สังฆทานานิ (บาลีวันละคำ 2,007)
สังฆทานานิ
อ่านว่า สัง-คะ-ทา-นา-นิ
บาลีเขียน “สงฺฆทานานิ” รูปศัพท์เดิมคือ “สงฺฆทาน” (สัง-คะ-ทา-นะ) ประกอบด้วย สงฺฆ + ทาน
(๑) “สงฺฆ” แปลว่า หมู่, กอง, กลุ่ม, คณะ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สงฺฆ” เป็นอังกฤษว่า –
(1) multitude, assemblage (ฝูงชน, ชุมนุมชน, หมู่, ฝูง)
(2) the Order, the priesthood, the clergy, the Buddhist church (คณะสงฆ์, พระ, นักบวช, พุทธจักร)
(3) a larger assemblage, a community (กลุ่มใหญ่, ประชาคม)
(๒) “ทาน” แปลว่า การให้, สิ่งของสำหรับให้
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทาน” ว่า giving, dealing out, gift; almsgiving, liberality, munificence (การให้, การแจกให้, ของขวัญ; การให้ทาน, การมีใจคอกว้างขวาง)
“ทาน” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เป็นกิริยาอาการ: หมายถึง การให้, ยกมอบแก่ผู้อื่น, ให้ของที่ควรให้ แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่เขา, สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น
(2) เป็นสิ่งของ: หมายถึง สิ่งที่ให้, ทรัพย์สินสิ่งของที่มอบให้หรือแจกออกไป
สงฺฆ + ทาน = สงฺฆทาน เป็นคำแสดงกิริยาอาการ แปลว่า “ให้แก่สงฆ์” คือให้แก่ส่วนรวม ให้เป็นของส่วนกลางเพื่อให้สมาชิกของสังคมนั้นๆ ได้รับประโยชน์ทั่วถึงกัน
“สงฺฆทาน” (นปุงสกลิงค์) แจกด้วยวิภัตตินามที่สอง (ทุติยาวิภัตติ) พหูพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “สงฺฆทานานิ”
…………..
หลักความรู้ :
คำว่า “สงฺฆทาน” ในภาษาบาลีไม่ใช่คำนามที่หมายถึง “สิ่งของ” แต่เป็นคำแสดงกิริยาอาการ (ดูที่คำว่า “ทาน” ข้างต้น) ภาษาไวยากรณ์บาลีเรียกว่า “กิริยาวิเสสนะ” (adverb) แสดงเจตนาให้รู้ว่าเป็นการถวายแก่สงฆ์ ไม่ใช่ถวายแก่ตัวบุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง
คำกิริยาวิเสสนะนั้นมีกฎว่า ต้องแจกด้วยวิภัตตินามที่สอง เอกพจน์ เป็นพื้น ในที่นี้ก็คือเป็น “สงฺฆทานํ” (สัง-คะ-ทา-นัง) ไม่มีที่เป็น “สงฺฆทานานิ”
จริงอยู่ คำว่า “สงฺฆทาน” แปลให้หมายถึง “สิ่งของ” ก็ได้ คือแปลว่า “สิ่งของอันพึงถวายแก่สงฆ์”
สงฺฆ = สงฆ์
ทาน = สิ่งของอันพึงถวาย
สงฺฆทาน = สิ่งของอันพึงถวายแก่สงฆ์
“สงฺฆทานานิ” ก็แปลได้ว่า “ซึ่งสิ่งของอันพึงถวายแก่สงฆ์ทั้งหลาย” (“สิ่งของทั้งหลาย” ไม่ใช่ “สงฆ์ทั้งหลาย” ในการแปลโดยพยัญชนะ คำนามพหูพจน์ท่านกำหนดให้ใช้คำว่า “ทั้งหลาย” ท้ายคำแปล)
แต่แปลอย่างนี้ ถ้าถามว่า อะไรคือ “สิ่งของอันพึงถวายแก่สงฆ์” จะตอบอย่างไร?
“สิ่งของอันพึงถวายแก่สงฆ์” มีคำเรียกอยู่แล้วว่า “ทานวตฺถุ” (ทา-นะ-วัด-ถุ) ท่านแสดงไว้ดังนี้ –
อนฺนํ ปานํ วตฺถํ ยานํ……มาลา คนธํ วิเลปนํ
เสยฺยาวสถํ ปทีเปยฺยํ…….ทานวตฺถู อิเม ทส.
(อันนัง ปานัง วัตถัง ยานัง…….มาลา คันธัง วิเลปะนัง
เสยยาวะสะถัง ปะทีเปยยัง……ทานะวัตถู อิเม ทะสะ)
ทานวัตถุมี 10 อย่าง ดังต่อไปนี้ –
(1) อันนะ = อาหารหรือของกินทุกชนิด
(2) ปานะ = เครื่องดื่ม ไม่ว่าจะเป็นน้ำดื่มหรือน้ำผลไม้ รวมทั้งเครื่องประกอบที่ใช้ปรุงเป็นเครื่องดื่มต่างๆ
(3) วัตถะ = เครื่องนุ่งห่ม รวมทั้งเครื่องใช้จำพวกผ้าทุกชนิด
(4) ยานะ = ยวดยานพาหนะต่างๆ รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องช่วยให้ไปมาสะดวก แม้กระทั่งรองเท้าและร่มก็รวมอยู่ในประเภทนี้
(5) มาลา = ดอกไม้ทั้งที่ร้อยเป็นพวง หรือจัดให้สวยงาม หรือดอกไม้ธรรมดาๆ
(6) คันธะ = เครื่องหอม แต่มุ่งถึงเครื่องหอมประเภทสมุนไพรที่มีผลในทางเป็นยา ไม่ใช่เครื่องหอมประเภทเครื่องสำอาง (ธูป ก็น่าจะสงเคราะห์เข้าในประเภทนี้)
(7) วิเลปนะ = เครื่องทา มุ่งถึงเครื่องทาประเภทยาเช่นกัน เป็นต้นว่าน้ำมันทานวดเส้นแก้ปวดเมื่อย ไม่ใช่เครื่องทาประเภทประเทืองผิว
(8) เสยยะ = เครื่องนอน รวมไปถึงโต๊ะ เก้าอี้ เตียงตั่ง เครื่องปูลาดทั้งปวง
(9) อาวสถะ = ที่พักอาศัย รวมตลอดถึงกุฏิ วิหาร อาคารสถานที่ทั้งปวง
(10) ปทีเปยยะ = เครื่องไฟแสงสว่าง รวมตลอดทั้งเทียน ตะเกียง น้ำมันเติมตะเกียง ปัจจุบันนี้ก็รวมอุปกรณ์ไฟฟ้าแสงสว่าง (และอาจจะรวมไปถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหลายเข้าด้วย)
จะเห็นได้ว่า ไม่มีสิ่งไหนเลยที่เรียกว่า “สังฆทาน – สิ่งของอันพึงถวายแก่สงฆ์”
จะเลี่ยงไปว่า ทุกอย่างรวมกันนั่นแหละเรียกว่า “สังฆทาน” ท่านก็บอกอยู่ชัดๆ แล้วว่า ทุกอย่างรวมกันเรียกว่า “ทานวัตถุ” ไม่ได้เรียกว่า “สังฆทาน”
นอกจากนี้ในคำถวายยังมีคำว่า “สปริวารานิ” (สะ-ปะ-ริ-วา-รา-นิ) ซึ่งแปลว่า “พร้อมทั้งของอันเป็นบริวาร”
ถามว่า ถ้าทุกอย่างรวมกันเรียกว่า “สังฆทาน” แล้ว “ของอันเป็นบริวาร” คืออะไร อยู่ที่ไหน
คำถวายสังฆทานเดิมคือคำถวายภัตตาหาร ใช้คำว่า “ภตฺตานิ” และมักจะมีของอย่างอื่นถวายควบกันไปด้วย เช่นดอกไม้ธูปเทียน ของใช้บางอย่าง ตลอดจนปัจจัย (เงิน) เป็นต้น จึงมีคำว่า “สปริวารานิ” ควบอยู่ด้วย
แต่เมื่อไปใช้คำว่า “สงฺฆทานานิ” แล้วยืนยันให้แปลว่า “ซึ่งสิ่งของอันพึงถวายแก่สงฆ์ทั้งหลาย” ดังนี้ จะทำอย่างไรกับคำว่า “สปริวารานิ”
หรือว่าจะต้องตัดออก?
จะเห็นได้ว่า เพราะคำคำเดียวที่ใช้ตามที่คิดเอาเองแท้ๆ ทำให้เกิดความลักลั่นสับสนไปหมด
…………..
อภิปราย :
ผู้เขียนบาลีวันละคำเขียนเรื่อง “ทีฆายุโก โหตุ สังฆราชา” ไปเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๐ บอกว่า เป็นคำถวายพระพรสมเด็จพระสังฆราชที่แปลงมาจาก “ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา” ซึ่งเป็นคำถวายพระพรพระเจ้าแผ่นดิน
ผู้เขียนบอกว่าสมเด็จพระสังฆราชกับพระเจ้าแผ่นดินมีที่ไปที่มาไม่เหมือนกัน เอาคำถวายพระพรพระเจ้าแผ่นดินมาแปลงเป็นคำถวายพระพรสมเด็จพระสังฆราชอาจฟังดูดีในทางโลก แต่ไม่ใช่ดีที่สุดในทางธรรม เหตุผลมีเป็นประการใดโปรดตามไปอ่านได้ที่ลิงก์ข้างล่างนี้
…………………………………….
“ทีฆายุโก โหตุ สังฆราชา”
…………………………………….
ผู้เขียนสรุปไว้ว่า เราพากันใช้คำว่า “ทีฆายุโก โหตุ สังฆราชา” เป็นคำถวายพระพรสมเด็จพระสังฆราชทั่วไปหมดแล้วจนแก้ไม่ได้ เหมือนคำถวายสังฆทาน ที่เวลานี้พากันใช้คำว่า อิมานิ มะยัง ภันเต สังฆทานานิ … ทั่วกันไปหมดแล้ว จนแก้ไม่ได้
และว่า เรื่อง “สังฆทานานิ” ต้องเอาไว้เขียนเป็นต่างหากออกไปอีกตอนหนึ่ง เพราะเรื่องมันยาว
———–
ผู้เขียนพยายามทักท้วงมาตั้งแต่ต้นแล้ว เล่าให้ฟังแล้วว่า ตอนเริ่มต้นนั้นคนที่คิดคำนี้ใช้คำว่า “สังฆทานิ” ไม่ใช่ “สังฆทานานิ”
ปฐมเหตุเกิดจากมีคนอยากถวายสังฆทาน และถูกร้านค้าหลอกให้เข้าใจกันเสียจริงๆ จังๆ ว่า ถังเหลืองนั่นแหละคือ “สังฆทาน” ถ้าเอาถังเหลืองไปถวายพระ นั่นแหละคือได้ถวายสังฆทานแล้ว
คำถวายสังฆทานที่ใช้กันมาแต่เดิมนั้นคือถวายภัตตาหาร ใช้คำว่า “ภัตตานิ” ทีนี้ในเมื่อถังเหลืองไม่มีภัตตาหารเลย จะใช้คำว่า “ภัตตานิ” ได้อย่างไร แล้วบางทีก็ถวายกันหลังเที่ยงวันไปแล้ว ซึ่งพระรับประเคนภัตตาหารไม่ได้ เอาภัตตาหารไปถวายหลังเที่ยงวันก็ไม่ถูกอีก มีเสียงทักท้วงทำนองนี้ออกมา คนที่นำถวายซึ่งส่วนมากไม่รู้ภาษาบาลีก็เลยต้องคิดเปลี่ยนคำว่า “ภัตตานิ”
ทีนี้จะเปลี่ยนเป็นอะไรดีล่ะ ก็คิดเอาเองว่า คำไทยเรียกกันว่าถวาย “สังฆทาน” ซึ่งเป็นรูปคำบาลี และคำถวายเดิมว่า “ภัตตานิ” ลงท้ายว่า “นิ” ก็เลยเอาคำว่า “สังฆทาน” มาแต่งตัวเป็น “สังฆทานิ” เข้าไปนั่น
ใช้กันอยู่พักหนึ่ง ก็ถูกท้วงอีกว่าศัพท์แบบนี้ไม่มี ไม่ถูกไวยากรณ์ คนท้วงคงเสนอแนะไปว่าถ้าจะให้ถูกไวยากรณ์ต้องเป็น “สังฆทานานิ”
“สังฆทานานิ” ถูกไวยากรณ์ แล้วพอแปลว่า…ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ซึ่งสังฆทาน … ก็ไปสอดรับกับความเข้าใจของคนถวายที่คิดว่าตนกำลัง “ถวายสังฆทาน” เข้าพอดี
เป็นอันว่า หลักไวยากรณ์ก็ไม่ผิด ใช้คำนี้แล้วคนก็เข้าใจได้ง่าย ก็เลยพากันใช้ทั่วไป
ผู้เขียนเคยอธิบายแล้วว่า ที่เราเรียกกันว่า “สังฆทาน” นั้นไม่ใช่หมายถึง “สิ่งของ” คำว่า “สงฺฆทาน” ในความหมายเดิมแปลว่า “การถวายแก่สงฆ์” (offering to the Sangha; a gift dedicated to the Order or to the community of monks as a whole) เป็นคำที่ใช้คู่กับคำว่า “ปาฏิปุคคลิกทาน” ซึ่งแปลว่า “การถวายเฉพาะบุคคล” (offering to a particular person; a gift designated to a particular person)
หลักก็คือ เจตนาในการถวายสิ่งไรๆ นั้นมี 2 ลักษณะ กล่าวคือ
1. ถวายเป็นของสงฆ์ คือถวายเป็นของกลางของสงฆ์ เรียกว่า “สังฆทาน”
2. ถวายเป็นของส่วนตัวแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เรียกว่า “ปาฏิปุคคลิกทาน”
โดยนัยนี้ “สังฆทาน” จึงเป็นนามธรรม คือเป็นชื่อของ “เจตนา” ที่จะถวายให้เป็นของสงฆ์ ไม่ว่าจะถวายอะไร ถ้าตั้งเจตนาถวายเป็นของสงฆ์ ก็เรียกการถวายนั้นว่า “สังฆทาน”
แต่พ่อค้าทั้งหลายใช้อุบายขายของ หลอกให้คนทั้งหลายเข้าใจผิดว่า ของที่จัดไว้เป็นชุดซึ่งแต่เดิมนิยมบรรจุลงในถังพลาสติกสีเหลือง (เวลานี้พัฒนารูปลักษณ์แปลกๆ ออกไปอีกมาก) ก็เลยเรียกกันว่า “ถังเหลือง” นั่นคือ “สังฆทาน” เอาถังเหลืองไปถวายพระ นั่นแหละคือได้ถวายสังฆทานแล้ว
คนในเมืองไทยสมัยหนึ่งถึงกับปักใจเชื่ออย่างเอาเป็นเอาตายว่า จะถวายสังฆทานต้องมีถังเหลือง ถ้าไม่มีถังเหลืองไม่เป็นสังฆทาน ถึงเวลานี้ก็ยังมีคนเชื่อแบบนี้อยู่
จาก “เจตนาถวายเป็นของสงฆ์” ซึ่งเป็นนามธรรมอันเป็นความหมายของ “สังฆทาน”
“สังฆทาน” ก็ถูกทำให้เข้าใจผิดกันไปทั่วโลกว่าเป็นรูปธรรม คือเป็นสิ่งของชนิดหนึ่งที่ร้านค้าจัดเตรียมไว้ให้ เอาสิ่งของนั้นไปถวายพระ นั่นแหละคือถวายสังฆทาน
ทั้งร้านค้า ทั้งวัด ทั้งพระ ต่างก็ตักตวงผลประโยชน์บนความเขลาของผู้คนกันอย่างเพลิดเพลิน-แม้จนทุกวันนี้
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คนไม่รู้ ให้ความรู้อย่างเดียวก็พอ
: แต่คนไม่ยอมรับรู้ ไม่ต้องให้อะไรเลยก็พอ
#บาลีวันละคำ (2,007) (ตอนพิเศษ)
10-12-60