บาลีวันละคำ

ภะวะตุ สัพ (บาลีวันละคำ 2,847)

ภะวะตุ สัพ

คำเรียกขานของชาววัด

อ่านว่า พะ-วะ-ตุ-สับ

คำว่า “ภะวะตุ สัพ” เป็นคำที่ชาววัดเรียกขานบทสวดมนต์บทหนึ่ง ที่มีคำขึ้นต้นว่า “ภวตุ สพฺพมงฺคลํ” (ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง) เป็นบทสุดท้ายในจำนวนบทสวดต่างๆ ที่พระสงฆ์นำมาสวดในการเจริญพระพุทธมนต์หรือในพิธีอนุโมทนา

พอขึ้นบท “ภะวะตุ สัพ” ชาวบ้านที่คุ้นกับการฟังพระสวดมนต์ก็จะรู้ว่าการสวดมนต์หรือการอนุโมทนากำลังจะจบ คือพอจบบท “ภะวะตุ สัพ” ที่ลงท้ายว่า “ภะวันตุ เต” ก็เป็นอันจบ (มีบางกรณีที่พระจะขึ้นบท “นักขัตตะยักขะภูตานัง” ต่อจากบท “ภะวะตุ สัพ” เป็นการปิดท้ายอีกทีหนึ่ง)

คำว่า “ภะวะตุ สัพ” เป็นการเรียกแบบตัดคำ คำว่า “- สัพ” ไม่ใช่คำสมบูรณ์ เพราะตัดมาจากคำเต็มว่า “สพฺพมงฺคลํ” (สัพพะมังคะลัง)

 กล่าวอีกนัยหนึ่ง คำว่า “สพฺพมงฺคลํ” ตัดมาเฉพาะคำว่า “- สัพ” คำเดียว

บท “ภะวะตุ สัพ” นี้มีคำเรียกชื่อว่า “สัพพมงคลคาถา” หรือ “มังคลโสตถิคาถา” ข้อความเต็มๆ มีดังนี้ –

(บทแรกเขียนแบบคำอ่าน อีก 2 บทเขียนแบบบาลีให้ลองฝึกอ่านโดยใช้บทแรกเป็นแนว)

…………..

ภะวะตุ  สัพพะมังคะลัง

รักขันตุ  สัพพะเทวะตา

สัพพะพุทธานุภาเวนะ

สะทา  โสตถี  ภะวันตุ  เต.

ภวตุ  สพฺพมงฺคลํ

รกฺขนฺตุ  สพฺพเทวตา

สพฺพธมฺมานุภาเวน

สทา  โสตฺถี  ภวนฺตุ  เต.

ภวตุ  สพฺพมงฺคลํ

รกฺขนฺตุ  สพฺพเทวตา

สพฺพสงฺฆานุภาเวน

สทา  โสตฺถี  ภวนฺตุ  เต.

…………..

คำบาลีพร้อมทั้งคำแปล :

ภวตุ  สพฺพมงฺคลํ

ขอสรรพมงคลจงมีแก่ท่าน

รกฺขนฺตุ  สพฺพเทวตา

ขอเหล่าเทวดาทั้งปวงจงรักษาท่าน

สพฺพพุทฺธานุภาเวน

ด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้าทั้งปวง

…………………….

…………………….

สพฺพธมฺมานุภาเวน

ด้วยอานุภาพแห่งพระธรรมทั้งปวง

…………………….

…………………….

สพฺพสงฺฆานุภาเวน

ด้วยอานุภาพแห่งพระสงฆ์ทั้งปวง

สทา  โสตฺถี  ภวนฺตุ  เต.

ขอความสวัสดีทั้งหลายจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ (เทอญ).

แถม :

ขอแถมคำที่ชาววัดเรียกชื่อบทสวดต่างๆ พอเป็นเครื่องประดับความรู้ (เรียงตามที่นึกได้ ไม่ครบทุกบท)

สัมพุทเธ = ยังไม่พบคำที่เป็นชื่อโดยเฉพาะ คงเรียกกันว่า บท “สัมพุทเธ”

แต่เมื่อพิจารณาเทียบกับบท “โย จักขุมา” ที่เรียกชื่อว่า “นมการสิทธิคาถา” ซึ่งเป็นบทที่แต่งใหม่เพื่อแทนบท “สัมพุทเธ” บท “สัมพุทเธ” ก็น่าจะเรียกว่า “นมการสิทธิคาถา” เช่นกัน และเพื่อให้ต่างกัน บท “สัมพุทเธ” น่าจะเรียกว่า “นมการสิทธิคาถาเก่า” บท “โย จักขุมา” เรียกว่า “นมการสิทธิคาถาใหม่”

เสนอเป็นลำลองเท่านั้น ไม่พึงถือเป็นจริงจัง

โย จักขุมา = นมการสิทธิคาถา

พาหุง = พุทธชัยมงคลคาถา, ชยมังคลัฏฐกคาถา, คาถาพาหุง

มะหากา (ตัดมาจากคำเต็มว่า “มะหาการุณิโก”) = ชยปริตตคาถา, ชยปริตร

ยะถา(-สัพพี) = อนุโมทนารัมภคาถา

๖ (ยะถา-)สัพพี = สามัญญานุโมทนาคาถา

สัพพะโร (ตัดมาจากคำเต็มว่า “สัพพะโรคะวินิมุตโต”) = เป็นท่อนสุดท้ายของอาฏานาฏิยปริตร

นะโมแปดบท = นโมการัฏฐกคาถา

ยันทุน (ตัดมาจากคำเต็มว่า “ยันทุนนิมิตตัง”) = เป็นปกิรณกคาถาสำหรับสวดต่อท้ายเจ็ดตำนาน ยังไม่พบชื่อเรียกโดยเฉพาะ

๑๐ อุเทตะยัญ (คำเดิม “อุเทตยํ” สนธิกับคำว่า “จกฺขุมา” เป็น “อุเทตยญฺจกฺขุมา ตัดมาเฉพาะ “อุเทตยญฺ”) = โมรปริตร

๑๑ วิรูปักเข = ขันธปริตร

๑๒ ยานี = รัตนสูตร

๑๓ วิปัสสิส (ตัดมาจากคำเต็มว่า “วิปัสสิสสะ นะมัตถุ”) = อาฏานาฏิยปริตร

๑๔ ยะโตหัง = อังคุลิมาลปริตร

๑๕ ธัมมะจัก = ธัมมจักกัปปวัตนสูตร

๑๖ อาทิต (มักเพี้ยนเป็น อะทิต) = อาทิตตปริยายสูตร

๑๗ อะนัต = อนัตตลักขณสูตร

๑๘ กะระณี = กรณียเมตตสูตร

๑๙ กาเล = กาลทานสุตตคาถา

๒๐ อายุโท = โภชนานุโมทนาคาถา

๒๑ อัคคะโต เว = อัคคัปปสาทสุตตคาถา

๒๒ อะทาสิ เม = ติโรกุฑฑกัณฑคาถา (สำหรับอนุโมทนาในงานศพ)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: บันไดขั้นสูงสุดเริ่มต้นที่บันไดขั้นต่ำสุด

: ผู้หยุดแค่บันไดขั้นต้น ไม่ก้าวต่อไป

นับว่าเป็นคนขลาดเพียงไร

: ผู้หวังกระโดดทีเดียวขึ้นเหยียบบันไดขั้นสูงสุด

ก็นับว่าเป็นคนเขลาเพียงนั้น

#บาลีวันละคำ (2,847)

29-3-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย