ภาวะฉุกเฉิน (บาลีวันละคำ 2,842)
ภาวะฉุกเฉิน
บาลีว่าอย่างไร
“ภาวะฉุกเฉิน” เป็นคำบัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า emergency
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล emergency เป็นบาลีดังนี้:
(1) accāyika อจฺจายิก (อัด-จา-ยิ-กะ) = เรื่องเร่งด่วน, เหตุเร่งร้อน
(2) āpadā อาปทา (อา-ปะ-ทา) = อันตราย, ฉุกเฉิน
(๑) “อจฺจายิก” (อัด-จา-ยิ-กะ) รูปคำเดิมคือ อจฺจย + ณิก ปัจจัย
(ก) “อจฺจย” (อัด-จะ-ยะ) แปลตามศัพท์ว่า (1) “การล่วงลับไป” (2) “อาการที่ละเมิดเหยียบย่ำมรรยาทที่ดีเป็นไป” ใช้ในความหมายด้งนี้ –
(1) ความล่วงไปหรือผ่านไป; ความสิ้นสุด, ความสุดสิ้น, ความตาย (lapse, passing; passing away, end, death)
(2) ผ่านไปหรือเลยไป, ล่วงเลยไป, ชนะ (passing or getting over, overcoming, conquering)
(3) การออกนอก (แบบอย่าง), อาบัติ, การล่วงละเมิด (going beyond [the norm], transgression, offence)
(ข) อจฺจย + ณิก ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ (อจฺ)-จ-(ย) เป็น อา (อจฺจย > อจฺจาย)
: อจฺจย + ณิก = อจฺจยณิก > อจฺจยิก > อจฺจายิก แปลว่า “ประกอบด้วยกาลเวลาที่ล่วงไป” ใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ผิดธรรมดา, วิสามัญ (irregular, extraordinary)
(2) เร่งด่วน, ประกอบด้วยความรีบเร่ง (urgent, pressing)
“อจฺจายิก” ไม่มีใช้ในภาษาไทยทั่วไป มีแต่ในสำนวนเทศนา เช่น “ครั้นจะพรรณนาให้เนิ่นนานไป เวลาก็เป็นอัจจายิกสมัยใกล้จะถึงกำหนด”
“อัจจายิกสมัย” หมายถึง เวลากระชั้นเร่งเข้ามา จะมัวโอ้เอ้อยู่มิได้
(๒) “อาปทา” (อา-ปะ-ทา) แปลตามศัพท์ว่า “กิริยาที่บีบคั้น” หมายถึง อุบัติเหตุ, โชคร้าย, เคราะห์ร้าย, ความทุกข์ (accident, misfortune, distress)
คำว่า “อาปทา” ก็ยังไม่มีใช้ในภาษาไทย
นอกจากนี้ยังมีคำที่มีความหมายตรงกับ emergency อีก 2 คำ คือ “วิกฤติ” และ “อุกฤษฏ์”
(๓) “วิกฤติ” บาลีเป็น “วิกติ” (วิ-กะ-ติ) แปลตามศัพท์ว่า “การทำให้แปลกไปเป็นอย่างอื่น” หมายถึง การเปลี่ยนแปลง, การแปรไป, การผันแปรไปจากปกติ
“วิกติ” ในบาลีใช้ในความหมายอย่างอื่นด้วย คือ –
(1) ประเภท, ชนิด (sort, kind)
(2) ผลิตผล, การกระทำ, ภาชนะ (product, make; vessel)
(3) การจัดแจง, การจัดเป็นพวกๆ, การจัดเป็นชนิดๆ; รูปร่าง, ทรวดทรง (arrangement, get up, assortment; form, shape)
“วิกติ” ในบาลีถ้าเป็นคุณศัพท์ เปลี่ยนรูปเป็น “วิกต” (วิ-กะ-ตะ) แปลว่า ที่เปลี่ยนแปลง, ที่ผันแปร (changed, altered)
ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤต เป็น “วิกฤต” (ต ไม่มีสระ อิ) และ “วิกฤติ” (ต มีสระ อิ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิกฤต, วิกฤต-, วิกฤติ, วิกฤติ– : (คำวิเศษณ์) อยู่ในขั้นล่อแหลมต่ออันตราย เช่น การเมืองอยู่ในขั้นวิกฤติ, มักใช้แก่เวลาหรือเหตุการณ์ เป็น วิกฤติกาล หรือ วิกฤติการณ์, อยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ เช่น มุมวิกฤติ จุดวิกฤติ. (ส.; ป. วิกต, วิกติ).”
(๔) “อุกฤษฏ์” บาลีเป็น “อุกฺกฏฺฐ” (อุก-กัด-ถะ) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ภาวะที่เข้าไปเบียดเบียน” (2) “ภาวะที่ทรงไว้ซึ่งความดีเลิศ” ใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) อุกฤษฏ์, สูง, เด่น, วิเศษ, เลอเลิศ (exalted, high, prominent, glorious, excellent)
(2) ใหญ่, กว้างขวาง, ยิ่งใหญ่ (large, comprehensive, great)
(3) ละเอียด, พิสดาร, ยวดยิ่ง (detailed, exhaustive, specialized)
(4) ยโส, โอหัง (arrogant, insolent)
(5) การรบ, การต่อสู้กัน (battle, conflict)
“อุกฺกฏฺฐ” ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “อุกฤษฏ์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อุกฤษฏ์ : (คำวิเศษณ์) สูงสุด. (ส. อุตฺกฺฤษฺฏ; ป. อุกฺกฏฺฐ).”
“อุกฤษฏ์” ในภาษาไทยมีความหมายตามนัยแห่งข้อ (1) ถึง (4)
แต่ในที่นี้ “อุกฤษฏ์” มีความหมายตามนัยแห่งข้อ (5) กล่าวคือเมื่อมีการต่อสู้หรือการรบ นั่นย่อมหมายถึงมีเหตุฉุกเฉินหรือเหตุคับขัน
…………..
สรุปว่า ในภาษาบาลีมีคำที่มีความหมายตรงกับ “ภาวะฉุกเฉิน” (emergency) อย่างน้อย 4 คำ คือ อจฺจายิก, อาปทา, วิกติ และ อุกฺกฺฏฺฐ
คำว่า “ภาวะฉุกเฉิน” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –
“ภาวะฉุกเฉิน : (คำนาม) ภาวะอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงหรือความปลอดภัยแห่งราชอาณาจักร หรืออันอาจทำให้ประเทศตกอยู่ในภาวะคับขันหรือภาวการณ์รบหรือการสงคราม.”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คราวคับขัน นึกถึงคนกล้า
: คราวปรึกษา นึกถึงคนไม่พูดพล่าม
: คราวได้ข้าวน้ำ นึกถึงคนรัก
: คราวเกิดเรื่องหนักๆ จึงค่อยนึกถึงบัณฑิต
#บาลีวันละคำ (2,842)
24-3-63