เนติบริกร (บาลีวันละคำ 1,909)
เนติบริกร
รับบริการทุกรัฐบาล
อ่านว่า เน-ติ-บอ-ริ-กอน
ประกอบด้วยคำว่า เนติ + บริกร
(๑) “เนติ”
บาลีเป็น “นีติ” (นี-ติ, โปรดสังเกตว่า บาลีเป็น นี- ไม่ใช่ นิ-) รากศัพท์มาจาก นี (ธาตุ = บรรลุ, ถึง) + ติ ปัจจัย
: นี + ติ = นีติ แปลตามศัพท์ว่า “ข้อบัญญัติเป็นเครื่องบรรลุ” “เครื่องนำไปให้บรรลุ” หมายถึง กฎหมาย, กฎ, แบบแผน
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “นีติ” ว่า guidance, practice, conduct, right conduct, propriety; statesmanship, polity (การนำทาง, การปฏิบัติ, ความประพฤติ, ความประพฤติที่ถูกต้อง, การทำที่เหมาะที่ควร; การใช้วิธีปกครอง, การปกครองประชาชน)
โปรดสังเกตว่า ฝรั่งไม่ได้แปล นีติ ว่า law
บาลี “นีติ” ภาษาไทยใช้เป็น “นิติ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นิติ : (คำนาม) นีติ, กฎหมาย, กฎปฏิบัติ, แบบแผน, เยี่ยงอย่าง, ขนบธรรมเนียม, ประเพณี, วิธีปกครอง, เครื่องแนะนํา, อุบายอันดี. (ป., ส. นีติ).”
“นีติ” แผลง อี ที่ นี-(ติ) เป็น เอ จึงเป็น “เนติ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เนติ : (คำนาม) (คำแบบ) นิติ, แบบแผน, เยี่ยงอย่าง, ขนบธรรมเนียม, ประเพณี, กฎหมาย, วิธีปกครอง, เครื่องแนะนํา, อุบายอันดี. (ป., ส. นีติ).”
อันที่จริง “นีติ” หรือ “นิติ” กับ “เนติ” มาจากรากเดียวกัน แต่โปรดสังเกตว่าพจนานุกรมฯ บอกความหมายยักเยื้องกันไป ไม่ตรงกันทุกคำ
(๒) “บริกร”
ตามรูปศัพท์ ประกอบด้วย บริ + กร
(ก) “บริ” บาลีเป็น ปริ เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า รอบ, เวียนรอบ; ทั่วไป, เต็มไปหมด, รวมหมด (around, round about; all round, completely, altogether)
(ข) “กร” บาลีอ่านว่า กะ-ระ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + อ ปัจจัย
: กรฺ + อ = กร แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “การทำ” หมายถึง ผลิต, ก่อ, ประกอบ, กระทำ (producing, causing, forming, making, doing)
(2) “ผู้ทำ” หมายถึง ผู้กระทำ (the maker)
(3)“อวัยวะเป็นเครื่องทำงาน” หมายถึง มือ (the hand)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “กร” ไว้ดังนี้ –
(1) กร ๑ : (คำนาม) ผู้ทํา, ใช้ประกอบเป็นส่วนหลังของสมาส เช่น กรรมกร เกษตรกร. (ป.).
(2) กร ๒ : (คำนาม) มือ (มักใช้ในบทประพันธ์); แขน เช่น เจ้างามกรอ่อนดังงวงเอราวัณ. (กลบท); (ราชา) มือ, แขน, ปลายแขน, ใช้ว่า พระกร หรือ กร. (ป., ส.).
(3) กร ๓ : (คำนาม) แสง, ใช้ประกอบเป็นส่วนหลังของสมาส เช่น รัชนีกร นิศากร. (ป.).
ในที่นี้ “กร” มีความหมายตามข้อ (1)
บริ + กร = บริกร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กระทำทั่วไป”
คำนี้ยังไม่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
“บริกร” เป็นคำที่คิดขึ้นมาจากคำว่า “บริการ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “บริการ” ไว้ดังนี้ –
“บริการ : (คำกริยา) ปฏิบัติรับใช้, ให้ความสะดวกต่าง ๆ, เช่น ร้านนี้บริการลูกค้าดี. (คำนาม) การปฏิบัติรับใช้, การให้ความสะดวกต่าง ๆ, เช่น ให้บริการ ใช้บริการ.”
ผู้คิดคำว่า “บริกร” เอาคำว่า “กร” ที่หมายถึง “ผู้ทำ” มาแทนคำว่า “การ” ที่หมายถึง “การกระทำ”
“บริการ” จึงแปลงเป็น “บริกร” โดยตั้งใจจะให้หมายถึง “ผู้ทำหน้าที่บริการ”
แต่ “บริกร” คำนี้ถ้าแปลงกลับเป็นบาลีก็ตรงกับ “ปริกร” (ปะ-ริ-กะ-ระ) แปลตามศัพท์ว่า “ทำรอบ” (doing round) ศัพท์นี้ในบาลีหมายถึง ผ้าคาดเอว, ผ้าเตี่ยว (girdle, loincloth)
ไม่เกี่ยวกับ “ผู้ทำหน้าที่บริการ” แต่ประการใดเลย!
แต่ถ้าแปลง “ปริกร” เป็นคำกริยา จะได้รูปศัพท์ว่า “ปริกโรติ” (ปะ-ริ-กะ-โร-ติ) แปลว่า ห้อมล้อม, รับใช้, ให้บริการ, ทำงานให้ (to surround, serve, wait upon, do service for)
คำกริยา “ปริกโรติ” มีความหมายตรงกับคำว่า “บริกร” ที่เราคิดขึ้นมาใช้
เนติ + บริกร = เนติบริกร แปลตามศัพท์คล้อยตามความประสงค์ว่า “ผู้ทำหน้าที่บริการทางกฎหมาย”
ดูเพิ่มเติม : “นิติกร” บาลีวันละคำ (1,769) 10-4-60
…………..
ขยายความ :
“เนติบริกร” เป็นคำที่มีผู้คิดขึ้นเรียกผู้ที่ทำหน้าที่คล้ายกับทนายความ นิติกร หรือนายทหารพระธรรมนูญ ที่เรารู้จักกันดีอยู่แล้ว แต่มีขอบเขตการทำงานที่กว้างขวางกว่า และมีวิธีการที่พลิกแพลง แยบยล ซับซ้อน ซ่อนเงื่อนมากกว่าหลายเท่า โดยมีเป้าหมายอยู่ที่มุ่งรักษาผลประโยชน์และสนองความต้องการของผู้มีอำนาจทางการเมืองเป็นสำคัญ
คำว่า “เนติบริกร” มีผู้เขียนไว้ในวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (อ่านเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2560 เวลา 19:53 น.) มีข้อความตอนหนึ่งว่า –
“เนติบริกร หมายถึง ผู้ให้บริการทางกฎหมายแก่ผู้มีอำนาจทางการเมือง
เนติบริกรมักเป็นนักกฎหมายหรืออาจารย์มหาวิทยาลัย และมักมีบทบาทโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการยากลำบากเหมือนนักการเมือง
คนส่วนมากกล่าวว่า เนติบริกรเป็นอาชีพที่ไม่ต้องสนใจผิดชอบชั่วดีหรือจริยธรรมใด ๆ เป็นแต่ช่องทางให้ใช้ความรู้ทางกฎหมายเข้าถึงเป้าหมายหรือผลประโยชน์ของตน”
…………..
ดูก่อนภราดา!
“เนติบริกร” มี 2 ประเภท คือ “คนพาล” และ “บัณฑิต”
: คนพาลบริการคนผิด
: บัณฑิตบริการคนดี
31-8-60