สุกขวิปัสสก (บาลีวันละคำ 4,412)
สุกขวิปัสสก
พระอรหันต์กิเลสแห้ง
อ่านว่า สุก-ขะ-วิ-ปัด-สก
ประกอบด้วยคำว่า สุกข + วิปัสสก
(๑) “สุกข”
เขียนแบบบาลีเป็น “สุกฺข” (มีจุดใต้ ก) อ่านว่า สุก-ขะ รากศัพท์มาจาก สุขฺ (ธาตุ = เหี่ยวแห้ง) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลง สุขฺ เป็น สุกฺข
: สุข + อ = สุข > สุกฺข แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เหี่ยวแห้ง” ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง แห้ง, เหือดแห้ง (dry, dried up)
(๒) “วิปัสสก”
เขียนแบบบาลีเป็น “วิปสฺสก” อ่านว่า วิ-ปัด-สะ-กะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ทิสฺ (ธาตุ = เห็น) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ทิสฺ เป็น ปสฺส, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ)
: วิ + ทิสฺ = วิทิสฺ + ณฺวุ = วิทิสฺณฺวุ > วิปสฺสณฺวุ > วิปสฺสก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เห็นแจ้ง”
สุกฺข + วิปสฺสก = สุกฺขวิปสฺสก (สุก-ขะ-วิ-ปัด-สะ-กะ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีการเห็นแจ้งที่เหี่ยวแห้งเพราะไม่มียางคือสมถภาวนา”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สุกฺขวิปสฺสก” ว่า “dry-visioned” (“พระอรหันต์สุกขวิปัสสก”)
“สุกฺขวิปสฺสก” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สุกขวิปัสสก”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายไว้ว่า –
…………..
สุกขวิปัสสก : พระผู้เจริญวิปัสสนาล้วนสำเร็จพระอรหัต มิได้ทรงคุณวิเศษอย่างอื่นอีก เช่นไม่ได้ฌานสมาบัติ ไม่ได้อภิญญา เป็นต้น.
…………..
ขยายความ :
พระอรหันต์สุกขวิปัสสกเป็นคู่กับพระอรหันต์สมถยานิก จับความหมายง่าย ๆ ว่า พระอรหันต์สมถยานิกเป็นพระอรหันต์หมดกิเลสและทรงคุณวิเศษอย่างอื่นด้วย เช่น หูทิพย์ ตาทิพย์เป็นต้น ส่วนพระอรหันต์สุกขวิปัสสกหมดกิเลสอย่างเดียว ไม่มีคุณวิเศษอย่างอื่น
ท่านว่าสมัยพุทธกาลและหลังพุทธกาลเล็กน้อย พระอรหันต์ส่วนมากจะเป็นพระอรหันต์สมถยานิก แต่หลังจากนั้นพระอรหันต์สมถยานิกจะค่อย ๆ หมดไป เหลือแต่พระอรหันต์สุกขวิปัสสก และเมื่อกาลเวลาล่วงไปอีก พระอรหันต์สุกขวิปัสสกก็จะค่อย ๆ หมดไป
เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ขอยกเรื่อง “อธิคมอันตรธาน” หรือ “การสูญหายไปแห่งการบรรลุธรรม” ที่คัมภีร์อรรถกถาบรรยายไว้มาให้ศึกษากันในที่นี้ ดังนี้ –
…………..
ตตฺถ อธิคโมติ จตฺตาโร มคฺคา จตฺตาริ ผลานิ จตสฺโส ปฏิสมฺภิทา ติสฺโส วิชฺชา ฉ อภิญฺญาติ ฯ
ในอันตรธาน 5 อย่างนั้น มรรค 4 ผล 4 ปฏิสัมภิทา 4 วิชชา 3 อภิญญา 6 ชื่อว่า อธิคม
โส ปริหายมาโน ปฏิสมฺภิทาโต ปฏฺฐาย ปริหายติ ฯ
อธิคมนั้น เมื่อจะเสื่อม (หมายถึงไม่มีใครสามารถบรรลุได้) ย่อมเสื่อมตั้งแต่ปฏิสัมภิทาเป็นต้นไป
พุทฺธานํ หิ ปรินิพฺพานโต วสฺสสหสฺสเมว ปฏิสมฺภิทา นิพฺพตฺเตตุํ น สกฺโกนฺติ
เป็นความจริง นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ 1,000 ปีเท่านั้น ก็ไม่มีใครสามารถปฏิบัติธรรมจนบรรลุปฏิสัมภิทาได้
ตโต ปรํ ฉ อภิญฺญา
ต่อแต่นั้นก็อภิญญา 6
ตโต ตาปิ นิพฺพตฺเตตุํ อสกฺโกนฺตา ติสฺโส วิชฺชา นิพฺพตฺเตนฺติ ฯ
ต่อแต่นั้น เมื่อไม่สามารถบรรลุอภิญญาได้ ก็บรรลุแค่วิชชา 3
คจฺฉนฺเต คจฺฉนฺเต กาเล ตาปิ นิพฺพตฺเตตุํ อสกฺโกนฺตา สุกฺขวิปสฺสกา โหนฺติ ฯ
ครั้นกาลล่วงไป ๆ ก็ไม่สามารถบรรลุวิชชา 3 ได้ เป็นได้เพียงพระอรหันต์สุกขวิปัสสก (ผู้หมดกิเลส แต่ไม่มีคุณวิเศษอื่นใด)
เอเตเนว อุปาเยน อนาคามิโน สกทาคามิโน โสตาปนฺนาติ ฯ
มรรคผลเสื่อมไปโดยทำนองนี้ (คือในที่สุดพระอรหันต์ก็หมด ค่อยลดลงไป) เหลือแต่พระอนาคามี พระสกทาคามี (จนในที่สุด) ก็เหลือแต่พระโสดาบัน
เตสุ ธรมาเนสุ อธิคโม อนฺตรหิโต นาม น โหติ ฯ
ท่านผู้เป็นโสดาบันยังทรงชีพอยู่ อธิคมก็ยังไม่อันตรธาน
ปจฺฉิมกสฺส โสตาปนฺนสฺส ชีวิตกฺขเยน อธิคโม อนฺตรหิโต นาม โหตีติ ฯ
ต่อท่านผู้เป็นโสดาบันคนสุดท้ายสิ้นชีพ อธิคมก็เป็นอันว่าอันตรธาน ด้วยประการฉะนี้
อิทํ อธิคมอนฺตรธานํ นาม.
นี้ชื่อว่า อธิคมอันตรธาน
ที่มา: มโนรถปูรณี อรรถกถาอังคุตรนิกาย ภาค 1 หน้า 116-117
…………..
ดูก่อนภราดา!
: กิเลสแห้งเองไม่ได้
: แต่ทำให้แห้งได้
#บาลีวันละคำ (4,412)
11-7-67
…………………………….
…………………………….