บาลีวันละคำ

สุพรรณบัฏ ไม่ใช่ “สุพรรณบัตร” (บาลีวันละคำ 2,906)

สุพรรณบัฏ ไม่ใช่ “สุพรรณบัตร”

อ่านว่า สุ-พัน-นะ-บัด

ประกอบด้วยคำว่า สุพรรณ + บัฏ

(๑) “สุพรรณ

บาลีเป็น “สุวณฺณ” (สุ-วัน-นะ) ประสมกันขึ้นจาก สุ + วณฺณ

(ก) “สุ” เป็นคำอุปสรรค ใช้เติมหน้าคำอื่น แปลว่า ดี, งาม, ง่าย

(ข) “วณฺณ” (วัน-นะ) รากศัพท์มาจาก วณฺณฺ (ธาตุ = ประกาศ, แสดง) + ปัจจัย

: วณฺณฺ + = วณฺณ (ปุงลิงค์, นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่แสดงออก

วณฺณ” ในภาษาบาลีมีความหมายหลายอย่าง ในที่นี้หมายถึง สี (colour)

สุ + วณฺณ = สุวณฺณ แปลตามศัพท์ว่า “สีดี” หรือ “สีงาม” หมายถึง ทองคำ (gold)

สุวณฺณ” สันสกฤตเป็น “สุวรฺณ” ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “สุวรรณ” แล้วแผลงเป็น “สุพรรณ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สุพรรณ, สุพรรณ– : (คำนาม) ทองคํา. (ส. สุวรฺณ; ป. สุวณฺณ).”

(๒) “บัฏ

บาลีเป็น “ปฏ” อ่านว่า ปะ-ตะ (- ฏ ปฏัก) รากศัพท์มาจาก –

(1) ปฏฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + (อะ) ปัจจัย

: ปฏ + = ปฏ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเครื่องให้ไปได้” (คือทำให้ไปไหนได้สะดวก) (2) “สิ่งที่ถึงความเก่าได้

(2) (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + ฏิ (ธาตุ = ปกปิด) + (อะ) ปัจจัย, ลบสระที่สุดธาตุ (ฏิ > )

: + ฏิ = ปฏิ + = ปฏิ > ปฏ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเครื่องปกปิดหิริโอตตัปปะไว้โดยทั่วไป” (2) “สิ่งที่ปกปิดอวัยวะที่น่าละอายไว้

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปฏ” (ปุงลิงค์) ว่า cloth; cloak, garment (ผ้า; เสื้อคลุม, เสื้อผ้า)

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “ปฏ” ว่า แผ่น, ผ้า, แผ่นผ้า, เครื่องนุ่งห่ม

บาลี “ปฏ” สันสกฤตก็เป็น “ปฏ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปฏ : (คำนาม) ผ้างาม; ผ้าสี; ผ้าผืน. ฯลฯ; ผ้าใบ; ผ้าเต๊นท์, ผ้ากั้นปฏมณฑป; เครื่องแต่งตัวอันเปนผ้าสี; พัสดุสำหรับมุงหลังคา, หลังคา; fine cloth; coloured cloth; a sheet of cloth, &c.; canvas; a tent-cloth, a screen of cloth surrounding a tent; a coloured garment; a thatch, a roof.”

ปฏ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “บัฏ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บัฏ : (คำนาม) ผืนผ้า, แผ่น เช่น หิรัญบัฏ. (ป., ส. ปฏ).”

สุพรรณ + บัฏ = สุพรรณบัฏ แปลตามศัพท์ว่า “แผ่นทอง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สุพรรณบัฏ : (คำราชาศัพท์) (คำนาม) แผ่นทองคํารูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่จารึกพระนามพระมหากษัตริย์ พระบรมราชวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป เจ้าประเทศราช และสมเด็จพระสังฆราช เรียกว่า พระสุพรรณบัฏ; แผ่นทองคํารูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่จารึกราชทินนามของสมเด็จพระราชาคณะ ขุนนางชั้นสมเด็จเจ้าพระยา และขุนนางชั้นเจ้าพระยาบางคน ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นพิเศษ; (คำโบราณ) แผ่นทองคำที่จารึกพระราชสาส์น.”

โปรดสังเกต :

๑ ถ้าจารึกพระนามพระมหากษัตริย์ พระบรมราชวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป เจ้าประเทศราช และสมเด็จพระสังฆราช เรียกว่า “พระสุพรรณบัฏ” (มี “พระ” นำหน้าด้วย)

๒ ถ้าจารึกราชทินนามของสมเด็จพระราชาคณะ ขุนนางชั้นสมเด็จเจ้าพระยา และขุนนางชั้นเจ้าพระยาบางคน ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นพิเศษ เรียกว่า “สุพรรณบัฏ” (ไม่มี “พระ”)

อภิปราย :

สุพรรณบัฏ” คำนี้ มักมีผู้เขียนเป็น “สุพรรณบัตร” คือไปเข้าใจว่าเสียง “บัด” ในทีนี้คือ “บัตร” ที่เราคุ้นตากันในภาษาไทย

และเมื่อคำนึงต่อไปว่า “บัตร” หมายถึง ใบหรือแผ่น ก็ยิ่งแน่ใจว่า คำนี้เขียนเป็น “สุพรรณบัตร” ถูกต้องแน่แล้ว

โปรดทราบว่า “สุพรรณบัตร” เป็นคำที่เขียนผิด

คำว่า “บัตร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บัตร : (คำนาม) แผ่นเอกสารแสดงสิทธิของผู้ใช้เป็นต้น มักทำด้วยกระดาษรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เช่น บัตรประจำตัว บัตรเลือกตั้ง บัตรสมนาคุณ; ภาชนะทำด้วยกาบกล้วย เป็นรูปกระบะสำหรับวางเครื่องเซ่นสังเวย; ใบไม้, กลีบดอกไม้ เช่น ปทุมบัตร; ขนปีก, ปีก เช่น หากันกระสันโบย บัตรเรียกมารังเรียง (สมุทรโฆษ). (ส. ปตฺร; ป. ปตฺต).”

จะเห็นได้ว่า ความหมายเป็นคนละอย่างกับ “บัฏ

อนึ่ง โปรดสังเกตด้วยว่า “สุพรรณบัฏ” คำว่า “บัฏ” ฏ ปฏัก สะกด ไม่ใช่ ฎ ชฎา

ในภาษาไทย ฎ ชฎา กับ ฏ ปฏัก มองเผินๆ ไม่เพ่งให้ดี จะเห็นว่าเหมือนกันมาก ต่างกันที่ ฎ ชฎา ฐานไม่มีหยัก ส่วน ฏ ปฏัก ฐานมีหยัก บางทีคนเขียนจงใจเขียนเป็น ฎ ชฎา แต่คนอ่านเข้าใจว่าเป็น ฏ ปฏัก ถูกต้องแล้ว ทั้งๆ ที่ผิด

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คำถูกที่เขียนไว้บนก้อนอิฐ

มีค่ากว่าคำผิดที่จารึกบนแผ่นทอง ฉันใด

: บัณฑิตอยู่กระท่อมซอมซ่อ

ก็ควรคารวะยิ่งกว่ามหาโจรที่อยู่คฤหาสน์หรูหรา ฉันนั้น

#บาลีวันละคำ (2,906)

27-5-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *