บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ใส่บาตรให้ถูกวิธี (๔)

ใส่บาตรให้ถูกวิธี (๔)

——————–

รู้วินัยเกี่ยวกับการบิณฑบาตของพระอีกสักเล็กน้อยพอเป็นพื้นฐาน เมื่อเห็นพระบิณฑบาต หรือเมื่อรอใส่บาตร จะได้มองออก บอกถูก ทำเป็น 

(๑) พระเณรออกบิณฑบาตจะไม่สวมรองเท้า 

เพราะมีพระวินัยบัญญัติ “ห้ามสวมรองเท้าเข้าบ้าน” และท่านวินิจฉัยเป็นหลักการว่า การไปบิณฑบาตถือว่าเป็นการ “เข้าบ้าน” ทั้งนี้เพราะดั้งเดิมแท้ๆ ชาวบ้านหุงต้มอาหารกันที่บ้าน พระไปรับอาหารจากชาวบ้านก็ต้องไปที่บ้าน การออกบิณฑบาตจึงเป็นการเข้าไปในบ้าน 

ใครจะถกเถียง จะวิจารณ์ วิพากษ์ จะเห็นด้วยไม่เห็นด้วย หรือจะเห็นเป็นประการใด ยกไปพูดกันอีกเวทีหนึ่ง เฉพาะที่นี่จับหลักไว้แค่นี้พอ

ทุกวันนี้เราพลาดกันตรงนี้ คือไม่ศึกษาเรียนรู้หลักเดิม โผล่ขึ้นมาก็เอาความเห็นความเข้าใจของตัวเองเป็นหลักกันทันที 

ถอยไปตั้งหลักก่อน

แล้วจึงค่อยมาถึงความคิดเห็นส่วนตัว

(๒) เวลาออกบิณฑบาตคือตั้งแต่อรุณขึ้นไปจนถึงสาย สายสุดๆ ก็ไม่เกินเที่ยง คือต้องมีเวลาฉันเสร็จก่อนเที่ยง 

สมัยหนึ่งมีพระเกจิรูปหนึ่งจัดกิจกรรมบิณฑบาตจนเที่ยง จนหลังเที่ยง ญาติโยมที่เลื่อมใสก็ยังใส่บาตร นั่นคือไม่รู้ หรือไม่ก็ไม่เอื้อเฟื้อต่อพระวินัย

(๓) ตามปกติ พระออกบิณฑบาตก็คือต้องเดิน จากบ้านนั้นไปบ้านโน้น และมีระเบียบให้เดินรับไปตามลำดับบ้าน เห็นบ้านไหนมีอาหารไม่ดีไม่ชอบ ก็ไม่รับ ไปเลือกรับบ้านที่มีอาหารดีกว่า แบบนี้ห้ามทำ ระเบียบนี้เป็นข้อยืนยันว่า ไปบิณฑบาตคือต้องเดินไปตามบ้าน 

ปัจจุบันมีพระยืนรับบิณฑบาตอยู่กับที่ จนเดี๋ยวนี้ถึงกับนั่งบิณฑบาตกันแล้ว

ไม่ต้องไปเถียงกับพระ และไม่ต้องเถียงกันว่าผิดหรือถูก เราทำเพียงแค่รับรู้หลักการเดิมของท่านไว้เป็นความรู้ของเรา

ส่วนจะผิดจะถูก จะเอายังไงกันแน่ ปล่อยให้คณะสงฆ์ท่านจัดการ 

เท่าที่ผมทราบ และสังเกตเห็น ปัจจุบันมีคนใส่บาตรจำนวนมากที่ไม่ใส่พระที่ยืนอยู่กับที่ แต่รอใส่พระที่เดินบิณฑบาต 

(๔) โปรดรับทราบหลักการว่า พระออกบิณฑบาตก็เพื่อหาอาหารมาพอเลี้ยงชีวิตประจำวันเพื่อให้มีกำลังศึกษาและปฏิบัติธรรมเท่านั้น ได้อาหารพอสำหรับวันนั้นแล้วก็หยุดก็เลิก หลักการมีอยู่อย่างนี้ 

เห็นใครทำไม่ตรงตามนี้ ก็พึงทราบไว้ว่าทำไม่ตรงตามหลักการ 

(๕) ปริมาณอาหารประจำวันอย่างมากที่สุดก็เต็มบาตร จึงมีระเบียบให้พระรับอาหารบิณฑบาตได้พอเต็มบาตรเท่านั้น

ในกรณีที่มีญาติโยมใส่บาตรมาก ระเบียบก็อนุโลมให้รับได้ไม่เกิน ๓ บาตร คือเต็มบาตรแล้วถ่ายออก รับต่อไปอีก พอเต็ม ๓ บาตรก็ต้องหยุด พอแค่นั้น 

อาหารที่รับมามากเช่นนั้น ระเบียบกำหนดให้เอาไปแบ่งแจกให้พระเณรอื่นๆ ไม่ให้เก็บตุนไว้คนเดียว นักใส่บาตรโปรดช่วยกันรับทราบ

เห็นขนกลับวัดเป็นคันรถๆ ก็ไม่ต้องไปทะเลาะกับพระหรือกับใคร เพียงแค่เรารับรู้ว่าระเบียบมีไว้อย่างไร พอแล้ว ใครทำผิดระเบียบก็รับโทษรับกรรมกันเอง 

กรณีรับบิณฑบาตในโอกาสพิเศษ เช่นตักบาตรเทโว ถ่ายกันเกิน ๓ บาตร แบบนั้นจะว่าอย่างไร เก็บไปถกเถียงกันอีกเวทีหนึ่ง 

(๖) ควรรู้ไว้อีกเรื่องหนึ่ง เป็นความรู้พิเศษ นั่นก็คือ อาหารที่ไปบิณฑบาตได้มา พระยังไม่ได้ฉัน ภาษาพระวินัยเรียกว่า “อนามัฏฐบิณฑบาต” จะเอาไปให้ฆราวาสญาติโยมกินก่อนไม่ได้ เว้นไว้แต่บุคคลที่ได้รับการยกเว้น เช่นพ่อแม่ของพระเป็นต้น

นี่เป็นหลักความรู้พื้นฐานที่นักใส่บาตรควรรู้ไว้ เท่าที่พอจะนึกออกและประมวลได้ในขณะนี้

รู้แล้ว เข้าใจแล้ว ยังคงยืนยันอยากใส่บาตรอยู่อีก หรือจะเลิกใส่บาตร เปลี่ยนไปทำบุญด้วยวิธีอื่น เป็นสิทธิของเราที่จะเลือกได้ตามใจปรารถนา

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๓

๑๙:๑๔

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *