บาลีวันละคำ

นิมนฺตนํ ยาจามิ (บาลีวันละคำ 2434)

นิมนฺตนํ ยาจามิ

ภาษาบาลีเมียเช่า = ข้าพเจ้าขอนิมนต์

ผู้เขียนบาลีวันละคำได้รับภาพฎีกานิมนต์พระ ผู้ส่งภาพถามว่า ข้อความในฎีกาที่เป็นภาษาบาลีว่า “อหํ ภนฺเต สิรสา นิมนฺตนํ ยาจามิ” แปลว่าอะไร (โปรดดูภาพประกอบ)

…………..

ในที่นี้ขอยกคำบาลีที่เป็นหลัก 2 คำ ขึ้นมาอธิบาย คือ “นิมนฺตนํ ยาจามิ” อ่านว่า นิ-มัน-ตะ-นัง ยา-จา-มิ

(๑) “นิมนฺตนํ” (นิ-มัน-ตะ-นัง)

รูปคำเดิมเป็น “นิมนฺตน” (นิ-มัน-ตะ-นะ) รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง; ไม่มี, ออก) + มนฺตฺ (ธาตุ = ปรึกษา) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: นิ + มนฺต = นิมนฺตฺ + ยุ > อน = นิมนฺตน แปลตามศัพท์เท่าที่ตาเห็นว่า “การปรึกษาลง” ซึ่งในภาษาไทยไม่อาจเข้าใจได้ว่าคือการทำอะไร

ถึงตอนนี้ควรเรียนหลักภาษาเพิ่มเติมขึ้นไปอีกหน่อยว่า “นิ” คำอุปสรรคที่เติมลงข้างหน้าในคำว่า “นิมนฺตน” นี้ ท่านเรียกว่า “อุปสรรคเบียนธาตุ” หมายความว่า ลงแล้วทำให้ความหมายของธาตุเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเล็กน้อย คือ “นิมนฺตน” แปลว่า การนิมนต์, การเชื้อเชิญ (invitation)

อุปสรรคบางตัวท่านเรียกว่า “อุปสรรคสังหารธาตุ” เช่น “อา” = ทั่วไป, ยิ่ง, กลับความ เมื่อลงหน้าธาตุบางตัวก็ฆ่าความหมายของธาตุตัวนั้นให้ตายไป แล้วสร้างความหมายขึ้นมาใหม่ เช่น

คมฺ ธาตุ “ไป” ลง อา เป็น “อาคม” ความหมายกลายเป็น “มา”

ทา ธาตุ “ให้” ลง อา เป็น “อาทา” ความหมายกลายเป็น “เอา”

แต่ “นิ” ในคำว่า “นิมนฺตน” นี้ไม่ถึงกับสังหารธาตุ เป็นแต่เบียนธาตุ คือทำให้ความหมายเพี้ยนไปจากเดิม คือจาก “ปรึกษา” กลายเป็น “เชื้อเชิญ” (ซึ่งอาจอธิบายแบบลากเข้าความว่า การเชื้อเชิญนั่นแหละคืออาการอย่างหนึ่งของการปรึกษา เช่นอาจเริ่มต้นปรึกษาว่า ข้าพเจ้าอยากจะให้ท่านไปทำกิจอย่างหนึ่ง ณ ที่โน้น ท่านจะเห็นเป็นประการใด – เช่นนี้ จะว่าปรึกษาหรือจะว่าเชื้อเชิญก็ฟังได้ทั้งสองอย่าง)

นิมนฺตน” แจกด้วยวิภัตตินามที่สอง (ทุติยาวิภัตติ) เอกพจน์ นปุงสกลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “นิมนฺตนํ

(๒) “ยาจามิ

เป็นคำกริยา “กิริยาอาขยาต” รากศัพท์มาจาก ยาจฺ (ธาตุ = ขอ) + ปัจจัย + มิ วิภัตติอาขยาต (ปัจจุบันกาล เอกพจน์ อุตตมบุรุษ หรือบุรุษที่สาม = ตัวผู้พูด), ทีฆะ อะ เป็น อา ด้วยอำนาจ มิ วิภัตติ

: ยาจฺ + + มิ = ยาจมิ > ยาจามิ แปลว่า “ข้าพเจ้าย่อมขอ

หมายเหตุ: “บุรุษ”ในไวยากรณ์บาลีมี 3 คือ –

ปฐมบุรุษ” = บุรุษที่หนึ่ง : ผู้หรือสิ่งที่ถูกพูดถึง

มัชฌิมบุรุษ” หรือ “มัธยมบุรุษ” = บุรุษในท่ามกลาง หรือเทียบเท่าบุรุษที่สอง : ผู้ที่พูดด้วย

อุตตมบุรุษ” = บุรุษสูงสุด หรือเทียบเท่าบุรุษที่สาม : ตัวผู้พูด

อภิปรายขยายความ :

ข้อความภาษาบาลีข้างต้น คือ “อหํ ภนฺเต สิรสา นิมนฺตนํ ยาจามิ” แปลยกศัพท์เพื่อประโยชน์ของท่านผู้อ่านที่ไม่สันทัดบาลี ดังนี้ –

ภนฺเต = ข้าแต่ท่านผู้เจริญ

อหํ = อันว่าข้าพเจ้า

ยาจามิ = ย่อมขอ

นิมนฺตนํ = ซึ่งนิมนต์

สิรสา = ด้วยเศียรเกล้า

แปลความตามประสงค์ของผู้แต่งคำบาลีว่า “ข้าพเจ้าขอนิมนต์ด้วยเศียรเกล้า” หมายถึงนิมนต์ด้วยความเคารพอย่างสูง

ปัญหาที่ต้องถามก็คือ ในภาษาไทย คำว่า “ขอนิมนต์” มีความหมายว่าอย่างไร?

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

นิมนต์ : (คำกริยา) เชิญ, เชื้อเชิญ, (ใช้แก่พระภิกษุและสามเณร). (ป. นิมนฺต; ส. นิมนฺตฺร).”

เป็นอันได้คำตอบว่า “นิมนต์” แปลว่า เชิญ หรือเชื้อเชิญ “ขอนิมนต์” ก็เป็นคำเดียวกับที่เราพูดกันว่า “ขอเชิญ” นั่นเอง เพียงแต่ว่าเมื่อใช้แก่พระภิกษุสามเณร เราเปลี่ยนจาก “ขอเชิญ” เป็น “ขอนิมนต์

ดังนั้น คำกริยาที่เป็นหลักจึงอยู่ที่ “เชิญ”

ภาษาบาลีข้างต้น คำกริยาที่เป็นหลักคือ “ยาจามิ” แปลว่า “ขอ” ไม่ได้แปลว่า “เชิญ”

ดูคำแปลเป็นภาษาอังกฤษอาจช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้น “ยาจามิ” คำกริยาสามัญ (คือประธานเป็น “ผู้หรือสิ่งที่ถูกพูดถึง”) เป็น “ยาจติ” (ยา-จะ-ติ)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ยาจติ” ว่า to beg, ask for, entreat (ขอ, ขอร้อง, วอนขอ)

ตามความหมายนี้ “นิมนฺตนํ ยาจามิ” จะต้องหมายความว่า พระท่านมี “นิมนต์” (การเชื้อเชิญ) อยู่ในมือ เราจึงไป to beg คือ “ขอนิมนต์” จากท่าน ดังนั้น แทนที่เราจะ “เชิญ” พระ ก็จะกลายเป็นว่าเราไปขอให้พระเชิญเรา กลับตาลปัตรไปเลย

คำกริยาสามัญในภาษาบาลีที่มีความหมายว่า “เชิญ” คือ “นิมนฺเตติ” (นิ-มัน-เต-ติ) รากศัพท์เดียวกับ “นิมนฺตนํ” นั่นเอง (“นิมนฺตนํ” เป็นคำนาม “นิมนฺเตติ” เป็นคำกริยา)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “นิมนฺเตติ” ว่า to send a message, to call, summon, invite, coax (ส่งข่าว, เรียก, นิมนต์, เชื้อเชิญ, คะยั้นคะยอ)

ดูคำแปลเป็นอังกฤษแล้วคงช่วยยืนยันได้ว่า ถ้าจะพูดว่า “ขอเชิญ” (ใช้แก่พระภิกษุสามเณรว่า “ขอนิมนต์”) คำกริยาต้องเป็น “นิมนฺเตติ” เปลี่ยนรูปตามบุรุษที่ประสงค์เป็น “นิมนฺเตมิ” แปลว่า “ข้าพเจ้าขอเชิญ” (ใช้แก่พระภิกษุสามเณรว่า “ข้าพเจ้าขอนิมนต์”)

ภาษาอังกฤษเมียเช่า :

ในสมัยที่เกิดสงครามเวียดนาม ประเทศสหรัฐอเมริกาส่งกำลังทหารมาตั้งฐานทัพอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เป็นเหตุให้หญิงไทยส่วนหนึ่งถือเป็นโอกาสประกอบอาชีพบริการทหารเหล่านั้น มีคำเรียกอาชีพนี้ว่า “เมียเช่า”

เนื่องจากหญิงไทยส่วนมากพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่สามารถจำภาษาอังกฤษเป็นคำๆ ได้ เป็นเหตุให้เกิดภาษาอังกฤษแบบเมียเช่า เช่น ภาษาไทยว่า “ทีใครทีมัน” ก็พูดเป็นอังกฤษว่า t who t it (คำนี้อาจจะไม่ได้เกิดในสมัยนั้น แต่ภาษาเมียเช่าจะมีลักษณะแบบเดียวกันนี้) เป็นต้น เป็นที่ล้อเลียนกันทั่วไป เรื่องที่จะเล่านี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งในบรรดาภาษาอังกฤษแบบเมียเช่าที่เล่ากันมา

ทหารฝรั่งขับรถพาเมียเช่าไปเที่ยว สมัยนั้นถนนหนทางยังไม่กว้างขวางเหมือนสมัยนี้ ถนนที่ขับรถไปนั้นเป็นถนนแบบที่รถวิ่งสวนกัน เพราะฉะนั้นจึงมีรถวิ่งสวนทางมาเป็นระยะตลอดทาง พอมีรถสวนมา หญิงไทยที่เป็นเมียเช่าก็จะร้องบอกให้ฝรั่งระวัง ภาษาอังกฤษที่เธอพูดคือ –

ระวัง car garden!

ระวัง car garden!

นิมนฺตนํ ยาจามิ” แปลว่า “ขอนิมนต์” ตรงตัว แต่ไม่ได้หมายถึง “ขอเชิญ” อย่างที่ตั้งใจจะพูด ทั้งนี้เพราะผู้แต่งข้อความคำบาลีแปลภาษาไทยแบบ “ถอดคำ” แต่ไม่ได้ “ถอดความ” ในวงการบาลีเรียกภาษาบาลีแบบนี้ว่า “บาลีไทย” หรือ “มคธไทย” คือสำเนียงเป็นบาลี แต่สำนวนเป็นไทย หรือเรียกล้อว่า-ภาษาบาลีแบบเมียเช่า

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สามารถผูกคำบาลีขึ้นมาได้ในระดับนั้นต้องนับว่ามีพื้นฐานทางบาลีพอสมควร หากพัฒนาความรู้ในแม่นและให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ก็เป็นที่หวังได้ว่าจะเป็นนักบาลีที่เก่งกล้าสามารถได้อย่างแน่นอน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ยอมรับว่ารู้มาผิด

: เป็นบัณฑิตทันที

————

(บรรยายความตามปัญหาของ ปุณณภัทร เภาประเสริฐ)

#บาลีวันละคำ (2,434)

10-2-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *