บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เห็นกับตา

เห็นกับตา

———-

เวลามีคนมาบอกเล่า หรือแม้ได้รับข้อมูลจากสื่อ ว่าผู้นั้นทำอย่างนั้นอย่างนี้ คนส่วนมากมักจะเกิดความรู้สึกชอบหรือชังผู้ที่ถูกกล่าวถึงนั้นในทันทีทันใดโดยไม่ทันได้เฉลียวใจคิดว่าเรื่องจริงๆ เป็นอย่างไร และเรารู้เรื่องจริงแล้วหรือ

เคยมีใครเตือนสติกันบ้างว่า อย่าพิพากษาใครก่อนที่จะได้ฟังคำให้การของเขา 

ถ้าเป็นคนที่เรารู้จักและยังพบปะเจอะเจอกันเสมอ และเราปรารถนาดีต่อเขาอย่างจริงใจ ก็จงใช้ความกล้าหาญถามเขาดูตรงๆ ว่าเรื่องที่มีคนพูดกันนั้น จริงๆ แล้วมันเป็นยังไงกันแน่ เราก็จะได้ฟัง “คำให้การของจำเลย” โดยตรงจากปากของผู้ที่เป็นต้นเรื่องต้นเหตุ 

แต่ถ้าหากเป็นคนที่เราไม่รู้จัก หรือไม่อยู่ในฐานะที่จะเข้าไปสอบถามโดยตรงได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม วิธีที่ดีที่สุดคือ จงวางเรื่องนั้นเสีย

แต่ถ้าเป็นเรื่องที่วางไม่ได้ หรือเป็นด้วยอยากรู้อยากเห็น อยากจะคิดจะทำอะไรต่อไปอีก ตามวิสัยคนใจไม่อยู่สุข วิธีที่ถูกต้องก็คือ สืบสวน สืบเสาะ ค้นหา ตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งปวงให้ถึงที่สุดเสียก่อน

ต่อจากนั้นก็ใช้วิจารณญาณไตร่ตรองชั่งน้ำหนักเอาเองว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ

แล้วต่อจากนั้นจึงค่อยชอบหรือชังตามเหตุอันควรแก่ผล

สิ่งที่ควรเว้นอย่างที่สุดก็คือ อย่าเที่ยวเอาเรื่องนั้นไปวิพากษ์วิจารณ์กับใครๆ ต่อไปอีก เพราะจะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย นอกจากสนองความมันในอารมณ์ ซึ่งอันที่จริงแล้วก็คือท่านกำลังประพฤติสิ่งที่เขาเรียกกันมาแต่ไหนแต่ไรว่า “ปากบอน” นั่นเอง

ท่านย่อมว่า “สิ่งที่ท่านเห็น อาจไม่ได้เป็นอย่างที่ท่านคิด

เชิญสดับเรื่องราวต่อไปนี้เป็นอุทาหรณ์

—————–

เมื่อครั้งพระศาสนาของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ (ก่อนหน้าพระพุทธเจ้าของเรา) ภิกษุ ๒ รูปเป็นสหายกัน มีน้ำใจสนิทสนมกลมเกลียวกันดุจดังพี่น้องคลานตามกันมา 

ในยุคแห่งพระพุทธเจ้าที่มีพระชนมายุยืนนาน (พระกัสสปพุทธเจ้ามีพระชนมายุสองหมื่นปี!) ภิกษุทั้งหลายย่อมประชุมกันทำอุโบสถสังฆกรรม (คือประชุมฟังพระปาติโมกข์) ปีละครั้ง หรือบางทีก็ ๖ เดือนครั้งหนึ่ง (พระศาสนาในปัจจุบันพระสงฆ์ประชุมฟังพระปาติโมกข์ทุกกึ่งเดือน) 

คราวหนึ่ง ถึงวันกำหนดทำอุโบสถสังฆกรรม ภิกษุทั้งสองรูปนั้นก็ออกจากที่อยู่เดินทางไปยังโรงอุโบสถส่วนกลางที่สงฆ์นัดหมายกัน 

ระหว่างทางผ่านป่าละเมาะแห่งหนึ่ง บังเอิญว่าภิกษุรูปหนึ่งเกิดปวดอุจจาระ จึงบอกให้อีกรูปหนึ่งคอยก่อน ตนขอเวลาไปทำธุระสักครู่ แล้วก็เดินเข้าไปหลังพุ่มไม้ซึ่งอยู่ห่างออกไปพอสมควร

ยังมีภุมเทวดาตนหนึ่ง เป็นเทวดาเกเร เห็นภิกษุทั้งสองรักใคร่กลมเกลียวกันเหลือเกินก็นึกพิเรนทร์ขึ้นมาว่า นี่ถ้าทำให้พระสองรูปนี้แตกคอกันได้ก็คงจะสนุกดี คิดหาช่องอยู่นาน จังหวะที่ภิกษุรูปนั้นเข้าไปทำธุระหลังพุ่มไม้นั่นเอง เทวดาก็คิดแผนสกปรกได้ 

เมื่อภิกษุรูปนั้นเสร็จธุระแล้วออกมาจากพุ่มไม้ เป็นเวลาเดียวกับที่เพื่อนภิกษุกำลังมองอยู่นั้นเอง เทวดาเกเรก็เนรมิตเพศเป็นหญิงสาวคนหนึ่งปรากฏตัวออกมาจากพุ่มไม้ เอามือข้างหนึ่งเกล้ามวยผม ข้างหนึ่งจัดผ้านุ่ง เดินตามออกมาข้างหลัง

กิริยาอาการเช่นนั้น ใครเห็นก็เดาออกว่าเมื่อสักพักใหญ่มานี้ที่หลังพุ่มไม้มีอะไรเกิดขึ้น

ภิกษุรูปที่ออกมาจากหลังพุ่มไม้ไม่เห็นรูปหญิงเนรมิต แต่ภิกษุรูปที่ยืนคอยอยู่เห็นเต็มตาว่ามีผู้หญิงทำกิริยาอย่างนั้นเดินตามออกมา 

เทวดาพิเรนทร์เห็นว่าสมคะเนแล้วก็หายตัวไป

เมื่อภิกษุรูปที่เข้าไปหลังพุ่มไม้เดินมาถึง ภิกษุรูปที่คอยอยู่ได้พูดขึ้นว่า “ศีลของท่านไม่เหลือแล้ว เมื่อกี้ท่านทำอะไรกับผู้หญิงนั่น”

“ผมเข้าไปถาน ผมไม่ได้ทำอะไรกับใคร ผู้หญิงที่ไหน”

“หญิงรุ่นสาวเดินตามออกมาข้างหลังท่านเมื่อกี้นี้เอง ท่านทำอย่างนี้ให้ผมเห็น แล้วยังพูดปฏิเสธได้ว่าไม่ได้ทำอะไร”

สำนวนในคัมภีร์บรรยายว่า ภิกษุนั้นปานประหนึ่งถูกสายฟ้าฟาดลงที่กระหม่อม 

อีกสำนวนหนึ่งว่า ราวกับถูกคมหอกเสียบแทงทะลุหัวใจ 

“ได้โปรดอย่าทำร้ายผมเลย การกระทำแบบนั้นของผมไม่มีจริงๆ”

“จะให้ผมเชื่อหรือ ผมไม่มีวันเชื่อหรอก ก็ผมเห็นกับตา”

“ผมเห็นกับตา” พูดเป็นคำบาลีว่า “มยา  สามํ  อกฺขีหิ  ทิฏฺฐํ”

ไมตรีจิตมิตรภาพที่เคยมีมาก็พลันขาดสะบั้นลง 

ไปโบสถ์เดียวกันก็จริง แต่ไม่ไปทางเดียวกันอีกต่อไป

เมื่อถึงที่ทำสังฆกรรมแล้ว ภิกษุรูปที่ยืนยันว่า “ผมเห็นกับตา” ก็นั่งหน้าเครียด ประกาศว่าจะไม่ยอมร่วมสังฆกรรมกับภิกษุรูปนั้นเด็ดขาด 

ภิกษุผู้ถูกกล่าวหาก็ยืนยันแก่ภิกษุทั้งหลายว่า “จุดด่างดำแม้เท่าเมล็ดงาย่อมไม่มีในศีลของผม”

ภิกษุรูปที่เห็นเหตุการณ์ก็กล่าวยันว่า “กรรมชั่วนั้นผมเห็นมากับตาตัวเอง” 

เรื่องทำท่าจะลุกลามไปกันใหญ่ ดีไม่ดีสงฆ์อาจจะแตกกันก็คราวนี้

ฝ่ายเทวดาเกเรเห็นเหตุการณ์กำลังจะลุกลามไปใหญ่โต ก็สำนึกได้ว่า “เราทำกรรมหนักเสียแล้ว” จึงมาปรากฏตัวชี้แจงว่า

“ความทำลายแห่งศีลของพระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้าย่อมไม่มี แต่ข้าพเจ้าเป็นผู้ทำกรรมชั่วนั้นเองเพียงเพื่อจะลองใจดูเท่านั้น ขอท่านจงทำอุโบสถร่วมกับพระผู้เป็นเจ้านั้นเถิด”

ภิกษุรูปที่เห็นเหตุการณ์ เมื่อเห็นเทวดามาลอยอยู่ในอากาศชี้แจงอยู่เช่นนั้นก็เข้าใจความเป็นจริง จึงได้ยอมทำอุโบสถร่วมกัน แต่ธรรมดาแก้วร้าวแล้วสมานอย่างไรเนื้อแก้วก็ไม่ติดสนิทกันเหมือนเดิม 

เมื่อสิ้นอายุ ภิกษุทั้งสองรูปได้ไปเกิดในเทวโลกด้วยอานิสงส์ที่ตั้งจิตประพฤติพรหมจรรย์

ฝ่ายเทวดาเกเรไปเกิดในอเวจี หมกไหม้อยู่ในอเวจีนั้นสิ้นพุทธันดรหนึ่ง คือตลอดอายุพระศาสนาพระกัสสปพุทธเจ้า ตลอดมาจนโลกว่างจากพระศาสนา จนกระทั่งพระพุทธเจ้าของเราเสด็จอุบัติขึ้น 

เทวดาเกเรใช้กรรมหมดแล้วก็มาเกิดเป็นบุตรพราหมณ์ในพระนครสาวัตถี มีชื่อว่า “โกณฑธานะ” เรียนจบไตรเพทตามลัทธิพราหมณ์ 

ต่อมา เมื่อสูงอายุแล้วได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า เกิดความเลื่อมใสจึงบวชในพระพุทธศาสนา 

ตั้งแต่นั้นมาก็มีรูปหญิงคนหนึ่งติดตามตัวตลอดเวลาจนกระทั่งได้บรรลุพระอรหัต รูปนั้นจึงหายไป 

ท่านได้รับยกย่องจากพระศาสดาว่าเป็นเอตทัคคะในการ “ถือเอาสลากเป็นปฐม” หมายความว่า เมื่อจะต้องใช้วิธีจับสลากคัดเลือกพระสงฆ์ไปในกิจนิมนต์ใดๆ ท่านจะจับสลากได้ไปเป็นรูปแรกเสมอ 

……..

ที่มา: 

ประวัติพระโกณฑธานเถระมีในคัมภีร์หลายเล่ม กล่าวคือ

– ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๕ 

– มโนรถปูรณี ภาค ๑ อรรถกถาอังคุตรนิกาย

– ปรมัตถทีปนี ภาค ๑ อรรถกถาเถรคาถา 

– วิสุทธชนวิลาสินี ภาค ๒ อรรถกถาอปทาน 

—————–

เพราะฉะนั้น ท่านจึงว่า “สิ่งที่ท่านเห็น อาจไม่ได้เป็นอย่างที่ท่านคิด

อย่าด่วนตัดสินว่าใครถูกใครผิด-จนกว่าจะประจักษ์แก่ใจ

อย่าว่าแต่ตาคนอื่นเห็นเลย 

เห็นกับตาตัวเองแท้ๆ ก็ยังผิดได้

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๙ มีนาคม ๒๕๖๓

๑๑:๔๘

————-

กุณฑธานะ พระเถระผู้เป็นมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นบุตรพราหมณ์ในพระนครสาวัตถี เรียนจบไตรเพทตามลัทธิพราหมณ์ ต่อมา เมื่อสูงอายุแล้วได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า เกิดความเลื่อมใสจึงบวชในพระพุทธศาสนา ตั้งแต่นั้นมาก็มีรูปหญิงคนหนึ่งติดตามตัวตลอดเวลาจนกระทั่งได้บรรลุพระอรหัต รูปนั้นจึงหายไป ท่านได้รับยกย่องจากพระศาสดาว่าเป็นเอตทัคคะในการถือเอาสลากเป็นปฐม; โกณฑธานะ ก็ว่า

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *