บาลีวันละคำ

สามัญสำนึก (บาลีวันละคำ 2,187)

สามัญสำนึก

อ่านว่า สา-มัน-สำ-นึก

ประกอบด้วยคำว่า สามัญ + สำนึก

(๑) “สามัญ

บาลีเป็น “สามญฺญ” อ่านว่า สา-มัน-ยะ รากศัพท์มาจาก สมาน + ณฺย ปัจจัย

(ก) สมาน บาลีอ่านว่า สะ-มา-นะ รากศัพท์มาจาก จาก สมฺ (ธาตุ = ห้อย, ย้อย) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ยืดเสียง อะ ที่ –มฺ เป็น อา

: สมฺ + ยุ > อน = สมน > สมาน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ห้อยอยู่” คืออยู่เคียงคู่กัน หมายถึง เหมือนกัน, เสมอกัน, เท่ากัน, อย่างเดียวกัน (similar, equal, even, same)

(ข) สมาน + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ (ณฺย > ), ทีฆะ อะ ที่ -(มาน) เป็น สา– ด้วยอำนาจ ณฺย ปัจจัย (สมาน > สามาน), แปลง อาน ที่ –มาน กับ เป็น ญฺญ

: สมาน + ณฺย = สมานณฺย > สมานฺย > สามานฺย > สามญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เสมอกัน

สามญฺญ” (นปุงสกลิงค์) ตามรากศัพท์ดังแสดงมานี้ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) เหมือนกัน, เสมอกัน, เท่ากัน, อย่างเดียวกัน (similar, equal, even, same)

(2) สามัญ, ความเสมอกัน, การอนุวัตตาม; ความเป็นหนึ่ง, วงสมาคม (generality; equality, conformity; unity, company)

สามญฺญ” ในภาษาไทยใช้เป็น “สามัญ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สามัญ ๒ : (คำวิเศษณ์) ปรกติ, ธรรมดา, เช่น ชนชั้นสามัญ คนสามัญ. (ป. สามญฺญ; ส. สามานฺย).”

(๒) “สำนึก

เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สำนึก : (คำกริยา) รู้สึกซาบซึ้ง เช่น สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ สำนึกถึงบุญคุณของพ่อแม่ ครูบาอาจารย์.”

พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่า “สำนึก” เป็นคำที่มาจากภาษาอะไร แต่เมื่อคิดถึงการกลายคำ “” ที่ถอยกลับไปหารูปเดิมได้ มักมาจาก “” เช่น

สนุก (สนุข) < สุข

สนั่น < สั่น

สำนวด < สวด

สำนึง < สึง

สำเนียง < เสียง

ตามหลักนี้ “สำนึก” ก็ควรจะมาจาก “สึก

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “สึก” ไว้ 3 คำบอกไว้ดังนี้ –

(1) สึก ๑ : (คำกริยา) กร่อนไป, ร่อยหรอไป, เช่น รองเท้าสึก บันไดสึก.

(2) สึก ๒ : (ภาษาปาก) (คำกริยา) ลาสิกขา, ลาสึก ก็ว่า.

(3) สึก ๓ : (คำนาม) การรู้ตัว, การระลึกได้, การจําได้, มักใช้ควบกับคํา รู้ เป็น รู้สึก และแผลงว่า สํานึก ก็มี.

เป็นอันว่าตามมาถูกทาง คือ “สำนึก” แผลงมาจาก “สึก” ที่หมายถึง การรู้ตัว, การระลึกได้, การจําได้

แต่ “สึก” จะมาจากภาษาอะไร ถ้าประสงค์จะรู้ก็ต้องสืบหากันต่อไป

สามัญ + สำนึก = สามัญสำนึก เป็นการประสมคำอิงหลักบาลีสันสกฤต คือแปลจากหลังมาหน้าว่า “รู้สึกตัว ( = สำนึก) ตามวิสัยธรรมดาที่ควรจะต้องรู้ ( = สามัญ)”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สามัญสำนึก : (คำนาม) ความสำนึกหรือความเฉลียวใจที่คนปรกติธรรมดาทั่วไปควรจะต้องรู้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำสั่งสอน เช่น ทำอะไรให้มีสามัญสำนึกเสียบ้างว่าอะไรควรอะไรไม่ควร.”

คำว่า “สามัญสำนึก” พจนานุกรมทั่วไปแปลเป็นอังกฤษว่า common sense

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล common sense เป็นบาลีว่า –

pakatinicchaya ปกตินิจฺฉย (ปะ-กะ-ติ-นิด-ฉะ-ยะ) = การตัดสินใจได้ตามปกติธรรมดา (ว่าอะไรควรไม่ควร)

ข้อสังเกต :

มีคำที่มักพูดกันว่า คนเราจะทำอะไรถูกผิดควรไม่ควรย่อมขึ้นอยู่กับสามัญสำนึกของแต่ละคน

ทำให้ชวนสงสัยว่า – แล้วสามัญสำนึกของแต่ละคนขึ้นอยู่กับอะไร? เมื่อพบเห็นกรณีเดียวกัน สามัญสำนึกของแต่ละคนจะเหมือนกันหรือไม่? จริงหรือที่ว่าสามัญสำนึกเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำสั่งสอน?

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ไม่มีสามัญสำนึกก็ไม่เป็นไร

: เพียงแต่ขอให้รู้ไว้-ว่านั่นแหละคือเลว

#บาลีวันละคำ (2,187)

8-6-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย