บาลีวันละคำ

เอหิปัสสิโก (ชุดธรรมคุณ 6) (บาลีวันละคำ 3,774)

เอหิปัสสิโก (ชุดธรรมคุณ 6)

…………..

ผู้นับถือพระพุทธศาสนาย่อมสวดสาธยายคุณแห่งพระรัตนตรัย คือ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ กันอยู่เสมอ

คำบาลีแสดงพระธรรมคุณว่าดังนี้ –

…………..

สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม

สนฺทิฏฺฐิโก อกาลิโก เอหิปสฺสิโก

โอปนยิโก ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหีติ.

ที่มา: มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค

พระไตรปิฎกเล่ม 10 ข้อ 89 หน้า 111

…………..

พระธรรมคุณ 6 ท่านนับบทว่า “เอหิปัสสิโก” เป็นบทที่ 4

คำว่า “เอหิปัสสิโก” เป็นการเขียนแบบคำไทย ตรงกับเขียนแบบคำอ่าน อ่านว่า เอ-หิ-ปัด-สิ-โก

“เอหิปัสสิโก” เขียนแบบบาลีเป็น “เอหิปสฺสิโก” อ่านว่า เอ-หิ-ปัด-สิ-โก รูปคำเดิมเป็น “เอหิปสฺสิก” อ่านว่า เอ-หิ-ปัด-สิ-กะ รากศัพท์มาจาก เอหิ + ปสฺส + อิก ปัจจัย

(๑) “เอหิ”

อ่านว่า เอ-หิ เป็นคำกริยาอาขยาต กัตตุวาจก มัธยมบุรุษ (ประธานเป็นผู้ที่เราพูดด้วย) เอกพจน์ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ) + อิ (ธาตุ = ไป) + อ (อะ) ปัจจัย + หิ ปัญจมีวิภัตติ, แปลง อา กับ อิ เป็น เอ

: อา + อิ = เอ + อ = เอ + หิ = เอหิ แปลตามศัพท์ว่า “(อันว่าท่าน) จงมา” เป็นคำบอกเชิญว่า จงมา, มานี่ (come, come here)

(๒) “ปสฺส”

อ่านว่า ปัด-สะ เป็นคำกริยาอาขยาต กัตตุวาจก มัธยมบุรุษ (ประธานเป็นผู้ที่เราพูดด้วย) เอกพจน์ รากศัพท์มาจาก ทิสฺ (ธาตุ = ดู) + อ (อะ) ปัจจัย + หิ ปัญจมีวิภัตติ, แปลง ทิสฺ เป็น ปสฺส, ลบ หิ วิภัตติ

: ทิสฺ > ปสฺส + อ = ปสฺส + หิ = ปสฺสหิ > ปสฺส แปลตามศัพท์ว่า “(อันว่าท่าน) จงดู”

(1) เอหิ + ปสฺส = เอหิปสฺส

(2) เอหิปสฺส + อิก ปัจจัย = เอหิปสฺสิก

“เอหิปสฺสิก” เป็นคำพิเศษ คือเอาคำกริยา 2 คำ คือ “เอหิ” = จงมา กับ “ปสฺส” = จงดู มาใช้อย่างคำนามโดยวิธีสมาสกันเป็น “เอหิปสฺส” แปลว่า “ท่านจงมา จงดู” = ท่านจงมาดู

แล้วลง อิก ปัจจัย เป็น “เอหิปสฺสิก” เพื่อทำให้เป็นคำวิเศษณ์ หรือคุณศัพท์ แปลความว่า “พระธรรมเป็นสิ่งที่ควรกล่าวกะผู้อื่นว่าท่านจงมาดูเถิด”

ในที่นี้ “เอหิปสฺสิก” เป็นคำขยาย ( = วิเสสนะ) ของ “ธมฺโม” (พระธรรม, ที่คำขึ้นต้นว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม) คำขยายหรือวิเสสนะต้องมีลิงค์ วจนะ วิภัตติ เหมือนคำนามที่ตนขยาย

“ธมฺโม” เป็นคำนาม แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์

“เอหิปสฺสิก” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “เอหิปสฺสิโก” เขียนแบบไทยเป็น “เอหิปัสสิโก” อ่านว่า เอ-หิ-ปัด-สิ-โก

ขยายความ :

“เอหิปัสสิโก” เป็นคุณนามบทที่ 2 ของพระธรรม ขยายความว่า พระธรรมควรเรียกให้มาดู คือ เชิญชวนให้มาชม เหมือนของดีวิเศษที่ควรป่าวร้องให้มาดู หรือท้าทายต่อการพิสูจน์ เพราะเป็นของจริงและดีจริง

คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 1 หน้า 277 (ฉอนุสสตินิทเทส) แสดงเหตุที่พระธรรมได้นามว่า “เอหิปัสสิโก” ไว้ดังนี้ –

…………..

เอหิ ปสฺส อิมํ ธมฺมนฺติ เอวํ ปวตฺตํ เอหิปสฺสวิธึ อรหตีติ เอหิปสฺสิโก ฯ

พระธรรมชื่อว่า เอหิปสฺสิโก เพราะควรซึ่งเอหิปัสสวิธี (วิธีเรียกให้มาดู) อันเป็นไปโดยคำว่า “ท่านจงมาดูธรรมนี้” ดังนี้

กสฺมา ปเนส ตํ วิธึ อรหตีติ ฯ

ถามว่า เพราะเหตุไรธรรมนั้นจึงควรแก่วิธีนั้น

วิชฺชมานตฺตา จ ปริสุทฺธตฺตา จ ฯ

ตอบว่า เพราะธรรมนั้นเป็นของมีอยู่จริงด้วย เพราะธรรมนั้นเป็นของบริสุทธิ์ด้วย

ริตฺตมุฏฺฐิยญฺหิ หิรญฺญํ วา สุวณฺณํ วา อตฺถีติ วตฺวาปิ เอหิ ปสฺส อิมนฺติ น สกฺกา วตฺตุํ ฯ กสฺมา ฯ อวิชฺชมานตฺตา ฯ

คนที่กำมือเปล่าๆ แม้จะพูดหลอกกันได้ว่ามีเงินหรือทองอยู่ในกำมือ แต่ก็ไม่กล้าเรียกใครๆ ว่า “จงมาดูเงินหรือทองนี้สิ” เพราะอะไร? เพราะเงินหรือทองนั้นไม่มีอยู่จริง

วิชฺชมานมฺปิ จ คูถํ วา มุตฺตํ วา มนุญฺญภาวปฺปกาสเนน จิตฺตสมฺปหํสนตฺถํ เอหิ ปสฺส อิมนฺติ น สกฺกา วตฺตุํ อปิจ โข ปน ติเณหิ วา ปณฺเณหิ วา ปฏิจฺฉาเทตพฺพเมว โหติ ฯ กสฺมา ฯ อปริสุทฺธตฺตา ฯ

และคูถหรือมูตรแม้มีอยู่จริง ก็ไม่อาจจะทำให้เป็นของน่าชื่นใจ เรียกใครๆ ว่า “จงมาดูคูถหรือมูตรนี้ให้ชื่นใจสิ” มีแต่จะรีบเอาหญ้าบ้าง ใบไม้บ้างมาปกปิดไว้ เพราะอะไร? เพราะคูถหรือมูตรนั้นเป็นของโสโครก

อยํ ปน นววิโธปิ โลกุตฺตรธมฺโม สภาวโต จ วิชฺชมาโน วิคตวลาหเก จ อากาเส สมฺปุณฺณจนฺทมณฺฑลํ วิย ปณฺฑุกมฺพเล นิกฺขิตฺตชาติมณิ วิย จ ปริสุทฺโธ

ส่วนโลกุตรธรรมทั้งเก้านี้ โดยสภาพเป็นจริง เป็นของมีอยู่จริงด้วย เป็นสิ่งบริสุทธิ์ด้วย ดุจดวงจันทร์เพ็ญในท้องฟ้าอันปราศจากเมฆหมอก และดุจแก้วมณีบริสุทธิ์อันแต่งตั้งวางไว้ที่ผ้าบัณฑุกัมพลฉะนั้น

ตสฺมา วิชฺชมานตฺตา ปริสุทฺธตฺตา จ เอหิปสฺสวิธิมรหตีติ เอหิปสฺสิโก ฯ

เพราะเหตุนั้น โลกุตรธรรมจึงชื่อว่า เอหิปัสสิโก เหตุว่าควรแก่การที่จะเชิญชวนกันให้มาดู เพราะเป็นของที่มีอยู่จริงและเพราะเป็นสิ่งบริสุทธิ์ฉะนี้

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “เอหิปสฺสิโก” สรุปความไว้ดังนี้ –

…………..

เอหิปสฺสิโก : (พระธรรม) ควรเรียกให้มาดู คือ เชิญชวนให้มาชม เหมือนของดีวิเศษที่ควรป่าวร้องให้มาดู หรือท้าทายต่อการพิสูจน์ เพราะเป็นของจริงและดีจริง (ข้อ ๔ ในธรรมคุณ ๖)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าไม่ช่วยกันรักษาพระธรรมวินัย

: จะเหลืออะไรไว้เรียกให้ชาวโลกมาดู

#บาลีวันละคำ (3,774)

12-10-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *