วันพระ (บาลีวันละคำ 2,908)
วันพระ
อย่าทำคำดีๆ ให้เลอะเทอะ
นานมาแล้ว ผู้เขียนบาลีวันละคำได้พบข้อความที่มีผู้เขียนประกอบภาพว่า
“วันนี้วันพระ เณรไม่เกี่ยว”
“วันนี้ วันพระ น้อยใจ ไม่มีวันเณร”
เมื่อวานซืนได้พบอีกคำหนึ่ง มีผู้เขียนว่า
“มีวันพระแล้ว น่าจะมีวันชีบ้าง”
คำที่ยกมานี้ ไม่ว่าจะเขียนหรือพูดด้วยเจตนาอะไรก็ตาม ควรจะต้องทำความเข้าใจกันให้ถูกต้อง
…………..
ขอได้โปรดช่วยกันจำไว้และช่วยกันสั่งสอนลูกหลานว่า “พระ” ในคำว่า “วันพระ” ไม่ใช่บุคคลที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า monk หรือ priest หรือที่คำบาลีเรียกว่า “ภิกฺขุ” ใช้ในภาษาไทยว่า “ภิกษุ” คนไทยทั่วไปเรียกว่า “พระ”
“พระ” ในคำว่า “วันพระ” ไม่ใช่แบบนั้น
ความหมายของคำว่า “พระ” ในภาษาไทยตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีดังนี้ –
…………..
(๑) (คำนาม) : คำใช้แทนชื่อเรียกภิกษุสงฆ์ เช่น วัดนี้มีพระกี่รูป พระลงโบสถ์, พระพุทธรูป เช่น ชักพระ ไหว้พระในโบสถ์, พระพุทธเจ้า หรือเนื่องด้วยพระพุทธเจ้า เช่น เมืองพระ คำพระ พระมาตรัส, ชื่อวันประชุมถือศีลฟังธรรมในพระพุทธศาสนา เดือนหนึ่งมี ๔ วัน คือ วันขึ้น ๘ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรม ๘ ค่ำ และแรม ๑๕ ค่ำ ถ้าเป็นเดือนขาดก็แรม ๑๔ ค่ำ เรียกว่า วันพระ
(๒) (คำนาม) : พระเจ้า, พระเยซู, (ตามที่คริสต์ศาสนิกชนในเมืองไทยใช้อนุโลมเรียก) เช่น พระลงโทษ แม่พระ
(๓) (คำนาม) : นักบวช เช่น พระไทย พระแขก พระฝรั่ง พระจีน พระญวน
(๔) (คำนาม) : ใช้ประกอบหน้าคำอื่นแสดงความยกย่อง
๑. เทพเจ้าหรือเทวดาผู้เป็นใหญ่ เช่น พระอิศวร พระนารายณ์ พระพิรุณ ๒. พระเจ้าแผ่นดินหรือของที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายชั้นสูง เช่น พระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์
๓. สมณศักดิ์ชั้นราชาคณะ เช่น พระราชเวที พระเทพเมธี
๔. ภิกษุ เช่น พระสมศักดิ์
๕. สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระภูมิ
(๕) (คำนาม) : อิสริยยศเจ้านาย เช่น พระรามคำแหง พระนเรศวร พระเทียรราชา
(๖) (คำนาม) : บรรดาศักดิ์ข้าราชการสูงกว่าหลวง ต่ำกว่าพระยา เช่น พระสารประเสริฐ พระธรรมนิเทศทวยหาญ, ใช้ประกอบหน้านามพระสนม เช่น พระอินทราณี พระสุจริตสุดา ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
(๗) (คำนาม) : โดยปริยายหมายถึงผู้ที่มีเมตตากรุณาทรงคุณงามความดีเหมือนพระ เช่น ใจพระ พ่อแม่เป็นพระของลูก.
(๘) (คำที่ใช้ในบทกลอน) (สรรพนาม) : คำใช้แทนผู้เป็นใหญ่ เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๒ เช่น เมียเห็นว่าเงาะนี้มีความรู้ พระอย่าได้ลบหลู่ว่าชั่วช้า (สังข์ทอง), หรือเป็นสรรพนามบุรุษที่ ๓ เช่น พระเสด็จโดยแดนชล (กาพย์เห่เรือ).
…………..
จะเห็นได้ว่า คำว่า “พระ” มีความหมายตั้งหลายอย่าง แล้วทำไมจะต้องเจาะจงเฉพาะ “พระ” ที่หมายถึงบุคคลในกลุ่มเดียวกับ “เณร” และ “ชี”
คำว่า “วันพระ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วันพระ : (คำนาม) วันประชุมถือศีลฟังธรรมในพระพุทธศาสนา เดือนหนึ่งมี ๔ วัน คือ วันขึ้น ๘ คํ่า ขึ้น ๑๕ คํ่า แรม ๘ คํ่า และแรม ๑๕ คํ่า ถ้าเป็นเดือนขาดก็แรม ๑๔ คํ่า.”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ดังนี้ –
“วันพระ (Uposathadivasa) : the Buddhist holy day; Buddhist Sabbath; day of merit-making; observance day.”
คำนิยามหรือความหมายตามพจนานุกรมฯ ไม่มีคำไหนเลยที่บ่งบอกหรือที่จะตีความได้ว่า “พระ” ในที่นี้คือ monk หรือ priest
คำในภาษาไทย ถ้าอยากเข้าใจให้ถูกต้องก็ต้องศึกษา แค่เปิดพจนานุกรมก็จะได้ความรู้เป็นอันมากแล้ว ไม่ใช่คิดเอาเอง เข้าใจเอาเอง แล้วก็เอาไปเผยแพร่กันเป็นเรื่องสนุก หรือเห็นเป็นเรื่องตลก
(1) พระ (monk หรือ priest)
(2) เณร หรือสามเณร (novice)
(3) ชี (nun)
เป็นบุคคลในกลุ่มเดียวกัน คือเป็นคนวัดหรือชาววัด
คำสร้อยสี่พยางค์ของไทยก็มีว่า “พระเณรเถรชี” หรือ “พระเถรเณรชี”
หมายเหตุ: คำอังกฤษนั้นลงไว้ตามที่คนไทยเข้าใจกัน ที่ต้องมีคำอังกฤษไว้ด้วยก็เพราะคนไทยสมัยนี้เห็นคำอังกฤษแล้วเข้าใจความหมายได้ดีกว่าเห็นคำบาลี
ในเมื่อ “พระ” ในคำว่า “วันพระ” ไม่ใช่ monk หรือ priest แล้วจะเอา “เณร” (novice) และ “ชี” (nun) มาเกี่ยวอะไรด้วย?
“วันพระ” คือ “วันประชุมถือศีลฟังธรรมในพระพุทธศาสนา” ทั้ง monk ทั้ง priest, novice และ nun ในพระพุทธศาสนา ล้วนแต่สามารถถือศีลฟังธรรมได้อยู่แล้ว จะเอา “วันเณร” “วันชี” ไปทำอะไรอีก?
แล้ว “วันเณร” “วันชี” คือวันอะไร จะให้เณรและชีไปทำอะไรนอกเหนือไปจากถือศีลฟังธรรมในพระพุทธศาสนา? หรือจะทำอะไรให้เณรให้ชีเป็นพิเศษด้วยเหตุอะไร?
การเอาคำว่า “วันเณร” “วันชี” ไปเข้าคู่กับ “วันพระ” ไม่ว่าจะด้วยเจตนาพูดเล่น หรือด้วยความเข้าใจผิดจริงๆ ก็เท่ากับเผยแพร่ความเข้าใจผิดให้กระจายออกไปอีก
จะเห็นได้แล้วว่า คำบางคำ เรื่องบางเรื่อง ไม่สมควรด้วยประการทั้งปวงที่จะนำมาพูดเล่น
…………..
อนึ่ง เมื่อปรารภเรื่องนี้กับบางท่าน หลายท่านแนะนำว่า “เขาแค่พูดเล่นกัน อย่าเครียดสิ”
คำแนะนำนี้ทำให้ต้องทำความเข้าใจซ้อนลงไปอีก
เนื่องจากคนส่วนหนึ่ง-ซึ่งอาจจะเป็นส่วนมากด้วย-เห็นไปว่า การเอาคำตลกๆ เรื่องตลกๆ หรือ “เรื่องใต้สะดือ” มาพูดคุยกัน เป็นการคลายเครียด ใครไม่ชอบเรื่องประเภทนี้จะถูกมองว่าเป็นคนเครียด แล้วก็จะได้รับคำแนะนำว่า “อย่าเครียดสิ”
ในการสนทนาหรือ “คุยกัน” สำนวนบาลีจะบอกว่า พระพุทธองค์หรือพระสาวกยังคู่สนทนา “ให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา” (ธมฺมิยา กถาย สนฺทสฺเสตฺวา สมาทเปตฺวา สมุตฺเตเชตฺวา สมฺปหํเสตฺวา …) สำนวนเช่นนี้จะพบได้ในที่ทั่วไป
น่าเสียดายที่เรายังใช้การเอาคำตลกๆ เรื่องตลกๆ หรือ “เรื่องใต้สะดือ” มาพูดคุยกันเป็นเกณฑ์มาตรฐานในการวัดว่าใครเครียดหรือไม่เครียด ทั้งๆ ที่เรามีเกณฑ์มาตรฐานของชาวพุทธอยู่แล้ว แต่ไม่เอามาใช้ นั่นคือ “ธัมมหาสะ – สนุกสนานอาจหาญร่าเริงด้วยธรรม”
และที่น่าสลดใจก็คือ การเอาถ้อยคำเกี่ยวกับวัด กับพระ หรือกับธรรมะ ไปพูดไปคุยกันให้เป็นเรื่องตลก แล้วก็อ้างว่าเป็นการคลายเครียด ซ้ำอ้างด้วยว่าเขาทำกันอย่างนี้มาแต่โบร่ำโบราณโน่นแล้ว เราเป็นปุถุชน ไม่ใช่พระอริยะ จะมาเคร่งครัดเคร่งเครียดอะไรกันนักหนา
ยิ่งเป็นปุถุชน ก็ยิ่งสมควรที่จะเร่งฝึกฝนตนเองให้มี “ธัมมหาสะ” เพื่อจะได้ช่วยให้มีความสามารถที่จะไม่เครียดได้ดีกว่าคนที่นิยมเอาคำตลกๆ เรื่องตลกๆ หรือ “เรื่องใต้สะดือ” มาพูดคุยกันแล้วยืนยันว่าตนเป็นคนไม่เครียด-ได้หลายๆ เท่า
…………..
ดูก่อนภราดา!
รางวัลสำหรับผู้ทักท้วง:
จากคนพาล: “หมอนี่มันดีแต่คอยจับผิด”
จากบัณฑิต: “ขอบคุณท่านผู้ชี้ขุมทรัพย์”
#บาลีวันละคำ (2,908)
29-5-63