ใส่บาตรให้ถูกวิธี (๕)
ใส่บาตรให้ถูกวิธี (๕)
—————–
เท่าที่อธิบายมาทั้งหมด น่าจะเพียงพอแล้วที่นักใส่บาตรทั้งหลายจะใส่บาตรให้ถูกวิธีได้แล้ว
ต่อไปนี้ก็ไปใส่บาตรกันเถอะ
ถ้าเป็นสมัยก่อน ใส่บาตรกันที่หน้าบ้าน เขาจะทำแป้นไม้เตี้ยๆ พอตั้งขันข้าวได้ไว้ที่หน้าบ้าน
บ้านไหนมีแป้นไม้อยู่หน้าบ้าน ก็รู้ได้เลยว่าบ้านนั้นใส่บาตรประจำ เป็นที่พึ่งอันเกษมของพระเณร
สมัยนี้อาจไม่ได้ทำเช่นนั้นแล้ว ก็ไม่เป็นไร สะดวกที่ไหนใส่ที่นั่น สะดวกแบบไหนใส่แบบนั้น
ยึดหลักการไว้ว่า ใส่บาตรด้วยกิริยาที่เคารพ
กิริยาอย่างไรเรียกว่าเคารพ ก็ไปหาคำจำกัดความกันเอา
กิริยาเคารพที่ยอมรับกันเป็นมาตรฐานก็คือ
ถอดรองเท้า
ไม่สวมหมวก
ไม่กางร่ม
หลักของเราชาวพุทธก็คือ ปรับปรุงพัฒนาตัวเองขึ้นไปหามาตรฐาน ไม่ใช่ดึงมาตรฐานลงมาหาความรักง่ายใฝ่สะดวกของตัวเอง
ผมสังเกตเห็นว่า คนไทยสมัยนี้แปลก อะไรที่เป็นมารยาทมาตรฐานของต่างชาติต่างภาษา เราจะระริกระรี้กระปรี้กระเปร่าที่จะพยายามปฏิบัติตาม รู้สึกเหมือนเป็นเกียรติอันยิ่งใหญ่ หรือเป็นความโก้
แต่อะไรที่เป็นมารยาทมาตรฐานของเราเอง-โดยเฉพาะมารยาทกับพระ มารยาทในวัด เราจะอึดอัดขัดข้องเป็นอย่างมาก ปฏิบัติตามไม่ได้ ทำไม่สะดวกขึ้นมาทันที
ไม่ต้องดูอื่นไกล ไปเที่ยวพม่า พม่าบังคับให้ถอดรองเท้าเมื่อเข้าสู่ลานพระเจดีย์ พี่ไทยยิ้มร่าปฏิบัติตามแต่โดยดี รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง
แต่พออยู่ในบ้านตัวเอง ลำบากยากเข็ญเหลือประมาณที่จะถอดรองเท้า รู้สึกเสียเกียรติมากๆ ที่ต้องถอดรองเท้า
แล้วก็อ้างเหตุผลสารพัดที่จะไม่ต้องถอดรองเท้า ไม่รู้จะอ้างอะไรก็-ถ้ารองเท้าฉันหายใครจะรับผิดชอบ เจริญเลย
แล้วก็-เขากับเราไม่เหมือนกัน เขามีอย่างนั้น เราไม่มีอย่างนี้ เขาทำอย่างนี้ แต่เราไม่ได้ทำอย่างนั้น ฯลฯ เพราะฉะนั้นจะให้ถอดรองเท้าเหมือนเขา เราทำไม่ได้หรอก
ที่ได้ยินยกมาอ้างแบบนี้ก็มี-ก็ทีท่านผู้นั้นท่านผู้โน้นยังใส่รองเท้าเข้าโบสถ์ แบบนั้นจะว่าอย่างไรกันเล่า ลองอธิบายมาซิ
สรุปก็คือ ไม่ประสงค์จะปฏิบัติตามมารยาทมาตรฐาน แต่จะเอาตามความสะดวกและความพอใจของตัวเองนั่นแหละ
ก็-เชิญตามสบายนะครับ อย่าได้เกรงใจ พูดหลักการให้ฟังเท่านั้น ไม่ได้บังคับให้ต้องทำตาม
คนโน้นคนนั้นยังทำอย่างโน้นอย่างนั้น ก็เป็นเรื่องของคนโน้นคนนั้น ไม่ต้องยกเอามาอ้าง
เอาตัวเราเป็นหลัก เราจะทำตามมาตรฐานหรือไม่ทำ ดูกันแค่นี้
มารยาทในการใส่บาตรนี่ก็เช่นกัน
จะอ้างเหตุผลอะไรในการไม่ถอดรองเท้า พื้นแฉะ เท้าเปื้อน เชื้อโรคเข้าเท้าคุ้มกับที่จะได้บุญไหม ฯลฯ
จะอ้างเหตุผลอะไรอะไรในการสวมหมวก ไม่สบาย ถอดหมวกแล้วปวดหัว ฯลฯ
จะอ้างเหตุผลอะไรอะไรในการกางร่ม ฝนตก แดดร้อน ฯลฯ
เชิญตามสะดวก
ผมเพียงแค่บอกหลักการ-วิธีแสดงความเคารพในการใส่บาตรให้ถูกวิธี ใครจะมีเหตุผลอะไรในการปฏิบัติเป็นอย่างอื่น -เชิญตามสบาย
เคยเห็นคนนั่งในรถเก๋ง ให้พระไปยืนรับบาตรข้างประตูรถ พูดง่ายๆ ว่าใส่บาตรกันในรถนั่นเลย
อันนี้ก็พอสันนิษฐานเข้าข้างกันได้ว่า คงเจ็บป่วย ยืนไม่ได้ ลงจากรถไม่สะดวกอย่างยิ่ง ขออนุญาตนั่งใส่ในรถ
แต่ถ้าปกติดีทุกอย่าง เพียงแต่ขี้เกียจลงจากรถด้วยเหตุผลสารพัด
ขออนุญาตแนะนำว่า-กรุณาอย่าทำ
—————
นึกขึ้นมาได้อีกเรื่องหนึ่ง ควรจะพูดไว้ตั้งแต่ตอนก่อน ขออภัยที่เอามาแทรกไว้ตรงนี้
นั่นก็คือ เวลาพระเดินบิณฑบาต ถ้าเดินไปทางเดียวกันตั้งแต่ ๒ รูปขึ้นไป (ปกติก็จะเป็นพระวัดเดียวกัน) ท่านจะเดินแถวเรียงหนึ่ง ตามลำดับอาวุโส
ถ้าเห็นพระเดินเรียงแถวหน้ากระดาน โปรดทราบว่าท่านไม่ได้รับการศึกษาอบรมมา
สมัยผมบวช พระอาจารย์สอนว่า เดินบิณฑบาตให้มองไปข้างหน้าชั่วแอก
คำว่า “ชั่วแอก” ท่านจำกัดความว่า ไกลประมาณ ๔ ศอก แต่คำบาลีว่า “โอกฺขิตฺตจกฺขุ” (โอก-ขิด-ตะ-จัก-ขุ) โดยเจตนารมณ์หมายถึงสำรวมตา คือไม่ใช่เดินแบบชมบ้านชมเมืองหรือชมวิว
เคยได้ยิน “ลูกอีช่างติ” วิจารณ์กรณีให้มองไปข้างหน้าชั่วแอกว่า มาเดินแบบนั้นในเมืองรถชนตายกันพอดี
บ่งบอกว่า “มีปากเอาไว้พูด มี…” โดยแท้ ทั้งนี้เพราะมีคำอธิบายที่ท่านแสดงประกอบไว้ในที่ต่างๆ ว่า … ภิกษุผู้ไม่งมงายตามตัวหนังสือย่อมแลเห็นช้างร้ายม้าร้ายอันมาตามทางและรู้จักหลบหลีกอย่างคนทั้งหลายเขาทำกัน …
ท่านไม่โง่เหมือนคนวิจารณ์แน่นอน
นอกจากให้มองชั่วแอกแล้ว พระอาจารย์ยังสอน “อุปเท่ห์” ให้ด้วยว่า ทุกย่างก้าวตั้งแต่ออกจากวัดจนกลับเข้าวัดให้ภาวนาว่า “นามรูปํ อนิจฺจํ นามรูปํ ทุกฺขํ นามรูปํ อนตฺตา”
การออกบิณฑบาตจึงเป็นโอกาสเจริญกรรมฐานไปในตัว
อีกเรื่องหนึ่งที่พระอาจารย์สอนผมไว้ก็คือ ไปบิณฑบาต ไม่จำเป็นจริงๆ อย่าพูดคุยกับญาติโยม
ถึงบ้านที่ใส่บาตร เข้าไปยืนสงบ เปิดบาตร เขาใส่เสร็จแล้วปิดบาตร แล้วเดินต่อไป ไม่ต้องพูด ไม่ต้องชวนคุย ไม่ต้องปากหวานขานคะขาอะไรกับโยมทั้งสิ้น ท่านสอนไว้อย่างนี้
เรื่องนี้ก็มาเข้าล็อค-ใส่บาตรเสร็จ ให้พรกันข้างทาง ที่นิยมประพฤติกันในเวลานี้
เป็นเรื่องที่ควรทำความเข้าใจกันให้เคลียร์
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๓
๑๑:๕๐
…………………………….
…………………………….