บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ถ้าอ้างพระธรรมวินัย ก็ไม่ต้องอ้างใครอื่นอีก

หนังสือ “พิธีกรควรรู้” ที่ผมเขียนไว้มีผู้นำไปอ้างอิงกันอยู่มากพอสมควร ที่รู้ก็เพราะไปอ่านพบบ้าง ผู้อ้างบอกเล่ามาให้ฟังด้วยตัวเองบ้าง

ขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง 

ในหนังสือ ผมพูดไว้ชัดว่าถ้าเห็นว่าผมเขียนอะไรผิดไปละก็ ขอความกรุณาช่วยกันทักท้วงได้เต็มที่เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้อง 

ในหนังสือ ผมบอกไว้ด้วยว่า พิธีที่เกี่ยวกับพระศาสนาที่ทำๆ กันอยู่ในบ้านเรานี้ถ้าจับหลักให้ดีจะเห็นว่ามีอยู่ ๒ ส่วนเท่านั้น คือ (๑) หลักวิชา (๒) ค่านิยมพื้นถิ่น 

ยกตัวอย่างเช่น พิธีสวดพระอภิธรรม ไหว้พระ รับศีลเสร็จแล้ว บางวัดพระสวดเลย บางวัดพิธีกรอาราธนาธรรมก่อนพระจึงสวด 

แบบนี้คือค่านิยมพื้นถิ่น ไม่ต้องเถียงกันว่าแบบไหนถูกแบบไหนผิด พื้นถิ่นไหนนิยมอย่างไรก็ทำไปตามนั้น ไม่ต้องเอาถูกผิดมาตัดสิน 

แต่ในคำอาราธนาธรรม – 

พฺรหฺมา ออกเสียงอย่างไร 

กตญฺชลี หรือ กตฺอญฺชลี 

อนธิวรํ หรือ อนฺธิวรํ 

อายาจถ หรือ อยาจถ 

สนฺตีธ สตฺตา- หรือ สนฺตีธ สตฺตาปฺ- 

แบบนี้คือหลักวิชา ต้องว่ากันไปตามหลักวิชา จะเอาค่านิยมพื้นถิ่นมาอ้างไม่ได้ 

หรืออย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ คำบูชาข้าวพระ ตรงคำว่า .. สาลีนํ โอทนํ .. ผมเสนอว่า ควรเป็น โอทนํ ไม่ใช่ โภชนํ เพราะเหตุผลอย่างนี้ๆ 

แต่สำนักไหนจะใช้ โภชนํ ก็ไม่ว่ากัน โภชนํ ก็ได้ความเหมือนกัน แต่ไม่สนิทเท่า โอทนํ เพราะเหตุผลอย่างนี้ๆ

แบบนี้โต้เถียงกันได้บนพื้นฐานหลักวิชา ใครใช้อย่างไรก็ถือว่าไม่ผิดหลักวิชา 

แต่ถ้า “โภชนํ” นั่นเอง แต่ใช้เป็น “โภชนานํ” หรือบางสำนักเป็น “โภชนานานํ” ไปโน่นเลย แล้วอ้างว่าเป็นค่านิยมพื้นถิ่นของสำนัก ที่นี่ใช้อย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว 

แบบนี้ผิดหลักวิชา ต้องแย้ง ต้องค้าน ต้องชี้แจงว่าผิดอย่างไร 

เป็นอันว่าในหลักวิชานั่นเองก็มีรายละเอียดแฝงอยู่ อ้างอิงอยู่กับความเห็นส่วนบุคคลก็มี แต่ก็ยังต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานหลักวิชา 

กรณี “มิ” กับ “มะ” ในคำบูชาพระรัตนตรัยก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่มีผู้นำความเห็นของผมไปอ้าง 

คือตรงคำว่า ปูเชมะ-ปูเชมิ หรือ อภิปูชยามะ-อภิปูชยามิ ใช้อย่างไรกันแน่ 

ผมมีความเห็นว่า ควรใช้ -มิ จะ ปูเชมิ หรือ อภิปูชยามิ ก็แล้วแต่จะเลือกเอา แต่ควรเป็น -มิ ไม่ควรเป็น -มะ เหตุผลคือ จะได้สอดคล้องกับท่อนท้ายตรงที่ว่า … พุทฺธํ ภควนฺตํ อภิวาเทมิ … ธมฺมํ นมสฺสามิ … สงฺฆํ นมามิ ท่อนนี้เราใช้ -มิ เป็นมาตรฐาน ไม่ได้ใช้ … อภิวาเทมะ … นมสฺสามะ … นมามะ ถ้าท่อนต้นใช้ -มะ แล้วมาท่อนหลังใช้ -มิ ย่อมไม่สอดคล้องกัน 

และการบูชาพระรัตนตรัยเราเล็งที่การบูชาเป็นเอกเทศของแต่ละคน ไม่ใช่ร่วมใจกันบูชาเหมือนขอศีลหรือถวายทาน ซึ่งนั่นเป็นการร่วมกันขอร่วมกันถวาย จึงต้องใช้ -มิ หรือ -มะ ให้ตรงกับความเป็นจริง (คนเดียว -มิ หลายคน -มะ) 

อันนี้เป็นความเห็นส่วนบุคคล สามารถเอาไปอ้างได้ว่า ผู้นั้นผู้นี้-อย่างในกรณีก็คืออ้างความเห็นของนาวาเอก ทองย้อย-เห็นว่าควรเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ใครจะเห็นตามหรือเห็นต่างย่อมเป็นสิทธิของผู้นั้น เพราะเป็นเรื่องของ “ความคิดเห็น” ไม่ใช่หลักวิชาตายตัวเหมือน “โภชนํ” กับ “โภชนานํ” หรือ “โภชนานานํ” ซึ่งสามารถชี้ถูก-ผิดได้ชัดเจนแน่นอน 

กรณีชี้ถูกผิดได้แน่นอนเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องอ้างความเห็นของบุคคล 

คือไม่ต้องอ้างว่า นาวาเอก ทองย้อยเห็นว่า “โภชนานํ” และ “โภชนานานํ” ผิด 

ทั้งนี้เพราะ-แม้นาวาเอกทองย้อยจะไม่บอกว่าผิด คำนั้นก็ผิดอยู่แล้วตามหลักวิชา คือหลักไวยากรณ์ เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องอ้างตัวบุคคล แต่อ้างตรงไปที่หลักวิชาได้เลย 

ตรงนี้สำคัญมากนะครับ ถ้ามองไปที่หลักพระธรรมวินัยจะเห็นได้ชัดว่าสำคัญมากอย่างไร

ตัวอย่างเช่น – วัดที่มีพระจำพรรษาไม่ถึง ๕ รูป ไปนิมนต์จากวัดอื่นมาให้ครบ ๕ รูปเพื่อรับกฐิน ถามว่าทำได้หรือไม่ 

กรณีอย่างนี้ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะอ้างตัวบุคคล หรือพูดให้เด็ดขาดว่า-จะอ้างตัวบุคคลหาชอบไม่ 

เช่นอ้างว่า ท่านเจ้าคุณรูปโน้นบอกว่าทำได้

หรืออ้างว่า พระมหารูปโน้นบอกว่าทำไม่ได้ 

ทำได้หรือทำไม่ได้ ต้องอ้างตรงไปที่พระธรรมวินัยอย่างเดียว อ้างตัวบุคคลไม่ได้ 

ก็คือเรื่องนั้นกรณีนั้นมีปัญหาอย่างไร ต้องอัญเชิญพระธรรมวินัยออกมาเป็นเครื่องตัดสิน 

ศึกษาสืบสวนสอดส่องให้ทั่วถ้วนทั่วถึง พระธรรมวินัยว่าอย่างไร นั่นคือคำตอบ

ท่านเจ้าคุณรูปไหน ท่านมหารูปไหนว่าอย่างไร ถ้าตรงกับพระธรรมวินัยก็ต้องพูดว่า-ความเห็นของท่านตรงตามพระธรรมวินัย 

ไม่ใช่ไปพูดว่า-พระธรรมวินัยตรงตามความเห็นของท่าน 

เพราะพระธรรมวินัยเป็นหลัก ไม่ใช่ความเห็นของบุคคลเป็นหลัก

กรณีอย่างนี้ถ้าความเห็นของตัวบุคคลผิดไปจากพระธรรมวินัย ก็ต้องแก้ความเห็นของบุคคลให้ตรงตามหลักพระธรรมวินัย 

ไม่ใช่แก้พระธรรมวินัยให้ตรงกับความเห็นของบุคคล

แล้วถ้าค้นคว้าศึกษาตรวจสอบสืบสวนหลักพระธรรมวินัยทั่วถึงหมดแล้วไม่พบคำตอบ หรือคำตอบในหลักพระธรรมวินัยนั่นแหละมีข้อหรือมีคำที่ชวนให้เคลือบแคลงสงสัยว่าจริงเท็จถูกผิดเป็นอย่างไรกันแน่ ไม่ชัดไม่ชัวร์ 

ถ้าเป็นแบบนี้จะทำอย่างไร 

กรณีอย่างนี้ หลักพระธรรมวินัยก็บอกไว้ว่า 

……………….

ตตฺถ สพฺเพเหว สมคฺเคหิ สมฺโมทมาเนหิ อวิวทมาเนหิ สิกฺขิตพฺพํ.

แปลความว่า- ในเรื่องนั้น ทั้งหมดต้องพร้อมใจกันร่วมใจกันศึกษาเรียนรู้อย่าให้ขัดแย้งกัน

……………….

ท่านแนะให้ร่วมกันศึกษาเรียนรู้ ไม่ใช่ให้ต่างคนต่างสำนักก็ต่างทำไปตามที่ตนเข้าใจหรือพอใจ 

ญาติมิตรที่ติดตามผมมาย่อมจะจำได้ว่า ผมได้เพียรพยายามเสนอไปยังผู้บริหารการพระศาสนา-ซึ่งก็คือคณะสงฆ์-มาตลอด ว่าขอให้จัดตั้งกองวิชาการพระพุทธศาสนา (หรือจะเรียกชื่ออย่างไรก็ตาม) ระดมผู้ทรงคุณวุฒิทางพระศาสนามาทำงานศึกษาสืบสวนหลักพระธรรมวินัยในข้อที่ยังเข้าใจไม่ตรงกัน หรือที่ยังปฏิบัติลักลั่นกัน หรือที่เป็นปัญหาว่าทำอย่างนั้นได้หรือไม่ได้ ใช่หรือไม่ใช่-แล้วประกาศออกมาเป็นมติของคณะสงฆ์ไทยว่าเรื่องนี้เรื่องนั้นคณะสงฆ์ไทยตกลงพร้อมใจกันให้ทำอย่างนั้นไม่ให้ทำอย่างโน้น แล้วพร้อมใจกันปฏิบัติให้ตรงกันเป็นเอกภาพ 

ทำได้อย่างนี้ก็จะเกิดความเรียบร้อยดีงาม เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาเลื่อมใสของสาธุชน

ทรัพยากรที่จะใช้เพื่อทำงานเช่นนี้มีอยู่พร้อม คนก็มี สถานที่ก็มี อุปกรณ์เครื่องใช้ก็มี เงินก็มี ญาติโยมที่พร้อมจะสนับสนุนก็มี 

แต่น่าเสียดายที่ผู้เป็นใหญ่ในคณะสงฆ์ท่านใช้วิธีเฉย ไม่รับไม่รู้ ไม่ทำอะไรทั้งสิ้น 

เหมือนกับว่าท่านพอใจที่จะให้ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างเข้าใจ ต่างคนต่างทำกันไปตามสบาย

ทั้งๆ ที่หลักพระธรรมวินัยก็บอกไว้ชัดๆ ว่า ให้ร่วมกันคิดให้ร่วมกันศึกษา 

เวลานี้หลายสำนักหลายท่านก็เลยลอยตัวเป็นอิสระ

ท่านเจ้าคุณนั่นว่าอย่างนั้น

ท่านมหารูปนี้ว่าอย่างนี้

ส่วนตัวข้าพเจ้า-ข้าพเจ้าพอใจจะทำแบบนี้ 

จึงกลายเป็นว่าต่างคนต่างทำ หาได้ฟังคำที่ท่านแนะไว้ไม่ 

เวลานี้เรามาถึงตรงนี้กันแล้ว ตรงที่-ทำตามที่ข้าพเจ้าพอใจ ไม่เอาพระธรรมวินัยเป็นหลัก 

แต่จะว่าไม่เอาพระธรรมวินัยเสียเลย ก็ว่าไม่ได้ เอาพระธรรมวินัยอยู่เหมือนกัน แต่เป็นพระธรรมวินัยตามที่ข้าพเจ้าพอใจ และตามความเข้าใจของข้าพเจ้าเท่านั้น 

กรุณาตั้งสติ ถอยไปตั้งหลักกันให้ถูกนะครับ 

ร่วมกันศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมวินัย

อย่าเอาความพอใจส่วนตัวเป็นหลัก 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๕ เมษายน ๒๕๖๓

………………………………………..

กูว่าแล้ว

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *