บาลีวันละคำ

อุตตานมุข (บาลีวันละคำ 2,922)

อุตตานมุข

หนึ่งในคุณสมบัติของคนรับแขก

อ่านว่า อุด-ตา-นะ-มุก

ประกอบด้วยคำว่า อุตตาน + มุข

(๑) “อุตตาน

เขียนแบบบาลีเป็น “อุตฺตาน” อ่านว่า อุด-ตา-นะ โปรดสังเกตว่า มีจุดใต้ ตฺ ตัวหน้า บังคับให้เป็นตัวสะกด ถ้าไม่มีจุด คือเขียนเป็น “อุตตาน” เหมือนคำไทย ต้องอ่านว่า อุ-ตะ-ตา-นะ รากศัพท์มาจาก อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น, นอก) + ตนฺ (ธาตุ = แผ่ไป, ขยาย) + ปัจจัย, ลบ , ซ้อน ตฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (อุ + ตฺ + ตนฺ), ทีฆะ อะ ต้นธาตุเป็น อา “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” (ตนฺ > ตาน)

: อุ + ตฺ + ตนฺ = อุตฺตนฺ + = อุตฺตนฺณ > อุตฺตน > อุตฺตาน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่มีการแผ่ไปข้างบนเป็นประมาณ

อุตฺตาน” (คุณศัพท์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เหยียดยาวราบ, ทอดหลังลง, นอนหงาย (stretched out flat, lying on one’s back, supine)

(2) ชัด, แจ่มแจ้ง, เปิดเผย, มองเห็น (clear, manifest, open, evident)

(3) ผิวเผิน, ราบ, ตื้น (superficial, flat, shallow)

(๒) “มุข

บาลีอ่านว่า มุ-ขะ รากศัพท์มาจาก –

(1) มุขฺ (ธาตุ = เปิด, ไป, เป็นไป) + ปัจจัย

: มุขฺ + = มุข แปลตามศัพท์ว่า (1) “อวัยวะอันเขาเปิดเผย” (2) “อวัยวะเป็นเครื่องเป็นไปแห่งประโยชน์สุข

(2) มุ (ธาตุ = ผูก) + ปัจจัย

: มุ + = มุข แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องผูก

มุข” (นปุงสกลิงค์) หมายถึงอวัยวะ 2 อย่าง คือ ปาก (the mouth) และ หน้า (the face) จะหมายถึงอะไรต้องสังเกตที่บริบท

ในที่นี้ “มุข” หมายถึง ปาก (the mouth)

อุตฺตาน + มุข = อุตฺตานมุข (อุด-ตา-นะ-มุ-ขะ) แปลว่า “มีปาก (คือคำพูด) ที่เข้าใจได้ง่าย

อุตฺตานมุข” เขียนแบบไทยเป็น “อุตตานมุข” (ไม่มีจุดใต้ ต ตัวหน้า) อ่านว่า อุด-ตา-นะ-มุก

ขยายความ :

อุตฺตานมุข” เป็นหนึ่งในคุณสมบัติของพระพุทธองค์ แสดงไว้ในโสณทัณฑสูตรและกูฏทันตสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 9 ข้อ 182 และข้อ 203 ดังนี้ –

…………..

(1) เอหิสาคตวาที = กล่าวเชื้อเชิญ (a man of courtesy แปลตามตัว: one who habitually says: “come you are welcome”)

(2) สขิโล = ผูกไมตรี (kindly in speech)

(3) สมฺโมทโก = สุภาพ (polite)

(4) อพฺภากุฏิโก = ไม่หน้านิ่วคิ้วขมวด (not frowning, genial)

(5) อุตฺตานมุโข = ยิ้มแย้มแจ่มใส (speaking plainly, easily understood)

(6) ปุพฺพภาสี = ทักทายก่อน (speaking obligingly)

…………..

ผู้รู้ท่านพิจารณาแล้วลงความเห็นว่า นี่คือคุณสมบัติของคนที่ควรทำหน้าที่รับแขก

คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี ภาค 1 หน้า 425 อรรถกถาทีฆนิกาย ตอนอธิบายโสณทัณฑสูตร ขยายความคำว่า “อุตฺตานมุโข” ว่า –

…………..

อุตฺตานมุโขติ  ยถา  เอกจฺเจ  นิกฺกุชฺชิตมุขา  วิย  สมฺปตฺตาย  ปริสาย  น  กิญฺจิ  กเถนฺติ  อติทุลฺลภกถา  โหนฺติ  น  เอวรูโป  สมโณ  ปน  โคตโม  สุลภกโถ  น  ตสฺส  สนฺติกํ  อาคตาคตานํ  กสฺมา  มยํ  อิธาคตาติ  วิปฺปฏิสาโร  อุปฺปชฺชติ  ธมฺมํ  ปน  สุตฺวา  อตฺตมนาว  โหนฺตีติ  ทสฺเสติ.

คำว่า “อุตฺตานมุโข” ท่านแสดงความหมายไว้ว่า คนบางจำพวกมีหน้าคว่ำ เมื่อคนมาหา ก็ไม่พูดอะไรด้วย เอ่ยปากได้ยากอย่างยิ่ง แต่พระสมณโคดมไม่เป็นเช่นนั้น เอ่ยพระวาจาได้ง่าย ผู้ที่มาสู่สำนักของพระองค์ไม่เกิดความหงุดหงิดว่า นี่พวกเรามาทำไมกันที่นี่ (เสียเวลาจริงๆ) ตรงกันข้าม ได้ฟังพระพุทธดำรัสตรัสพระธรรมแล้วย่อมมีแต่เบิกบานใจ

…………..

ภาษาไทยเรามีคำว่า “หน้าคว่ำ” หมายถึง ทําหน้าแสดงอาการไม่พอใจหรือโกรธจนไม่เงยหน้าขึ้นมองดู ถ้าเทียบกับคำไทย “อุตฺตานมุข” ชวนให้แปลว่า “หน้าหงาย” มีอาการหรืออารมณ์ตรงกันข้าม คือยิ้มแย้มแจ่มใส

ยิ้มแย้มแจ่มใสนั้นแสดงออกทางสีหน้าอย่างเดียวไม่พอ ต้องประกอบด้วยกิริยาที่ร่าเริงและวาจาที่ไพเราะจึงจะสมบูรณ์

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อุตฺตานมุข” ว่า “clear mouthed”, speaking plainly, easily understood (“พูดชัด”, พูดง่าย ๆ, เข้าใจได้ชัด)

คำว่า “อุตตานมุข” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำที่ใกล้เคียงกันคำหนึ่ง คือ “อุตตานภาพ” (อุด-ตา-นะ-พาบ) บอกไว้ดังนี้ –

อุตตานภาพ : (คำที่ใช้ในบทร้อยกรอง) (คำกริยา) นอนหงาย เช่น รวบพระกรกระหวัดทั้งซ้ายขวาให้พระนางอุตตานภาพ. (ม. ร่ายยาว กุมาร), เขียนเป็น อุตตานะภาพ ก็มี เช่น ฉวยกระชากชฎาเกษเกล้าให้นางท้าวเธอล้มลงอุตตานะภาพ. (ม. กาพย์ กุมารบรรพ). (ป. อุตฺตาน ว่า หงาย + ภาว).”

ได้ความว่า “อุตตาน” ตามพจนานุกรมฯ หมายถึง “นอนหงาย” ตามความหมายของบาลีในข้อ (1) ข้างต้น

อภิปราย :

อุตตานมุข” หมายถึง ผู้ที่เมื่อพบปะเจอะเจอกัน ถามธุระกัน ก็เป็นคนพูดกันเข้าใจง่าย ไม่ใช่ประเภทถามคำตอบคำ หรือถามอะไรก็ไม่ค่อยอยากจะตอบไม่อยากจะคุยด้วย ตอบแล้วก็ยังไม่ค่อยจะรู้เรื่อง หรือพูดคุยไม่เป็นกันเอง ขอร้องขอแรงอะไรก็มักบอกปัดมากกว่าที่จะหาทางช่วย ไม่พร้อมที่จะบริการ มักหงุดหงิดปิดตัวเอง

อุตตานมุข” เป็นคนประเภทพูดคุยเป็นกันเอง ยิ้มแย้มแจ่มใส คุยกับแขกแล้วแขกสบายใจ ไม่บอกปัดธุระของแขก แต่ยินดีหาทางช่วยเท่าที่จะสามารถทำได้

เคยพบหรือไม่ ไปติดต่องานเรื่องเดียวกันที่หน่วยงานเดียวกันนั่นเอง คุยกับคนหนึ่ง ยาก แต่คุยกับอีกคนหนึ่ง ง่าย

อุตตานมุข” ตรงกับที่เราพูดกันว่า “คุยกันง่าย” หรือ “พูดกันง่าย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ค่าของปาก

: คือพูดเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย

#บาลีวันละคำ (2,922)

12-6-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *