุปฺปชฺชติ  …

แปลว่า –

แม้เราตถาคตก็กล่าวอย่างนี้ว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น …

…………..

เจ้าสำนักบางแห่งแปลพระพุทธพจน์บทนี้สั้นๆ ว่า “นี้มี นี้มี” และบอกว่าที่แปลกันว่า “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี” ใส่ “เมื่อ” ใส่ “จึง” เข้าไป นั้นเป็นบริบท ที่เสริมแต่งเข้ามาให้ไพเราะเท่านั้น

ฟังผ่านๆ จะเห็นว่าน่าเชื่อ เพราะในภาษาไทย คำว่า “นี้มี นี้มี” อาจนึกขยายความเอาเองได้

แต่ถ้าถามว่า ถ้าในภาษาไทยแปลเหมือนกันว่า “นี้มี นี้มี” เป็นการถูกต้อง ทำไมภาษาบาลีจึงเป็น “อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ

ทำไมภาษาบาลีจึงไม่เป็น “อิมสฺมึ สติ” ทั้ง 2 ประโยค

คือเป็น “อิมสฺมึ สติ อิมสฺมึ สติ” (“นี้มี นี้มี”)

หรือทำไมจึงไม่เป็น “อิทํ โหติ” ทั้ง 2 ประโยค

คือเป็น “อิทํ โหติ อิทํ โหติ” (“นี้มี นี้มี”)

แต่ทำไมจึงเป็น “อิมสฺมึ สติ” ประโยคหนึ่ง และ “อิทํ โหติ” อีกประโยคหนึ่ง

การใช้รูปประโยคแตกต่างกันเช่นนี้ ผู้แปลว่า “นี้มี นี้มี” จะอธิบายเหตุผลว่ากระไร

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ไม่รู้ไม่ชี้ ก็ดีไป

: ไม่รู้ชอบชี้ จะดีได้อย่างไร

—————

ลิงก์คำบรรยาย อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ = “นี้มี นี้มี

https://www.youtube.com/watch?v=pxASGH6eOlI

โดยความเอื้อเฟื้อของ ดร.ณัฐนันท์ สุดประเสริฐ

#บาลีวันละคำ (2,149)

1-5-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *