บาลีวันละคำ

ปัญญาอ่อน (บาลีวันละคำ 2,931)

ปัญญาอ่อน

อ่านว่า ปัน-ยา-อ่อน

ปัญญาอ่อน” เป็นศัพท์บัญญัติ มาจากคำอังกฤษว่า mental deficiency, mental retardation (มีคำอื่นอีก)

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล mental เป็นบาลีว่า –

(1) mānasika มานสิก (มา-นะ-สิ-กะ) = เกี่ยวกับจิตใจ

(2) manomaya มโนมย (มะ-โน-มะ-ยะ) = สำเร็จด้วยใจ, ทางใจ

(3) cetasika เจตสิก (เจ-ตะ-สิ-กะ) = เกี่ยวกับจิตใจ

และแปล deficiency เป็นบาลีว่า –

(1) ūnatta อูนตฺต (อู-นัด-ตะ) = ความหย่อน, ความพร่อง

(2) ūnatā อูนตา (อู-นะ-ตา) = ความหย่อน, ความพร่อง

(3) vekalla เวกลฺล (เว-กัน-ละ) = ความบกพร่อง

(4) asampuṇṇatta อสมฺปุณฺณตฺต (อะ-สำ-ปัน-นัด-ตะ) = ความไม่สมบูรณ์

เอาคำบาลีตามที่พจนานุกรมแปลไว้มาประกอบกันเข้า ก็ไม่ตรงกับศัพท์บัญญัติ คือ “ปัญญาอ่อน” ซึ่งเป็นคำบาลีปนไทย

แต่คำว่า “ปัญญาอ่อน” รูปคำกลับไปตรงกับคำบาลีตรงๆ คือ “มนฺทปญฺญา” อ่านว่า มัน-ทะ-ปัน-ยา เป็นคำที่มีใช้ในคัมภีร์ ประกอบด้วยคำว่า มนฺท + ปญฺญา

(๑) “มนฺท” 

บาลีอ่านว่า มัน-ทะ รากศัพท์มาจาก มนฺทฺ (ธาตุ = หลับ; โง่, เซอะ) + (อะ) ปัจจัย

: มนฺทฺ + = มนฺท แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้หลับ” (หมายถึงไม่รับรู้อะไรหรือรับรู้ได้ยาก) (2) “ผู้โง่เขลา

มนฺท” (คุณศัพท์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ช้า, เกียจคร้าน, ขี้เกียจ (slow, lazy, indolent)

(2) [เกี่ยวกับภูมิปัญญา the intellectual faculties] โง่, ทึบ, ตื้อ, เขลา, งี่เง่า (dull, stupid, slow of grasp, ignorant, foolish)

(3) ช้า, เอื่อย, ไม่ได้ประโยชน์ (slow, yielding little result, unprofitable)

(4) นุ่ม, หวาน [เกี่ยวกับตา], น่ารัก (soft, tender) [with ref. to eyes], lovely)

(5) ช้าลง, อ่อนกำลัง, น้อยลง (slowed down, enfeebled, diminished)

(๒) “ปญฺญา

เขียนแบบบาลีมีจุดใต้ ตัวหน้า อ่านว่า ปัน-ยา รากศัพท์มาจาก (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + ญา (ธาตุ = รู้) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ, ซ้อน ญฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ ( + ญฺ + ญา)

: + ญฺ + ญา = ปญฺญา + กฺวิ = ปญฺญากฺวิ > ปญฺญา แปลตามศัพท์ว่า (1) “ธรรมชาติเป็นเครื่องรู้” (2) “การรู้โดยทั่วถึง

นักอธิบายธรรมะอธิบายลักษณะของ “ปญฺญา” โดยอาศัยความหมายตามรากศัพท์ว่า “ปัญญา” มีความหมายว่า –

(1) “รู้ทั่วถ้วนทั่วถึง

(2) “รู้ล่วงหน้า” (รู้ว่าเหตุอย่างนี้จะเกิดผลอย่างไร, ต้องการผลอย่างนี้จะต้องทำเหตุอย่างไร)

(3) “รู้ก่อนที่จะทำ จะพูด จะคิด

(4) “รู้แล้วนำชีวิตหลุดออกจากปัญหา พ้นจากทุกข์ได้

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายของ “ปญฺญา” ไว้ดังนี้ –

(1) ความหมายตามตัวอักษร :

“intellect as conversant with general truths” (พุทธิปัญญาอันประกอบด้วยความช่ำชองในเรื่องสัจจะโดยทั่วๆ ไป)

(2) intelligence, comprising all the higher faculties of cognition (ความฉลาด, พุทธิปัญญาประกอบด้วยประติชานหรือความรู้ชั้นสูง)

(3) reason, wisdom, insight, knowledge, recognition (เหตุผล, ปัญญา, การเล็งเห็น, ความรู้, ประติชาน)

ปญฺญา” เขียนแบบไทยเป็น “ปัญญา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปัญญา : (คำนาม) ความรอบรู้, ความรู้ทั่ว, ความฉลาดเกิดแต่เรียนและคิด, เช่น คนมีปัญญา หมดปัญญา. (ป.).”

มนฺท + ปญฺญา = มนฺทปญฺญา แปลว่า “ผู้มีปัญญาน้อย” หรือ “ผู้มีปัญญาอ่อน” (dull, stupid, slow of grasp, ignorant, foolish)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปัญญาอ่อน : (คำนาม) ภาวะที่มีระดับสติปัญญาด้อยหรือตํ่ากว่าปรกติ มักมีสาเหตุเกิดขึ้นในระหว่างพัฒนาการ ทําให้เด็กมีความสามารถจํากัดในด้านการเรียนรู้และมีพฤติกรรมปรับตัวไม่อยู่ในระดับที่ควรเป็น.ว. มีระดับสติปัญญาด้อยหรือต่ำกว่าปรกติ.”

มนฺทปญฺญา” หรือ “มนฺทปญฺโญ” (คุณศัพท์) ในบาลีหมายถึง คนที่คิดช้า ทำช้า เมื่อทำก็เลือกวิธีการที่ยุ่งยาก เสียเวลามากแต่ได้ผลช้าหรือได้ผลน้อย งานชนิดเดียวกัน คนอื่นเขาทำเสร็จแล้ว แต่คน “มนฺทปญฺโญ” ยังทำไม่เสร็จแม้จะใช้เวลาเท่ากัน

จะเห็นได้ว่า “มนฺทปญฺโญ” ไม่ได้หมายถึงคนปัญญาอ่อนแบบความหมายในภาษาไทยตามศัพท์บัญญัติซึ่งจะมีอาการเหมือนคนยังไม่รู้เดียงสา

มนฺทปญฺโญ” รู้เดียงสาทุกอย่าง แต่วิธีคิด วิธีทำ วิธีตัดสินใจ และวิธีสรุป ไม่ค่อยฉลาด

…………..

ดูก่อนภราดา!

คนที่สามารถสรุปอะไรได้ง่ายๆ –

: ถ้าไม่ใช่เพราะฉลาดสุดๆ

: ก็ต้องเพราะโง่สุดๆ

#บาลีวันละคำ (2,931)

21-6-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *