new normal (บาลีวันละคำ 2,879)
new normal
แกะรอยสัญจรไปเรียนบาลี
ช่วงเวลานี้มีผู้ยกคำฝรั่ง new normal ขึ้นมาพูดกันหนาหู แต่ยังไม่ยุติว่าภาษาไทยควรจะใช้คำว่ากระไร
new ตรงกับบาลีว่า “นว” (นะ-วะ) แปลว่า “ใหม่” คำนี้เข้าใจกันดีอยู่แล้ว
normal คำเดิมคือ norm
พจนานุกรม สอ เสถบุตร บอกว่า norm เป็นคำนาม แปลเป็นไทยว่า –
1. ภาวะปกติ
2. แบบอย่าง, บรรทัดฐาน
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล norm เป็นบาลีดังนี้ :
(1) niyāma นิยาม (นิ-ยา-มะ) = กฎ, ข้อกำหนด
(2) sutta สุตฺต (สุด-ตะ) = เส้นบรรทัด, กฎ
(3) niddassana นิทฺทสฺสน (นิด-ทัด-สะ-นะ) = หลักฐาน, ข้อกำหนด
ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน บัญญัติ norm เป็นคำไทยว่า ปทัฏฐาน, ปทัสถาน, บรรทัดฐาน (ศัพท์ปรัชญา)
โปรดสังเกตว่า “ปทัฏฐาน” เป็นรูปคำบาลีตรงตัว แต่พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี ไม่ได้แปล norm เป็นบาลีว่า “ปทฏฺฐาน” (ปะ-ทัด-ถา-นะ)
ส่วน normal พจนานุกรม สอ เสถบุตร บอกว่าเป็นคำนามก็ได้ เป็นคำวิเศษณ์ก็ได้ แปลเป็นไทยว่า ปกติ, โดยปกติ, ภาวะปกติ, ให้เข้าสู่ภาวะปกติ
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี บอกว่า normal เป็นคำวิเศษณ์ แปลเป็นบาลีดังนี้ :
(1) sābhāvika สาภาวิก (สา-พา-วิ-กะ) = อันเป็นไปตามที่มันจะต้องเป็น
(2) niyamānugata นิยมานุคต (นิ-ยะ-มา-นุ-คะ-ตะ) = อันดำเนินไปตามกฎเกณฑ์
(3) pākatika ปากติก (ปา-กะ-ติ-กะ) = อันเป็นไปตามเคย
ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน บัญญัติ normal เป็นคำไทยว่า ปรกติ (ศัพท์วิทยาศาสตร์, ศัพท์แพทยศาสตร์, ศัพท์แผนที่, ศัพท์คณิตศาสตร์)
“ปรกติ” มีรากเดียวกับ “ปากติก”
เมื่อพูดคำฝรั่งว่า new normal ก็มักได้ยินคำว่า “บรรทัดฐาน” ควบมาด้วย
คำว่า “บรรทัดฐาน” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“บรรทัดฐาน : (คำนาม) แบบแผนสําหรับยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ; เหตุที่ตั้งเป็นเครื่องถึง, เหตุอันใกล้ที่สุด; ปทัสถาน หรือ ปทัฏฐาน ก็ว่า.”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้เป็นดังนี้ –
“บรรทัดฐาน : (คำนาม) แบบแผนสำหรับยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ, ปทัสถาน หรือ ปทัฏฐาน ก็ว่า.”
ก็คือตัดความหมายที่ว่า “เหตุที่ตั้งเป็นเครื่องถึง, เหตุอันใกล้ที่สุด” ออกไป คงเหลือแต่ “แบบแผนสำหรับยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ” แต่ก็ยังคงบอกไว้เหมือนเดิมว่า “ปทัสถาน หรือ ปทัฏฐาน ก็ว่า”
เป็นอันว่า เมื่อพูดว่า new normal เราก็มีคำที่ใช้ในภาษาไทยให้นึกถึง คือ ปรกติ, ปทัฏฐาน, ปทัสถาน, บรรทัดฐาน
ส่วนคำที่มาจากวัดแท้ๆ ดังที่เสนอมาข้างต้น คือ –
“สาภาวิก” อ่านแบบไทยว่า สา-พา-วิก
“นิยมานุคต” อ่านแบบไทยว่า นิ-ยะ-มา-นุ-คด
“ปากติก” อ่านแบบไทยว่า ปา-กะ-ติก
นักเรียนบาลีก็อาจจะเก็บเอาไว้ซ้อมอ่านซ้อมแปลซ้อมตั้งรูปวิเคราะห์เล่นครึ้มๆ พอไม่ให้ลืมหลักไวยากรณ์
หรือท่านผู้ใดคิดคำไทยเพราะๆ ได้-แบบเทวดาดลใจ เราก็อาจจะมีคำไทยไว้พูดให้ติดปากได้อีกสักคำหนึ่งแทนคำฝรั่งว่า new normal จนกว่าราชบัณฑิตยฯ ท่านจะบัญญัติศัพท์เสร็จแล้วส่งลงมาให้ชาวเราใช้พูดกันต่อไป
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าภาษาเป็นสิ่งสมมุติ
: จะวิเศษที่สุดถ้าช่วยกันสมมุติให้เป็นคำไทย
#บาลีวันละคำ (2,879)
30-4-63