อสฺสุ (บาลีวันละคำ 2,048)
อสฺสุ = น้ำตา
ลำดับ 26 ในอาการสามสิบสอง
อ่านว่า อัด-สุ
“อสฺสุ” รูปคำเดิมเป็น “อสฺสุ” (อัด-สุ) รากศัพท์มาจาก อสฺ (ธาตุ = ตกลงมา) + สุ ปัจจัย
: อสฺ + สุ = อสฺสุ แปลตามศัพท์ว่า “น้ำที่ตกลงมาจากดวงตา” หมายถึง น้ำตา (a tear)
“อสฺสุ” (นปุงสกลิงค์) แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ คงรูปเป็น “อสฺสุ”
“อสฺสุ” ในภาษาไทยใช้เป็น “อัสสุ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“อัสสุ : (คำนาม) นํ้าตา. (ป.).”
…………..
ขยายความ :
คัมภีร์วิสุทธิมรรคบรรยายลักษณะของ “อสฺสุ” ไว้ดังนี้ –
อสฺสูติ อกฺขีหิ ปคฺฆรณกอาโปธาตุ.
คำว่า “อสฺสุ” ได้แก่อาโปธาตุที่ไหลออกทางดวงตา
ตํ วณฺณโต วิปฺปสนฺนติลเตลวณฺณํ.
อัสสุนั้นมีสีเหมือนสีน้ำมันงาใส
สณฺฐานโต โอกาสสณฺฐานํ.
อัสสุมีรูปทรงสัณฐานตามรูปทรงอวัยวะที่มันอยู่
โอกาสโต อกฺขิกูปเกสุ ฐิตํ.
ที่อยู่ของอัสสุคือในเบ้าตา
น เจตํ ปิตฺตโกสเก ปิตฺตมิว อกฺขิกูปเกสุ สทา สนฺนิจิตํ ติฏฺฐติ.
แต่ว่ามันมิได้มีขังอยู่ในเบ้าตาตลอดเวลาเหมือนน้ำดีขังอยู่ในถุงน้ำดีกระนั้นดอก
ยทา ปน สตฺตา โสมนสฺสชาตา มหาหสิตํ หสนฺติ โทมนสฺสชาตา โรทนฺติ ปริเทวนฺติ ตถารูปํ วิสมาหารํ วา อาหรนฺติ ยทา จ เนสํ อกฺขีนิ ธูมรชปํสุกาทีหิ อภิหญฺญนฺติ
ต่อเมื่อใดเราเกิดความดีใจหัวเราะเสียใหญ่ หรือเกิดความเสียใจร้องไห้คร่ำครวญ หรือกินของเผ็ดร้อนเข้าไป (รวมความว่าเป็นอาการที่ไม่ได้มีสิ่งใดไปกระทบดวงตาโดยตรง) และเมื่อใดดวงตาถูกกระทบโดยตรง เช่นถูกควัน ละออง และผงเป็นต้นเข้าตา
ตทา เอเตหิ โสมนสฺสโทมนสฺส วิสภาคาหารอุตูหิ สมุฏฺฐหิตฺวา อกฺขิกูปเก ปูเรตฺวา ติฏฺฐติ วา ปคฺฆรติ วา.
เมื่อนั้นอัสสุจึงจะออกมาเอ่ออยู่เต็มเบ้าตาหรือไหลออกมา
อสฺสุปริคฺคณฺหเกน ปน โยคินา อกฺขิกูปเก ปูเรตฺวา ฐิตวเสเนว ปริคฺคณฺหิตพฺพํ.
พระโยคีผู้เจริญพระกรรมฐานหากจะกำหนดเอาอัสสุเป็นอารมณ์ พึงกำหนดอัสสุที่เอ่ออยู่เต็มเบ้าตานั่นแหละจึงจะดี
(คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 2 อนุสสติกัมมัฏฐานนิทเทส หน้า 47)
ในบทสวด “พระอาการสามสิบสอง” กล่าวถึง “อสฺสุ” ไว้ดังนี้ –
๏ อัสสุน้ำตา……ไหลหลั่งข้างหน้า….เมื่อแค้นขัดใจ
ปางที่โทมนัส…..พรากพลัดกันไป…..ปางที่บรรลัย
ร่ำไห้รักกัน๚ะ๛
…………..
ดูก่อนภราดา!
ทุกครั้งที่เราร้องไห้และหัวเราะ
ตั้งแต่เกิดมาจนถึงวันนี้
ถ้าถ่ายเป็นภาพยนตร์ไว้
เอามาตัดต่อสลับกันเข้าแล้วฉายดู
เราจะเห็นคนบ้าคนหนึ่ง
นั่นคือเรา
และนั่นคือความจริงของการเกิดมา
—————-
(ตามคำอาราธนาของคุณครูอนันต์ นาควิจิตร)
ภาพประกอบ: จาก google
ควรตามไปดูคำว่า “อาการ 32” ที่ลิงก์ข้างล่างนี้ด้วย:
#บาลีวันละคำ (2,048)
20-1-61