บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ปฏิสันถารคารวตา (๑)

ปฏิสันถารคารวตา (๑)

———————–

เพชรที่ถูกหมกโคลน

บรรดาเรื่องในวัดอันเป็นเรื่องที่น่าเสียดายทั้งหลาย ปฏิสันถารคารวตาเป็นเรื่องหนึ่งที่น่าเสียดายที่สุด 

“เรื่องที่น่าเสียดาย” หมายความว่า เรื่องที่น่าทำ แต่ไม่ทำ เรื่องที่น่ามี แต่ไม่มี เรื่องที่น่าเป็น แต่ไม่เป็น

ยกตัวอย่างเช่น คณะสงฆ์ควรมี “กองวิชาการพระพุทธศาสนา” เพื่อทำหน้าที่วินิจฉัยปัญหาทางพระธรรมวินัยที่ชาวบ้านสงสัย พระทำอย่างนี้ถูกไหม เรื่องนั้นทำกันอย่างนั้นถูกหรือผิด ไม่ใช่ปล่อยให้พูดกันไป สงสัยกันไป โดยไม่มีคำตอบ

คณะสงฆ์ควรมี “กองวิชาการพระพุทธศาสนา” เช่นว่านี้ 

แต่ก็ไม่มี ไม่ตั้ง ไม่คิดจะตั้ง 

เสนอให้ตั้ง ก็ไม่ฟัง ไม่เอา

จึงเป็น “เรื่องที่น่าเสียดาย”

ปฏิสันถารคารวตาเป็นเรื่องหนึ่งที่น่าเสียดายที่สุด 

“ปฏิสันถารคารวตา” อ่านว่า ปะ-ติ-สัน-ถา-ระ-คา-ระ-วะ-ตา แปลว่า การเห็นความสำคัญของการต้อนรับ

…………………

สมมุติว่า วันหนึ่งท่านมีความจำเป็นจะต้องเข้าไปในวัดเพื่อทำกิจอะไรก็ตามสักอย่างหนึ่ง ท่านไม่รู้จักวัดนั้น ไม่รู้จักพระในวัดนั้น ไม่รู้จักใคร 

ท่านเดินเข้าไปในวัด ท่านจะไปตั้งต้นตรงไหน? 

ถ้าเผอิญเจอพระหรือเณรหรือใครสักคนในวัด แล้วท่านถามอะไรสักอย่าง-ตามกิจธุระที่ท่านตั้งใจมา โอกาสที่ท่านจะได้รับคำตอบที่ได้เรื่องหรือไม่ได้เรื่องจะมีเท่าๆ กัน 

แต่มีแนวโน้มว่าจะไม่ได้เรื่องมากกว่า 

แล้วพระหรือเณรหรือใครสักคนนั้นก็จะปล่อยให้ท่านงมหาอะไรก็ตามไปตามเรื่องของท่าน เหตุผลของท่านเหล่านั้นก็คือ-ธุระไม่ใช่ ไม่ใช่ธุระ

ยิ่งวัดที่มีผู้คนแห่กันเข้าไปไหว้พระขอพรหรือทำพิธีกรรมประจำชีวิตกันคึกคักขวักไขว่ จะไม่มีใครสนใจท่านแม้แต่น้อย 

ผมเคยเสี่ยงเข้าไปถามถึงพระรูปนั้นรูปนี้ที่แน่ใจว่าท่านอยู่วัดนั้น

คำตอบจากคนที่ทำหน้าที่อยู่ในวัด คือ ไม่รู้ ไม่รู้จัก 

…………………

คราวหนึ่ง วัดมหาธาตุบ้านผมมีงาน ผมรับอาสาเอาฎีกานิมนต์พระวัดในกรุงเทพฯ ที่มีความสัมพันธ์อันดีกับวัดมหาธาตุไปถวาย (ไม่แน่ใจว่าคนรุ่นใหม่เข้าใจหรือเปล่า คือเอาหนังสือเชิญร่วมงานไปส่งที่วัดนั้นๆ นะครับ) 

มีวัดหนึ่ง-ถ้าเอ่ยชื่อก็จะรู้จักกันทั่วโลก-ผมเดินหากุฏิท่านเจ้าอาวาสไม่เจอ ไม่เจอพระ ไม่เจอเณร ไม่เจอใครสักคน หลงเข้าไปที่ตึกหน้าตาเหมือนสำนักงานของวัด โผล่เข้าไปก็เจอเณรรูปหนึ่งนั่งอยู่หน้าจอคอม. มีโยมผู้หญิงวัยรุ่นคนหนึ่งนั่งชะโงกดูหน้าจออยู่ใกล้ๆ กัน ไม่มีท่าทีว่าจะรับรู้ว่ามีแขกเข้ามา ไม่ทักไม่ถาม ไม่พูดอะไร ง่วนอยู่หน้าจอคอม. 

ผมถามว่ากุฏิเจ้าอาวาสไปทางไหน ก็ชี้มือไปทางโน้นแบบรำคาญๆ 

เจอแบบนั้นผมก็ลมออกหู 

“ผมเอาฎีกามาถวายหลวงพ่อนะครับ ไม่ใช่มาขอทาน” 

ผมพูดแค่นั้นแล้วออกไปทันที ผมรู้ตัวว่าเป็นคนโทสจริต ใจร้อน ขืนอยู่เกิดเรื่องแน่ 

โอกาสต่อมา เจอท่านเจ้าอาวาส ต่อว่าท่านเล็กน้อย บรรยายสรุปเหตุการณ์ให้ท่านฟัง ท่านขอโทษ ตั้งแต่วันนั้นผมก็ยังไม่ได้เข้าไปวัดนั้นอีกเลย

…………………

พระธรรมสิงหบุราจารย์ หรือหลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน สิงห์บุรี เล่าให้ฟังว่า สมัยท่านเป็นพระธรรมดาเข้าไปทำกิจที่กรุงเทพฯ แล้วเกิดความจำเป็นปัจจุบันทันด่วนจะต้องเข้าห้องน้ำ 

ท่านเข้าไปในวัดที่อยู่ใกล้ที่สุด เห็นห้องน้ำก็รีบเข้าไป แต่ปรากฏว่าทุกห้องล็อคกุญแจหมด ตามหาพระเณรก็ไม่มีใครช่วยแก้ปัญหาให้ได้ ได้รับความทุกข์แสนสาหัสพร้อมกับความคับแค้นใจ 

พอท่านได้เป็นเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน ท่านก็สร้างห้องน้ำไว้รอบวัด ทุกห้องเปิดบริการตลอดเวลา 

ในบรรดาวัดที่ผมเคยไปมา ยังไม่เคยเห็นวัดไหนมีห้องน้ำที่พร้อมบริการมากเท่าวัดอัมพวันของหลวงพ่อจรัญ

…………………

บรรดาวัดต่างๆ ในเมืองไทย เรื่องที่น่าเสียดายมากที่สุดเรื่องหนึ่งคือขาดการปฏิสันถาร 

ไม่มีแผนกต้อนรับของวัด 

ไม่มีสำนักงานกลางของวัดไว้รับรองแขก 

ไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ต้อนรับแขก 

ไม่มีป้ายบอกทางที่ชี้บอกว่าต้องการติดต่ออะไรกับทางวัดให้เดินเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาไปที่ตรงนั้นๆ 

หรือตั้งหน่วยต้อนรับไว้ตรงที่เห็นได้ง่ายที่สุดภายในวัด เข้าประตูวัดไปเห็นได้ทันที มีเจ้าหน้าที่ของวัดยิ้มรอรับอยู่ตลอดเวลา 

ใครมีกิจธุระอะไร ไม่ว่าจะจิ๊บจ๊อยแบบ-ห้องน้ำมีไหมครับ หรือเรื่องคอขาดบาดตายขนาดไหน ไปที่ตรงนั้น 

one stop service กันตรงนั้นได้เลย 

ไม่มีธุระอะไรเลย แวะไปขอน้ำร้อนน้ำชากาแฟกินก็ยังได้ 

………………..

เอ้า โยม มายังไงกันละนั่น หาใคร เข้ามานั่งพักก่อน 

อ๋อ หามหาย้อยเรอะ ได้เลย นั่งก่อนโยม เดี๋ยวให้เด็กไปตามให้ 

โยมอยู่ถึงไหนกันละนี่ 

บ้านโยมฝนฟ้าอากาศเป็นไงบ้างล่ะปีนี้ 

ช่วงโควิดนี่ลำบากกันหน่อยนะ

เอ้า นั่นมหาย้อยมาแล้ว เชิญโต๊ะรับรองด้านโน้นเลยจ้ะโยม

………………..

ไม่มีบรรยากาศแบบนี้ 

ถามว่า บรรยากาศแบบนี้จัดให้มีขึ้นในวัดทุกวัดได้ไหมครับ?

ขอความกรุณาอย่าคิดแบบ-ลากภูเขามาขวางทาง โอย-มันทำไม่ได้หรอก

ช่วยกันคิดแก้ปัญหา ช่วยกันคิดหาวิธีที่มันจะทำได้

ถ้าทำได้ วัดจะเป็นศูนย์รวมใจของผู้คน-ได้ใจคนเป็นอันมาก 

ตามกฎหมาย วัดมีสถานะเป็นนิติบุคคล 

นั่นเท่ากับกฎหมายเปิดช่องไว้ให้แล้วที่จะช่วยกันทำวัดให้เป็นที่พึ่งของผู้คนประชาชน 

ไม่ใช่บ้านส่วนตนของพระเณร 

เหนืออื่นใด ในพระไตรปิฎก-แหล่งรวมหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาท่านยกย่อง “ปฏิสันถารคารวตา” ไว้เสมอกับพระรัตนตรัย 

งงละสิ 

เคยศึกษาเรียนรู้และตระหนักกันบ้างหรือไม่

ในบ้านเรา เราเรียนบาลีกันเพื่อจะสอบได้ ไม่ได้ตั้งใจเรียนเพื่อรู้พระธรรมวินัย เพราะฉะนั้น เราอาจลืมนึกหลักธรรมที่ควรจะระลึกได้ 

ถ้ายังไม่เคยศึกษาเรื่องนี้ ตอนหน้าเราจะตามไปขุด “เพชร” เม็ดงามที่ถูกหมกโคลนกัน 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๓

๑๔:๐๕

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *