บาลีวันละคำ

คลื่น (บาลีวันละคำ 4,032)

คลื่น

ภาษาบาลีว่าอย่างไร

คำว่า “คลื่น” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

คลื่น : (คำนาม) นํ้าในทะเลหรือแม่นํ้าลําคลองเป็นต้น ซึ่งบางส่วนมีอาการเคลื่อนไหวนูนสูงกว่าระดับโดยปรกติแล้วลดลงและแลเห็นเคลื่อนไปเป็นระยะยาวหรือสั้นบนผิวนํ้า, โดยปริยายใช้แก่สิ่งอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น คลื่นเสียง คลื่นมนุษย์ ผมดัดเป็นคลื่น ถนนเป็นคลื่น.”

จะหาศัพท์บาลีที่เราไม่คุ้นได้อย่างไร วิธีที่ผู้เขียนบาลีวันละคำใช้อยู่ทำดังนี้ –

ขั้นที่ 1 ดูในพจนานุกรมไทย-อังกฤษ ว่าภาษาไทยคำนั้นภาษาอังกฤษว่าอย่างไร

ขั้นที่ 2 ดูในพจนานุกรมอังกฤษ-บาลี ว่าภาษาอังกฤษคำนั้นภาษาบาลีว่าอย่างไร

ขั้นที่ 3 ดูในพจนานุกรมบาลี-ไทย ว่า ภาษาบาลีคำนั้นแปลเป็นไทยว่าอย่างไร

พจนานุกรมที่ต้องใช้เป็นคู่มือมี 3 เล่ม คือ –

1 พจนานุกรมไทย-อังกฤษ ที่ใช้ประจำคือ ฉบับของ สอ เสถบุตร

2 พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี ที่ใช้ประจำคือ ENGLISH-PALI DICTIONARY ของ A.P. BUDDHATTA MAHTHERA จัดพิมพ์โดย THE PALI TEXT SOCIETY 

3 พจนานุกรมบาลี-ไทย ที่ใช้ประจำคือ พจนานุกรมบาลี-ไทย-อังกฤษ ฉบับภูมิพโลภิกขุ ซึ่งใช้ THE PALI TEXT SOCIETY’S PALI-ENGLISH DICTIONARY EDITED BY T. W. RHYS DAVIDS เป็นต้นฉบับแปล เท่ากับได้ดูพจนานุกรมควบกัน 2 ฉบับ

วิธีเช่นว่านี้ก็คือ อาศัยพจนานุกรมเป็นครู โดยยอมรับว่าเราไม่ใช่ผู้รู้ จึงต้องอาศัยครูคือพจนานุกรม

คำว่า “คลื่น” พจนานุกรมไทย-อังกฤษ แปลเป็นอังกฤษว่า waves, swells, surges, billows surfs

จับเอาเฉพาะคำที่เป็นสามัญคือ waves

คำว่า waves พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปลเป็นบาลีดังนี้ –

(1) aṇṇa อณฺณ (อัน-นะ) 

ศัพท์นี้แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ส่งเสียงได้” (2) “สิ่งที่ซัดไป

คำที่เราค่อนข้างคุ้นคือ “อรรณพ” หรือ “มหรรณพ” แปลว่า “ที่ซึ่งมีคลื่น” หมายถึง ทะเล หรือห้วงน้ำ ก็มาจากคำว่า “อณฺณ” = คลี่น คำนี้

(2) ummi อุมฺมิ (อุม-มิ) 

(3) ūmi อูมิ (อู-มิ) 

2 คำนี้เป็นคำเดียวกัน คือถ้า อุ– ต้องซ้อน มฺ = อุมฺมิ ถ้า อู– ไม่ต้องซ้อน มฺ = อูมิ 

อุมฺมิอูมิ” แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเหตุให้กังวลใจ

คำนี้ภาษาไทยเราไม่ได้เอามาใช้ ไม่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

(4) ullola อุลฺโลล (อุน-โล-ละ) 

ศัพท์นี้แปลตามศัพท์ว่า (1) “คลื่นที่บ้าคลั่ง” (2) “คลื่นที่เป็นไปปกติ” 

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปลว่า คลื่นยักษ์, คลื่นสึมามิ, ระลอกคลื่น

(5) taraṅga ตรงฺค (ตะ-รัง-คะ) 

ศัพท์นี้แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ซัดข้ามไป” (2) “ผู้ซัดไปสู่ฝั่ง” 

ใช้ในภาษาไทยเป็น “ตรังค-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “ตรังค์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ตรังค-, ตรังค์ : (คำแบบ) (คำนาม) ลูกคลื่น. (ป., ส.).”

(5) vīci วีจิ (วี-จิ)

ศัพท์นี้แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ก่อตัวขึ้นด้วยวิธีแปลกๆ” (2) “ผู้ก่อตัวขึ้นอย่างพิศวง

วีจิ” นอกจากหมายถึง คลื่น แล้ว ยังหมายถึง ช่องว่าง หรือช่วงเวลาเว้นว่าง อีกด้วย

คำที่เราคุ้นกันในภาษาไทยคำหนึ่ง “อเวจี” อันเป็นชื่อนรกขุมที่ลึกที่สุดและเสวยทุกข์มากที่สุด ก็มาจากคำนี้ 

อเวจี” มาจาก (แปลงมาจาก = ไม่, ไม่ใช่, ไม่มี) + วีจิ = อวีจิ > อเวจิ > อเวจี แปลตามศัพท์ว่า (1) “นรกที่มีเปลวไฟไม่ขาดสาย” (2) “นรกที่ไม่มีคลื่นแห่งความสุขแม้แต่น้อย” (3) “นรกที่ไม่มีเวลาเว้นว่างจากความทุกข์

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ใช้งานให้ถูกกับคนที่จะทำ

: ใช้คำให้ถูกกับความหมายที่ต้องการ

#บาลีวันละคำ (4,032)

27-6-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *