วิทยาการ (บาลีวันละคำ 1,803)
วิทยาการ
สำคัญอยู่ที่ว่า-เพื่อการอันใด
อ่านว่า วิด-ทะ-ยา-กาน
แยกศัพท์เป็น วิทยา + การ
(๑) “วิทยา”
บาลีเป็น “วิชฺชา” รากศัพท์มาจาก วิทฺ (ธาตุ = รู้) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, แปลง ทฺย (คือ (วิ)-ทฺ + (ณฺ)-ย) เป็น ชฺช + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: วิทฺ + ณฺย = วิทฺณย > วิทฺย > วิชฺช + อา = วิชฺชา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่รู้” หรือ “ตัวรู้” หมายถึง ความรู้, ปัญญาหยั่งรู้ (knowledge; transcendental wisdom)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิชฺชา” ว่า science, study, higher knowledge (วิทยาศาสตร์, การศึกษา, ความรู้ชั้นสูง)
บาลี “วิชฺชา” สันสกฤตเป็น “วิทฺยา”
โปรดสังเกตว่า ในขั้นตอนการกลายรูปของบาลี เป็น “วิทฺย” ก่อนแล้วจึงเป็น “วิชฺช”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“วิทฺยา : (คำนาม) วิทยา, พุทธิ; ศึกษา; ศาสตร์; พระทุรคาเทวี; ต้นไม้; มายาคุฏิกา; ยาเม็ดวิเศษหรือลูกอมอันสำเร็จด้วยเวทมนตร์ ใส่ปากบุทคลเข้าไปอาจจะบันดาลให้บุทคลขึ้นสวรรค์หรือเหาะได้; knowledge; learning; science; the goddess Durgā; a tree; a magical pill, by putting which in to the mouth a person has the power of ascending to heaven or traversing the air.”
อย่างไรก็ตาม ในคัมภีร์ คำว่า “วิชฺชา” มักใช้ในความหมายเฉพาะ คือหมายถึงญาณปัญญาที่บรรลุได้ด้วยการฝึกจิต
“วิชฺชา” ถ้าคงรูปบาลี ในภาษาไทยใช้ว่า “วิชา” (ตัด ช ออกตัวหนึ่ง)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิชา : (คำนาม) ความรู้, ความรู้ที่ได้ด้วยการเล่าเรียนหรือฝึกฝน, เช่น วิชาภาษาไทย วิชาช่าง วิชาการฝีมือ. (ป. วิชฺชา; ส. วิทฺยา).”
“วิชา” ตามความหมายในภาษาไทย ตรงกับคำว่า “สิปฺป” (สิบ-ปะ) ที่เราเอามาใช้ว่า “ศิลปะ”
“สิปฺป” ในบาลีหมายถึง ความสามารถที่จะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เป็นผลสำเร็จได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ทำได้ทำเป็นไม่ว่าจะในเรื่องอะไร นั่นแหละคือ “สิปฺป–ศิลปะ” หรือ “วิชา” ตามที่เข้าใจกันในภาษาไทย
“วิทยา” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิทยา : (คำนาม) ความรู้, มักใช้ประกอบกับคําอื่น เช่น วิทยากร วิทยาคาร จิตวิทยา สังคมวิทยา. (ส.).”
(๒) “การ” รากศัพท์คือ กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ยืดเสียง อะ ที่ ก– เป็น อา
: กรฺ + ณ = กร > การ แปลตามศัพท์ว่า “การทำ”
“การ” ถ้าใช้ตามลำพัง มีความหมายว่า การกระทำ, กิริยาอาการ, วิธีทำ, การบริการ, การกระทำที่แสดงความเมตตา ความเคารพ หรือความนับถือ; ผู้ทำ ผู้จัดการ หรือผู้ค้า
“การ” ถ้าใช้ต่อท้ายคำอื่น มีความหมายแตกต่างกันไปตามคำนั้นๆ เช่น –
อหํการ = อหังการ “กระทำว่าเรา” = มองเห็นแต่ตนเอง (selfishness)
อนฺธการ = อันธการ “กระทำความมืด” = ความมืด (darkness)
สกฺการ = สักการ = การสักการะ, เครื่องสักการะ (homage)
พลกฺการ = พลการ = การใช้กำลัง (forcibly)
ในภาษาไทย เรานำคำว่า “การ” มาใช้และกลายเป็นคำไทยจนแทบจะไม่ได้นึกว่าเป็นบาลี เช่นคำว่า “จัดการ” “เผด็จการ” เป็นต้น
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “การ” ในภาษาไทยไว้ว่า –
(1) การ ๑ : (คำนาม) งาน, สิ่งหรือเรื่องที่ทํา, มักใช้เข้าคู่กับคํา งาน เช่น การงาน เป็นการเป็นงาน ได้การได้งาน, ถ้าอยู่หน้านาม หมายความว่า เรื่อง, ธุระ, หน้าที่, เช่น การบ้าน การครัว การคลัง การเมือง, ถ้าอยู่หน้ากริยา ทํากริยาให้เป็นนาม เช่น การกิน การเดิน.
(2) –การ ๒ : (คำนาม) ผู้ทํา, มักใช้เป็นส่วนท้ายสมาสคําบาลีและสันสกฤต เช่น กรรมการ ตุลาการ, ถ้าอยู่หลังคําอื่นที่ไม่ใช่คําศัพท์ มีความหมายเป็นเฉพาะก็มี เช่น กงการ เจ้าการ นักการ ผู้บังคับการ ผู้กำกับการ.
(3) –การ ๓ : คําประกอบท้ายสมาสคําบาลีและสันสกฤต มีความหมายเหมือน การ ๑ เช่น ราชการ พาณิชยการ.
วิทยา + การ = วิทยาการ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิทยาการ : (คำนาม) ความรู้แขนงต่าง ๆ เช่น ปัจจุบันวิทยาการต่าง ๆ ก้าวหน้าไปมาก, บางทีใช้ว่า ศิลปวิทยาการ.”
ตามความหมายของพจนานุกรมฯ คำว่า “การ” ในที่นี้น่าจะมีลักษณะอย่างเดียวกับคำว่า “ชาติ” ซึ่งพจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า “คำเพิ่มข้างหลังของคำเดิม เมื่อเพิ่มแล้วความหมายคงเดิม เช่น รสชาติ”
นั่นคือ “วิทยาการ” ก็คือ “วิทยา” นั่นเอง เพิ่ม “การ” เข้าไปแล้วความหมายคงเดิม
ในภาษาไทย มีอีกคำหนึ่งที่มาจากรากศัพท์เดียวกัน และมีความหมายไม่ต่างกัน คือ “วิชาการ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิชาการ : (คำนาม) วิชาความรู้สาขาใดสาขาหนึ่งหรือหลายสาขา เช่น บทความวิชาการ สัมมนาวิชาการ การประชุมวิชาการ.”
ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยดูหนังชุดทางโทรทัศน์ เป็นหนังฝรั่ง ชื่อภาษาไทยว่า “จารชนคอมพิวเตอร์” ผู้แปลบทพากย์แปลประโยคว่า We have technology เป็นไทยว่า “เรามีวิชาการ”
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปลคำว่า “วิชาการ” เป็นอังกฤษว่า technology
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล technology เป็นบาลีดังนี้ –
(1) kalāviññāṇa กลาวิญฺญาณ (กะ-ลา-วิน-ยา-นะ) = การรู้จักวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างแจ่มแจ้งแล้วนำไปใช้จนเกิดผล
(2) sippavijjā สิปฺปวิชฺชา (สิบ-ปะ-วิด-ชา) = ความรู้ที่สามารถนำไปปฏิบัติให้เป็นผลสำเร็จได้จริง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ทำบุญด้วยความรู้ความเข้าใจหยาบๆ
: ประเสริฐกว่าทำบาปด้วยวิทยาการที่ละเอียดลึกซึ้ง
16-5-60