บาลีวันละคำ

ไวยาวัจกร (บาลีวันละคำ 519)

ไวยาวัจกร

อ่านว่า ไว-ยา-วัด-จะ-กอน

บาลีเป็น “เวยฺยาวจฺจกร” อ่านว่า เว็ย-ยา-วัด-จะ-กะ-ระ

ประกอบด้วย เวยฺยาวจฺจ + กร

เวยฺยาวจฺจ” รากศัพท์มาจาก วิ (= พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + อา (= ทั่ว, ยิ่ง) + วฏ (ธาตุ = หมุน, แจก) + ณฺย (ปัจจัย)

วิ + อา = วฺยา + วฏ = วฺยาวฏ แปลว่า ให้บริการ, ขวนขวาย, มีความกระตือรือร้น, กระหาย, ใจจดจ่อ, ตั้งใจ, วุ่นอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

วฺยาวฏ + ณฺย : วฺยา > เวยฺยา + วฏ > วจฺจ = เวยฺยาวจฺจ แปลว่า “ภาวะแห่งผู้ขวนขวาย” = ความเป็นผู้ขวนขวาย หมายถึง การบริการ, การเอาใจใส่, การรับใช้, การขวนขวายช่วยเหลือ, หน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย, หน้าที่การงาน

กร” แปลว่า ผู้ทำ

เวยฺยาวจฺจ + กร = เวยฺยาวจฺจกร แปลว่า “ผู้ทำการขวนขวายช่วยเหลือ” หมายถึง ผู้ทำกิจธุระแทนสงฆ์, ผู้ช่วยขวนขวายทำกิจธุระของสงฆ์, ผู้ช่วยเหลือรับใช้พระ

เวยฺยาวจฺจกร ภาษาไทยใช้ว่า “ไวยาวัจกร” พจน.42 บอกไว้ว่า

ไวยาวัจกร : คฤหัสถ์ผู้ได้รับแต่งตั้งให้มีหน้าที่เบิกจ่ายนิตยภัตและมีอํานาจหน้าที่ดูแลรักษาจัดการทรัพย์สินของวัดตามที่เจ้าอาวาสมอบหมายเป็นหนังสือ”

ในคัมภีร์แสดงสิทธิพิเศษของไวยาวัจกรไว้อย่างหนึ่ง คือ อาหารที่ภิกษุบิณฑบาตได้มายังไม่ได้ฉัน จะให้แก่ผู้อื่นที่ไม่ใช่ภิกษุด้วยกันไม่ได้ นอกจากบุคคล 6 จำพวก 1 ใน 6 นั้น คือ ไวยาวัจกร

เคยสงสัยบ้างหรือไม่ :

ไวยาวัจกรรับใช้สงฆ์ หวังบุญกุศล

คนที่ชอบพูดว่า “รับใช้ประชาชน” เขาหวังอะไร ?

——————-

(Worawan Wanwil อยากทราบว่า “ไวยากรณ์” กับ “ไวยาวัจกร” เขียนต่างกันไม่มาก รากของคำเป็นอย่างไร)

16-10-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย