บาลีวันละคำ

จงกรม ไม่ใช่ “จงกลม” (บาลีวันละคำ 2,911)

จงกรม ไม่ใช่ “จงกลม”

และไม่ใช่ “วงกลม”

จงกรม” อ่านว่า จง-กฺรม (กฺร- ควบ)

บาลีเป็น “จงฺกม” อ่านว่า จัง-กะ-มะ รากศัพท์มาจาก –

(1) กม (ก้าวไป, ย่างไป) + อากม (ก้าวมา, ย่างกลับ), แปลง ที่ -(ม) เป็น , ลบ อา ที่ –อา-(กม), แปลง ที่ (จ)- เป็นนิคหิต, แปลงนิคหิตเป็น งฺ

: กม + อากม = กมากม > จมากม > จมกม > จํกม > จงฺกม แปลตามศัพท์ว่า “การก้าวไปก้าวมา

(2) กมฺ (ธาตุ = ก้าวไป) + ปัจจัย, ซ้อน หน้าธาตุ, แปลง เป็น , ลงนิคหิตอาคมที่ , แปลงนิคหิตเป็น งฺ

: กมฺ + = กม > กกม > จกม > จํกม > จงฺกม แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ก้าวไป

จงฺกม” มีความหมาย 2 อย่าง คือ –

(1) การเดินไปเดินมา, เดินจงกรม (walking up & down) = การเดินจงกรม

(2) สถานที่ซึ่งคนเดิน, ที่เดินจงกรม (the place where one is walking, a terraced walk, cloister) = สถานที่สำหรับเดินจงกรม

จงฺกม” ในภาษาไทยใช้อิงสันกฤตเป็น “จงกรม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

จงกรม : (คำกริยา) เดินไปมาโดยมีสติกำกับอย่างพระเดินเจริญกรรมฐาน เรียกว่า เดินจงกรม. (ส.; ป. จงฺกม).”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “จงฺกฺรมณ” บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

จงฺกฺรมณ : (คำนาม) ‘จงกรมณ์,’ ผู้เดิรไปช้าๆ; การไป, การเดิรไปช้าๆ; one who goes slowly; going, proceeding slowly.”

ข้อควรเข้าใจ :

ในทางธรรม “จงกรม” เป็นกระบวนการปฏิบัติจิตภาวนาโดยอิริยาบถเดิน มีความมุ่งหมายให้ผู้ปฏิบัติใช้สติกำหนดให้รู้ทันทุกจังหวะของการก้าวเดิน

จังหวะการเดินจงกรมที่ให้ยก-ย่าง-เหยียบ ช้าๆ นั้นเป็นเพียง “ภาคฝึกหัด” ให้สติกำหนดทันอิริยาบถย่อย ความมุ่งหมายที่แท้จริงคือแม้ในการเดินตามปกติในชีวิตประจำวันก็ให้มีสติกำหนดรู้ทันเท่ากับที่เดินช้าๆ นั้นด้วย

ผลพลอยได้ของการเดินจงกรม คือเป็นการเปลี่ยนอิริยาบถ แก้ความเมื่อยขบจากการนั่ง เป็นการออกกำลังแบบเบาๆ และบรรเทาความง่วงซึม

คำว่า “จงกรม” บางคนไม่เข้าใจที่ไปที่มา หรือกระดกลิ้นออกเสียง ร เรือ ไม่ได้ พูดเป็น จง-กลม แล้วเลยเขียนเป็น “จงกลม” ไปด้วย

ต่อจาก “จงกลม” ก็มีนักคิดจินตนาการต่อไปว่าถ้า “กลม” ก็ควรจะเป็น “วงกลม” เพราะ “จงกลม” แปลไม่ได้ความ ที่พูดกันว่า “เดินจงกรม” หรือ “เดินจงกลม” นั้นพูดผิด ที่ถูกจะต้องเป็น “เดินวงกลม” คือเดิมวนเป็นวง ว่าแล้ว “จงกรม” ก็กลายเป็น “วงกลม” ไปในที่สุด

จะว่าเขลาตรงๆ ก็ดูกระไรอยู่ เพราะใช้จินตนาการที่ประกอบด้วยเหตุผลอยู่พอสมควร แต่เพราะขาดความรู้ในหลักภาษาและหลักปฏิบัติ จินตนาการจึงพลอยเสียหลักไปด้วย

โปรดทราบว่า รูปแบบการเดินจงกรมนั้นไม่ใช้เดินเป็นวงกลมตามจินตนาการที่ปรุงออกมาจากเสียง “กลม” ซึ่งเพี้ยนมาจาก “กรม” เดินจงกรมคือเดินเป็นเส้นตรงจากจุดเริ่มต้น ไปสุดทางตามความยาวที่กำหนด แล้วหยุด หมุนตัวกลับ แล้วเดินย้อนกลับทางเดิมมาจนถึงจุดเริ่มต้น แล้วหยุด หมุนตัวกลับ แล้วเริ่มเดินในเที่ยวใหม่ เดินกลับไปกลับมาดังกล่าวนี้ จะกี่เที่ยวก็แล้วแต่ความพอใจหรือแล้วแต่ว่าจะเกื้อกูลแก่อารมณ์กรรมฐานได้ดีเพียงไร

สรุปว่า “จงกรม” คำบาลีเป็น “จงฺกม” (จัง-กะ-มะ) ฝรั่งว่า walking up & down หมายถึง ใช้สติกำหนดอิริยาบถเดินกลับไปกลับมา ไม่ใช่เดินเป็น “วงกลม” คำนี้ออกเสียง “-กรม” ไม่ใช่ “-กลม”

เดินจงกรม ไม่ใช่เดินจงกลม และไม่ใช่เดินวงกลม

โปรดช่วยกันเรียนรู้หลักภาษาและหลักธรรม อย่าปล่อยให้จินตนาการนำไปผิดๆ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนไม่รู้ ตำหนิคำเดียวก็พอ

: คนอวดรู้ ไม่มีคำพอที่จะตำหนิ

#บาลีวันละคำ (2,911)

1-6-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *