บาลีวันละคำ

อัฐธรรมสโมธาน (บาลีวันละคำ 2,910)

อัฐธรรมสโมธาน

คุณสมบัติของพระโพธิสัตว์

อ่านว่า อัด-ถะ-ทำ-มะ-สะ-โม-ทาน

ประกอบด้วยคำว่า อัฐ + ธรรม + สโมธาน

(๑) “อัฐ

บาลีเป็น “อฏฺฐ” (อัด-ถะ) เป็นศัพท์จำพวก “สังขยา” คือคำที่ใช้นับจำนวน แปลว่า แปด (จำนวน 8)

ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง เขียนเป็น “อัฐ

(๒) “ธรรม

บาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > -) และ ต้นปัจจัย (รมฺม > –มฺม )

: ธรฺ > + รมฺม > มฺม : + มฺม = ธมฺม แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ทรงไว้

ธมฺม สันสกฤตเป็น ธรฺม เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น ธรรม

ธมฺมธรรม” มีความหมายหลายหลาก ในภาษาไทยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –

(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม

(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า

(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม

(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม

(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม

(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ

(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ

(8) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม

ในที่นี้ “ธรรม” มีความหมายตามนัยแห่งข้อ (1)

(๓) “สโมธาน

บาลีอ่านว่า สะ-โม-ทา-นะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, รวมกัน)+ โอ (คำอุปสรรค = ลง) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + ยุ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น (สํ > สม), แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ),

: สํ > สม + โอ = สโม + ธา = สโมธา + ยุ > อน = สโมธาน แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่รวมกันด้วยดี” หมายถึง การเอามารวมกันหรือเรียงกัน, การรวบรวม (collocation, combination)

การประสมคำ :

อฏฺฐ + ธมฺม = อฏฺฐธมฺม (อัด-ถะ-ทำ-มะ) แปลว่า “คุณสมบัติแปดประการ

อฏฺฐธมฺม + สโมธาน = อฏฺฐธมฺมสโมธาน (อัด-ถะ-ทำ-มะ-สะ-โม-ทา-นะ) แปลว่า “การประชุมพร้อมกันแห่งคุณสมบัติแปดประการ

อฏฺฐธมฺมสโมธาน” เขียนแบบไทยเป็น “อัฐธรรมสโมธาน” (อัด-ถะ-ทำ-มะ-สะ-โม-ทาน)

ขยายความ :

อัฐธรรมสโมธาน” เป็นการประมวลคุณสมบัติของผู้ที่ได้นามว่า “โพธิสัตว์” คือผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในกาลต่อไป จะเรียกว่า “คุณสมบัติของพระโพธิสัตว์” ก็ได้ มี 8 ประการ ดังคำบาลีต่อไปนี้

เขียนแบบบาลี :

มนุสฺสตฺตํ  ลิงฺคสมฺปตฺติ

เหตุ  สตฺถารทสฺสนํ

ปพฺพชฺชา  คุณสมฺปตฺติ

อธิกาโร จ  ฉนฺทตา

อฏฺฐธมฺมสโมธานา

อภินีหาโร  สมิชฺฌติ.

เขียนแบบคำอ่าน :

มะนุสสัตตัง  ลิงคะสัมปัตติ

เหตุ (เห-ตุ) สัตถาระทัสสะนัง

ปัพพัชชา  คุณะสัมปัตติ

อะธิกาโร จะ  ฉันทะตา

อัฏฺฐะธัมมะสะโมธานา

อะภินีหาโร  สะมิชฌะติ.

ถอดความว่า การจะได้เป็น “โพธิสัตว์” ต้องตั้งความปรารถนา โดยมีคุณสมบัติ 8 ประการ ดังนี้ –

(1) เมื่อตั้งความปรารถนา ต้องเป็นมนุษย์ (มนุสฺสตฺตํ)

(2) เป็นเพศชาย (ลิงฺคสมฺปตฺติ)

(3) สามารถจะบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ได้ในชาติที่ตั้งความปรารถนานั้น (เหตุ)

(4) ได้พบพระพุทธเจ้าและได้รับพยากรณ์ว่าจะสำเร็จ (สตฺถารทสฺสนํ)

(5) ในขณะที่ตั้งความปรารถนา กำลังอยู่ในเพศภิกษุ สามเณร หรือนักบวชที่เป็นสัมมาทิฐิ (ปพฺพชฺชา)

(6) สำเร็จฌานสมาบัติและอภิญญามาแล้ว (คุณสมฺปตฺติ)

(7) ประกอบกุศลกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งถึงขั้นสละชีวิต (อธิกาโร)

(8) ปรารถนาพุทธภูมิ คือพอใจที่จะเป็นพระพุทธเจ้าอย่างไม่เสื่อมคลาย ไม่ถอยกลับ (ฉนฺทตา)

ตามคุณสมบัติที่ท่านแสดงไว้นี้ จะเห็นได้ว่า การเป็นพระโพธิสัตว์ไม่ใช่ของง่าย ไม่ใช่เพียงแค่มีศรัทธานึกอยากจะเป็นก็ตั้งใจเป็นได้ทันที

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าทุกอย่างสำเร็จได้แค่ใจอยาก

: จะต้องทนทุกข์ยากกันอยู่ไฉน

: นั่งอยากนอนอยากจะยากไย

: นี่เพราะไม่ได้อย่างอยากจึงยากเย็น

#บาลีวันละคำ (2,910)

31-5-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *