สุราเมรย (บาลีวันละคำ 41)
สุราเมรย
อ่านว่า สุ-รา-เม-ระ-ยะ
ใช้ในภาษาไทยว่า สุราเมรัย (สุ-รา-เม-รัย)
สุรา แปลว่า เหล้า คือน้ำเมาที่กลั่นแล้ว
เมรัย แปลว่า นํ้าเมาที่เกิดจากการหมักหรือแช่, นํ้าเมาที่ไม่ได้กลั่น
ชาวพุทธจำได้ขึ้นใจว่า สุราเมรัย อยู่ในศีลข้อ 5
การเสพสุราเมรัยที่ถึงขั้นทำให้ศีลขาด ต้องครบองค์ประกอบ 4 ข้อ คือ
1 สิ่งที่ดื่มนั้นเป็นของเมา มีสุราเมรัยเป็นต้น
2 รู้ว่าเป็นของเมาและตั้งใจจะดื่ม
3 การดื่มเกิดขึ้นโดยการกระทำของตน
4 น้ำเมาล่วงลำคอเข้าไป
สุรา แปลว่า “เทวดา” ก็ได้ คราวหนึ่งพวกเทวดาทำพิธีกวนน้ำอมฤต (น้ำสุรา) แล้วหลอกเทวดาอีกพวกหนึ่งให้ดื่มจนเมามาย แล้วเข้ายึดเมือง ขับเทวดาขี้เมาตกสวรรค์ เทวดาที่เมาสุราจึงได้นามว่า “อสุรา” ไทยเรียก “อสูร” แปลว่า “ไม่ใช่เทวดา”
สุราเมรัย ดื่มแล้วเสียเงิน เมาแล้วเสียงาน ถ้ายังไม่หยุดก็เสียคน และในที่สุดอาจเสียบ้านเสียเมืองเหมือนพวกอสุราก็เป็นได้
บาลีวันละคำ (41)
13-6-55
สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี เว้นจากน้ำเมา คือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท (ข้อที่ ๕ ในศีล ๕ ศีล ๘ และศีล ๑๐)
สุรา
น. เหล้า, น้ำเมาที่ได้จากการกลั่น, (มักใช้เป็นทางการ), เช่น ร้านนี้ขายแต่สุราต่างประเทศ. (ป., ส.).