มัชฌิมา (บาลีวันละคำ 2,873)
มัชฌิมา
หมายถึงอะไร จับหลักไว้ให้ดีๆ
อ่านว่า มัด-ชิ-มา
“มัชฌิมา” เขียนแบบบาลีเป็น “มชฺฌิมา” อ่านว่า มัด-ชิ-มา ศัพท์เดิมมาจาก มชฺฌ + อิม ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
(ก) “มชฺฌ” (มัด-ชะ) รากศัพท์มาจาก มชฺ (ธาตุ = บริสุทธิ์, สะอาด) + ฌ ปัจจัย
: มชฺ + ฌ = มชฺฌ แปลตามศัพท์ว่า “จุดที่หมดจด”
“มชฺฌ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) (นปุงสกลิงค์) ตรงกลาง, กลาง ๆ, สามัญ, มัธยม, สายกลาง (middle, medium, mediocre, secondary, moderate)
(2) (ปุงลิงค์) สะเอว (the waist)
(ข) มชฺฌ + อิม = มชฺฌิม + อา = มชฺฌิมา ใช้เป็นคุณศัพท์ขยายศัพท์ที่เป็นอิตถีลิงค์ แปลตามศัพท์ว่า “-อันตั้งอยู่ในท่ามกลาง” หรือ “-อันเป็นไปในท่ามกลาง”
ความหมายนี้ใช้ในการเทียบเคียงคำซึ่งเป็นคู่กันกับความหมายว่า มากกว่านั้นหรือน้อยกว่านั้น ในกระบวน 3 คำ เช่น “เล็ก – กลาง – ใหญ่” (small – medium – big) หรือ “แรก – กลาง – หลัง” (first – middle – last)
บาลี “มชฺฌิม” ในภาษาไทยใช้ทับศัพท์เป็น “มัชฌิม” อ่านว่า มัด-ชิ-มะ-, มัด-ชิม-มะ-, มัด-ชิม- (ตามพจนานุกรมฯ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มัชฌิม– : (คำวิเศษณ์) ปานกลาง. (ป. มชฺฌิม).”
บาลี “มชฺฌิม” สันสกฤตเป็น “มธฺยม”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“มธฺยม : (คำวิเศษณ์) กลาง; ปานกลาง; middle; mean; – น. สะเอว; เด็กหญิงอันถึงวัยสาว; นิ้วกลาง; ช่อกลาง; the waist; a girl arrived at puberty; the middle finger; a central blossom.”
บาลี “มชฺฌิม” ภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “มัธยม” ด้วย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มัธยม, มัธยม– : (คำวิเศษณ์) กลาง, ปานกลาง. (ส.).”
นอกจาก “มัธยม” แล้ว พจนานุกรมฯ ยังเก็บคำว่า “มัธยมา” (มัด-ทะ-ยะ-มา) ไว้อีกคำหนึ่ง บอกไว้ดังนี้ –
“มัธยมา : (คำวิเศษณ์) มัชฌิมา, ปานกลาง. (ส.).”
อภิปราย :
เป็นอันว่าเราได้ทำความรู้จักกับ “มัชฌิม” และ “มัชฌิมา” ในบาลีทั้งรากศัพท์และความหมายต่างๆ ที่ใช้ในภาษาบาลีและที่นำมาใช้ในภาษาไทย ตลอดจนที่ใช้ตามรูปสันสกฤตหมดแล้ว
คำที่ปรารถนาจะชี้ชวนให้คิดก็คือ “มัชฌิมา” ซึ่งแน่นอนว่าเป็นคำที่ตัดมาจากคำเต็มในบาลีว่า “มชฺฌิมา ปฏิปทา” (มัด-ชิ-มา ปะ-ติ-ปะ-ทา)
โปรดสังเกตว่า ในบาลีแยกเป็น 2 คำ คือ “มชฺฌิมา” คำหนึ่ง “ปฏิปทา” อีกคำหนึ่ง
“มชฺฌิมา” รูปคำเดิมเป็น “มชฺฌิม” ที่เป็น “มชฺฌิมา” ก็เพราะเป็นคำขยาย (วิเสสนะ) ของ “ปฏิปทา” ซึ่งเป็นอิตถีลิงค์ “มชฺฌิม” จึงต้องเปลี่ยนรูปเป็นอิตถีลิงค์ตามไปด้วย
เข้าใจว่าแรกเริ่มที่เอาคำนี้มาพูดตัดเหลือเพียง “มัชฌิมา” ก็ยังคงใช้ในความหมายเดิม คือหมายถึง “มรรคมีองค์แปด” แต่เมื่อใช้ไปนานๆ ความหมายก็เคลื่อนที่ จนบัดนี้กล่าวได้ว่าเราใช้คำว่า “มัชฌิมา” ในภาษาไทยโดยไม่ได้เกี่ยวอะไร-และไม่ได้มีใครนึกถึง “มรรคมีองค์แปด” อีกต่อไปแล้ว
เราใช้คำเดิม แต่ไม่ได้มุ่งถึงความหมายเดิม
เมื่อมองประเด็นนี้ย่อมทำให้ได้แง่คิดว่า เรามักทำอะไรหลายๆ อย่างเบี่ยงเบนไปจากความมุ่งหมายเดิม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการจัดการศึกษาของคนในชาติ
ความมุ่งหมายเดิมของการจัดการศึกษาก็คือเพื่อให้คนมีความรู้ดีและมีความประพฤติดี
เวลานี้เราละเลยการจัดการศึกษาเพื่อความประพฤติดีไปจนจะหมดสิ้นแล้ว ยังเหลือแต่-เพื่อความรู้ดี
แต่ ณ วันนี้เอง ความมุ่งหมายของศึกษา-เพื่อความรู้ดี ก็เบี่ยงเบนไปอยู่ที่-เพื่อให้ได้ใบรับรอง
มีการกระทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ใบรับรอง โดยไม่คำนึงถึงว่าผู้มีชื่อในใบรับรองนั้นจะมีความรู้หรือไม่ ดังเป็นที่รู้กันว่ามีธุรกิจรับเรียนแทน รับสอบแทน รับทำวิทยานิพนธ์แทน เกิดขึ้นแบบลับๆ แต่เป็นที่เปิดเผยรู้กันเกร่อไปหมด
และที่น่าตกใจอย่างยิ่งก็คือ ค่านิยม “เรียนเพื่อให้ได้ใบรับรอง” นี้ ระบาดเข้าไปถึงการศึกษาทางพระศาสนาด้วยแล้ว
การศึกษาทางพระศาสนานั้น-เช่นเรียนบาลี-ก็เพื่อให้มีความรู้ความสามารถที่จะศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกาได้อย่างกว้างขวาง ทำให้ได้ความรู้ดีรู้ถูกต้อง แล้วเอาความรู้ที่ถูกต้องนั้นมาประพฤติดีปฏิบัติชอบและเผยแพร่ต่อไป
แต่เวลานี้ น้ำหนักการเรียนบาลีไปอยู่ที่-เรียนเพื่อให้สอบได้ ซึ่งมีความหมายไม่ต่างไปจาก “เรียนเพื่อให้ได้ใบรับรอง” นั่นเอง
วิชาความรู้ทุกอย่าง เมื่อเรียนแล้วก็นำไปปฏิบัติหรือนำไปใช้ตามสายงานที่เรียนมา-เช่นเรียนแพทย์ก็เอาความรู้ไปรักษาคนป่วยไข้เป็นต้น
แต่การเรียนบาลีทุกวันนี้ เรียนจบแล้วก็แทบจะไม่ได้นำไปศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกาแต่อย่างใดทั้งสิ้น นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ยืนยันคำที่กล่าวข้างต้นว่า-เรามักทำอะไรหลายๆ อย่างเบี่ยงเบนไปจากความมุ่งหมายเดิม
…………..
ดูก่อนภราดา!
: วิปริตสุดขั้ว
: คือทำชั่วเพื่อให้ได้ใบรับรองว่าเป็นคนดี
#บาลีวันละคำ (2,873)
24-4-63