บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ทศบารมี วิถีสู่พุทธภูมิ

———————-

มีญาติมิตรท่านหนึ่งอยากรู้เรื่อง “บารมี” มาอาราธนาให้ผมเขียน

เรื่อง “บารมี” นี้ผมเคยเขียนเป็นหนังสือเล่มหนึ่งเมื่อปี ๒๕๕๓ คือเมื่อ ๑๐ ปีที่ผ่านมา ชื่อ “ทศบารมี วิถีสู่พุทธภูมิ” ความยาวประมาณ ๒๕๐ หน้า พิมพ์เป็นธรรมทาน แจกจ่ายไปหมดแล้ว ไม่ได้พิมพ์อีก ท่านผู้ใดมีศรัทธาจะพิมพ์เป็นธรรมทาน ผมจะอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง

ในบท “นำร่อง” ซึ่งก็คือคำนำของหนังสือเล่มนี้ ผมเขียนไว้ดังนี้

…………………

เรื่อง “ทศบารมี วิถีสู่พุทธภูมิ” นี้ มีปฐมเหตุอยู่นิดเดียวแท้ๆ 

คือ เราเรียนรู้กันมาว่า ทานมีอยู่ ๒ อย่าง คือ อามิสทาน กับ ธรรมทาน 

แต่อยู่มาวันหนึ่งก็มีคนพูดถึงอภัยทานรวมไปกับทาน ๒ อย่างนั้น กลายเป็นทาน ๓ อย่าง คือ อามิสทาน  ธรรมทาน และ อภัยทาน  

ผมก็เลยเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า ที่เอาอภัยทานไปพูดรวมกับอามิสทานและธรรมทานนั้น พูดกันเอาเองตามความเข้าใจของผู้พูด หรือว่ามีที่ไปที่มาอย่างไร

ที่สงสัยอย่างนี้ก็เพราะเวลานี้ (ความจริงเวลาไหนๆ ก็เหมือนกัน) มีคนชอบพูดหรือทำอะไรไปตามความเชื่อความเข้าใจของตัวเอง แล้วบอกว่าเป็นคำสอนของพระพุทธศาสนา 

คนที่ได้ฟัง หรือได้เห็นการกระทำนั้นก็มักจะเชื่อตามไปอีกต่อหนึ่งว่า นั่นเป็นคำสอนในพระพุทธศาสนาจริงๆ 

โดยที่ไม่มีการพิจารณาค้นคว้าตรวจสอบไปให้ถึงต้นเค้าเดิมว่าพระพุทธศาสนามีคำสอนเช่นนั้นจริงหรือเปล่า 

ยิ่งถ้าผู้ทำผู้พูดเป็นพระสงฆ์หรือผู้ทรงภูมิรู้เป็นที่รู้จักในสังคมด้วยแล้ว ก็จะถูกยกขึ้นมาอ้างอิงให้เชื่ออย่างสนิทใจเข้าไปอีกว่า – 

หลวงพ่อองค์นั้นอาจารย์ท่านนี้ ท่านสอนท่านทำ ถ้าไม่ใช่ไม่ถูก ท่านจะเอามาสอนเอามาทำหรือ

สังคมไทยเวลานี้กำลังเป็นอย่างที่ว่านี้ คือติดอยู่แค่อาจารย์ ไปไม่ถึงพระพุทธเจ้า

บางสำนักตั้งพระพุทธรูปเป็นแค่เครื่องประดับบารมีของรูปอาจารย์เท่านั้น 

แล้วก็นับถือบูชาอาจารย์ยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า เชื่อคำพูดของอาจารย์ยิ่งกว่าพระพุทธพจน์คือคำพูดของพระพุทธเจ้า 

ทั้งๆ ที่คำพูดของพระพุทธเจ้าก็มีให้ตรวจสอบพิสูจน์อยู่แทบทุกหัวระแหง นั่นคือคัมภีร์พระไตรปิฎก รวมทั้งอรรถกถาฎีกาทั้งหลาย ที่มีอยู่ทั่วทุกวัดในเมืองไทย 

แต่กลับไม่มีใครที่จะสนใจใฝ่ศึกษาเรียนรู้ 

พูดอย่างนี้ก็เคยมีคนเถียงแทนว่า ชาวบ้านเขาต้องทำมาหากิน จะเอาเวลาที่ไหนไปอ่านพระไตรปิฎก 

หรือไม่ก็อ้างว่า ชาวบ้านเขาไม่มีความรู้ จะให้เขาพูดถูกทำถูกไปเสียทุกเรื่องอย่างผู้รู้ได้อย่างไร คนที่รู้นั่นแหละควรจะบอกเขา  ทำไมไม่บอก 

คำเถียงนี้ก็น่าฟังอยู่ 

แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏก็คือ พอมีผู้เอาความรู้ที่ถูกต้องตามพระไตรปิฎกมาพูดมาบอกให้ฟัง คนที่อ้างว่าไม่มีความรู้และไม่มีเวลาเพราะต้องไปมัวทำมาหากินนั่นเองก็มักไม่ฟัง หรือไม่มีเวลาฟัง 

แต่มีเวลาที่จะเพลิดเพลินเจริญใจกับหนังละครทางโทรทัศน์ได้วันละนานๆ คืนละมากๆ กันแทบทุกบ้านทุกคน 

ถ้าอุทิศเวลาให้แก่การศึกษาเรียนรู้คำสอนของพระพุทธเจ้าวันละนานๆ คืนละมากๆ แบบที่อุทิศให้แก่หนังละครและรายการบันเทิงทางโทรทัศน์ ก็คงจะดีไม่น้อย

ก็คงมีคนเถียงให้อีกว่า คนเราไม่เหมือนกัน จะเกณฑ์ให้คนทั้งหลายเขามาสนใจธรรมะเหมือนกับเป็นคนแก่วัดได้อย่างไร

ทีนี้ เพราะไม่รู้ ก็เลยทำอะไรไม่ถูก ใครพูดอะไรทำอะไรที่เกี่ยวกับวัดๆ ก็วินิจฉัยไม่ได้ว่าถูกหรือผิด ก็เลยต้องเชื่อตามเขาไปว่านั่นเป็นคำสอนในพระพุทธศาสนาจริงๆ

เรื่องก็จะวนกลับไปที่เดิมอีก

ก็เลยไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไรกันแน่ หรือไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไรกันดี

ผมเป็นคนโชคดีหน่อยที่ครูบาอาจารย์ท่านเคี่ยวเข็ญให้พอมีความรู้ที่จะอ่านพระไตรปิฎกได้เอง เหมือนกับท่านมอบกุญแจวิเศษให้เอาไปไขดูสมบัติในพระพุทธศาสนาเอาเอง ไม่ต้องให้ท่านลำบากพาไปดูไปชมเสียทุกอย่างไป 

เวลามีใครเอาเรื่องสมบัติในพระพุทธศาสนามาคุยให้ฟัง ถ้าสงสัยก็พอจะไปตรวจสอบดูได้ด้วยตัวเองว่าของจริงเป็นอย่างไร ไม่ต้องเชื่อตามไปทุกอย่าง

พูดอย่างนี้ บางท่านจะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นการอวดตัว จึงขอเรียนให้ทราบว่า – 

ครูบาอาจารย์ที่สอนผมมา ท่านเป็นมนุษย์ธรรมดา 

ผมผู้รับถ่ายทอดความรู้จากท่าน ก็เป็นมนุษย์ธรรมดา 

และยังมีมนุษย์ธรรมดาอีกมากมายที่สามารถเรียนรู้ได้แบบเดียวกัน 

ท่านผู้ที่กำลังอ่านหนังสือเล่มนี้อยู่ก็เป็นมนุษย์ธรรมดาอีกคนหนึ่งที่สามารถเรียนรู้ได้เช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้น ทุกคนจึงย่อมมีสิทธิ์ที่จะมีกุญแจไขเข้าไปชมสมบัติในพระพุทธศาสนาได้อย่างเท่าเทียมกัน – ถ้าต้องการ

และ – ถ้าสนใจใฝ่เรียนรู้

……………

เมื่อสงสัยเรื่องอามิสทาน ธรรมทาน และอภัยทาน ดังที่ว่ามา ผมก็ไปค้นดูในพระไตรปิฎก

พบแต่อามิสทานกับธรรมทาน อย่างที่เคยเรียนรู้มา (ในคัมภีร์อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต (ทุ-กะ-นิ-บาด) พระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ ข้อ ๓๘๖ พบ ๑ แห่ง และในคัมภีร์อิติวุตตกะ พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ พบ ๓ แห่ง คือ ทานสูตร ข้อ ๒๗๘, พราหมณสูตร ข้อ ๒๘๐ และ พหุการสูตร ข้อ ๒๘๗)

ไม่พบอภัยทาน 

แม้แต่ศัพท์ว่า อภัยทาน ก็ไม่มี

แต่มีคำว่า อภัยทักขิณา (สมุททกสูตร สักกสังยุต สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๕ ข้อ ๙๐๐, ๙๐๑ และในมหาหังสชาดก อสีตินิบาต  ชาดก  พระไตรปิฎกเล่ม ๒๘ ข้อ ๒๐๖)

คำว่า อภัยทักขิณา อรรถกถาไขความว่า อภัยทาน

สรุปว่า มีพูดถึงอภัยทานในพระไตรปิฎก  แต่มาโดดๆ ไม่ได้รวมเป็นชุดกับอามิสทานและธรรมทาน

แต่อย่างไรก็ตาม ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถามีกล่าวถึงทานทั้ง ๓ ประการนี้ไว้ในที่เดียวกัน คือในคัมภีร์ปรมัตถทีปนี อรรถกถาอิติวุตตกะ ( BUDSIR VI หมวดอรรถกถา เล่ม ๒๗) หน้า ๒๙๖ อธิบายจวมานสูตร, หน้า ๓๕๒ อธิบายทานสูตร, หน้า ๓๖๒-๓๖๓ อธิบายพราหมณสูตร

และในคัมภีร์ปรมัตถทีปนี (ชื่อเดียวกัน แต่เป็นคนละคัมภีร์) อรรถกถาจริยาปิฎก (BUDSIR VI หมวดอรรถกถา เล่ม ๕๒  ตอนปกิณกกถา หน้า ๓๔๑, ๓๕๑, ๓๕๒)

เป็นอันว่า การกล่าวถึงทาน ๓ ประการ คือ อามิสทาน ธรรมทาน และอภัยทานนั้น มีที่ไปที่มาอยู่ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา ไม่ใช่พูดกันไปเองตามความเข้าใจของใครบางคนในสมัยนี้

เมื่อพบที่ไปที่มาเช่นนี้แล้ว ผมก็อนุโมทนาสาธุการเป็นอย่างยิ่ง 

ยิ่งเมื่อศึกษาดูรายละเอียดตามที่ท่านแสดงไว้ โดยเฉพาะในอรรถกถาจริยาปิฎก ตอนที่ท่านอธิบายเรื่องทศบารมี นอกจากจะหายสงสัยแล้วยังประทับใจกับวิธีให้เหตุผลว่าทำไมจึงควรบำเพ็ญทาน 

เหตุผลแต่ละข้อคมคายและลึกซึ้ง 

บางข้อเราก็ไม่เคยคิดกันมาก่อน เช่นท่านบอกว่า 

………………………………

คนที่มาขออะไรเรานั้นก็คือคนที่มาช่วยเราขนของหนีไฟที่กำลังไหม้บ้านเราอยู่ และยังช่วยเฝ้าระวังดูแลไว้ให้เป็นอย่างดีในที่ปลอดภัย

………………………………

ฟังแล้วเกิดศรัทธาอยากให้ขึ้นมาเป็นกำลัง

เหตุผลที่ลึกซึ้งแบบนี้ยังมีอีกหลากหลาย ไม่ใช่เฉพาะเรื่องทาน แม้ในเรื่องศีล เรื่องปัญญา เรื่องขันติ  คือเรื่องบารมีต่างๆ ครบทั้ง ๑๐ ข้อ ท่านอธิบายไว้น่าฟัง น่าศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง 

ฟังแล้วอยากบำเพ็ญบารมีตามรอยเท้าพระโพธิสัตว์

ผมก็เลยเกิดความคิดขึ้นมาว่า เรื่องที่เป็นกุศลกรรมอันดีงามเช่นนี้ ไม่น่าจะอ่านอยู่คนเดียว แต่ควรจะเชิญชวนมิตรสหายทางธรรมได้เข้ามาอ่านกันให้มากๆ 

แต่เนื่องจากต้นฉบับท่านรจนาเป็นภาษาบาลี แค่อ่านคำบาลีให้ถูกก็ยากอยู่แล้วสำหรับคนทั่วไป ยังไม่ต้องพูดถึงอ่านให้รู้เรื่อง 

แม้จะมีท่านผู้รู้แปลไว้ในหนังสือชุด พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ของมหามกุฏราชวิทยาลัย ก็ยังอ่านเข้าใจยากอยู่นั่นเอง

ผมจึงรับอาสากับตัวเอง ถ่ายทอดเนื้อหาของเรื่องออกมาเป็นภาษาไทยตามประสาและตามภาษาของผมเอง เท่าที่ปัญญาอันน้อยนิดจะอำนวยให้ทำได้ 

วิธีเช่นนี้ตามตำรานิยมเรียกกันว่า แปลและเรียบเรียง 

แต่ผมอาจจะทำนอกตำราไปบ้าง คือผมใช้วิธีซึมซับความหมายจากต้นฉบับไว้ในความเข้าใจของตัวเอง แล้วย่อยออกมาเป็นภาษาของผมเองแบบไม่ต้องห่วงภาษาในต้นฉบับ โดยคาดหวังว่าวิธีนี้จะทำให้ท่านผู้อ่านได้รับอรรถรสของเรื่องเท่าๆ กับที่ท่านจะอ่านเองจากต้นฉบับ 

แต่ถึงกระนั้นผมก็ขอยืนยันว่า ถ้าท่านสามารถอ่านเองจากต้นฉบับได้ ท่านจะได้รับอรรถรสที่ลึกซึ้งกว่าที่ผมถ่ายทอดมานี้อย่างชนิดที่เทียบกันไม่ได้เลย 

เพราะฉะนั้น ถ้าท่านอ่านเรื่องนี้แล้วไม่ประทับใจ ก็ขอได้โปรดทราบว่า เป็นเพราะความอ่อนด้อยของผมเอง หาใช่ว่าต้นฉบับท่านรจนาไว้ไม่ไพเราะแต่อย่างใดไม่ 

และผมขอกราบขออภัยไว้ล่วงหน้ามา ณ ที่นี้ด้วย

หากท่านอ่านเรื่องนี้แล้วเกิดศรัทธาอุตสาหะที่จะทำความดีเพื่อประโยชน์แก่เพื่อนร่วมโลกอย่างบริสุทธิ์ใจให้มากขึ้น – แม้เพียงคนเดียว ผมก็ดีใจเป็นที่สุดแล้ว 

และขออนุโมทนาล่วงหน้ามา ณ ที่นี้ด้วยเช่นเดียวกัน

…………………

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๓

๑๑:๒๙

………………………………………

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *