ปัตติทานคาถา [1] (บาลีวันละคำ 2,932)
ปัตติทานคาถา [1]
ยิ่งแบ่งยิ่งได้
ยิ่งให้ยิ่งมาก
อ่านว่า ปัด-ติ-ทา-นะ-คา-ถา
ประกอบด้วยคำว่า ปัตติ + ทาน + คาถา
(๑) “ปัตติ”
เขียนแบบบาลีเป็น “ปตฺติ” อ่านว่า ปัด-ติ รากศัพท์มาจาก ปทฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ติ ปัจจัย, แปลง ทฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ
: ปทฺ + ติ = ปทฺติ > ปตฺติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่ถึง”
“ปตฺติ” ในบาลีตามรากศัพท์นี้ ใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) การได้รับ, การได้มา, การได้, การเข้าร่วม, การเข้าถึง (obtaining, acquiring, getting, entering into, state of)
(2) การบรรลุ, การถึง (attainment, acquisition)
(3) การได้, สิ่งที่ได้, กำไร, ผลประโยชน์ (gaining, gain, profit, advantage)
(4) ส่วนบุญ, กำไร; การมอบ, การแนะนำ, การอุทิศส่วนบุญ, ทักษิณา (merit, profit; accrediting, advising, transference of merit, a gift of merit)
(5) สิ่งที่ได้รับ, โอกาส, สิ่งที่เกิดขึ้น, สถานะ, สถานที่ (that which obtains, occasion, happening, state, place)
(๒) “ทาน”
บาลีอ่านว่า ทา-นะ รากศัพท์มาจาก ทา (ธาตุ, = ให้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: ทา + ยุ > อน = ทาน (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การให้” “สิ่งของสำหรับให้”
“ทาน” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –
(1) การให้, ยกมอบแก่ผู้อื่น, ให้ของที่ควรให้ แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่เขา, สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น
(2) สิ่งที่ให้, ทรัพย์สินสิ่งของที่มอบให้หรือแจกออกไป
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทาน” ว่า giving, dealing out, gift; almsgiving, liberality, munificence (การให้, การแจกให้, ของขวัญ; การให้ทาน, การมีใจคอกว้างขวาง)
“ทาน” ใช้ในรูปเดียวกันทั้งบาลีและสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ทาน : (คำนาม) ‘ทาน’, การให้, การบริจาค; มันเหลวซึ่งเยิ้มออกจากขมับช้างตกน้ำมัน; การอุปถัมภ์, การบำรุง; วิศุทธิ, นิรมลีกรณ์; การตัด, การแบ่ง; ทักษิณา, ของถวาย, ของให้เปนพิเศษ; การตี, การเฆาะ; อรัณยมธุ, น้ำผึ้งป่า; giving, gift, donation; fluid that flows from the temples of an elephant in rut; nourishing, cherishing; a present, a special gift; striking, beating; wild honey.”
(๓) “คาถา”
รากศัพท์มาจาก คา (ธาตุ = ส่งเสียง) + ถ ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: คา + ถ = คาถ + อา = คาถา แปลตามศัพท์ว่า “วาจาอันเขาขับร้อง” หมายถึง คำกลอน, โศลก, คำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง (a verse, stanza, line of poetry)
ในภาษาบาลี คำว่า “คาถา” หมายถึงคําประพันธ์ประเภท “ร้อยกรอง” อย่างที่ภาษาไทยเรียกว่า กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์
คาถาบทหนึ่งจะมี 4 บาท หรือ 4 วรรค จำนวนคำแต่ละวรรคและตำแหน่งคำภายในวรรคที่จะต้องใช้เสียงสั้น-ยาว หนัก-เบา เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของคาถาแต่ละชนิด ทำนองเดียวกับกาพย์กลอนของไทยที่กำหนดว่าคำไหนต้องสัมผัสกับคำไหน
คาถา ในความหมายว่า “ร้อยกรอง” นี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ฉันท์”
การประสมคำ :
๑ ปตฺติ + ทาน = ปตฺติทาน (ปัด-ติ-ทา-นะ) แปลทับศัพท์ว่า ปัตติทาน หมายถึง การอุทิศส่วนบุญให้, การแบ่งส่วนบุญ (an assigned or accredited gift, giving of merit, transference of merit)
๒ ปตฺติทาน + คาถา = ปตฺติทานคาถา (ปัด-ติ-ทา-นะ-คา-ถา) แปลว่า “บทร้อยกรองว่าด้วยการแบ่งส่วนบุญ” เรียกทับศัพท์ว่า “ปัตติทานคาถา”
…………..
บทร้อยกรองที่เรียกว่า “ปัตติทานคาถา” ที่จะนำมาแสดงไว้ในที่นี้นัยว่าเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ท่านผู้ใดมีหลักฐานยืนยันหรือมีหลักฐานเป็นอย่างอื่น ขอได้โปรดชี้แจ้งด้วย) คำแปลเป็นภาษาไทยเป็นคำที่สวดกันในสำนักประชุมนารี วัดมหาธาตุ ราชบุรี ชาวคณะผู้รักษาอุโบสถวัดมหาธาตุ ราชบุรี ก็ใช้สวดตามนี้ด้วย
…………..
ปัตติทานคาถา
(ขึ้น, กรณีสวดคนเดียว ไม่ต้องขึ้น)
หันทะ มะยัง ปัตติทานะคาถาโย ภะณามะ เส.
(แบบสวดเฉพาะคำบาลี)
ยา เทวะตา สันติ วิหาระวาสินี
ถูเป ฆะเร โพธิฆะเร ตะหิง ตะหิง
ตา ธัมมะทาเนนะ ภะวันตุ ปูชิตา
โสตถิง กะโรนเตธะ วิหาระมัณฑะเล.
เถรา จะ มัชฌา นะวะกา จะ ภิกขะโว
สารามิกา ทานะปะตี อุปาสะกา
คามา จะ เทสา นิคะมา จะ อิสสะรา
สัปปาณะภูตา สุขิตา ภะวันตุ เต.
ชะลาพุชา เยปิ จะ อัณฑะสัมภะวา
สังเสทะชาตา อะถะโวประปาติกา
นิยยานิกัง ธัมมะวะรัง ปะฏิจจะ เต
สัพเพปิ ทุกขัสสะ กะโรนตุ สังขะยัง.
ฐาตุ จิรัง สะตัง ธัมโม
ธัมมัทธะรา จะ ปุคคะลา
สังโฆ โหตุ สะมัคโค วะ
อัตถายะ จะ หิตายะ จะ.
อัมเห รักขะตุ สัมธัมโม
สัพเพปิ ธัมมะจาริโน
วุฑฒิง สัมปาปุเณยยามะ
ธัมเม อะริยัปปะเวทิเต
ปะสันนา โหนตุ สัพเพปิ
ปาณิโน พุทธะสาสะเน.
สัมมา ธารัง ปะเวจฉันโต
กาเล เทโว ปะวัสสะตุ
วุฑฒิภาวายะ สัตตานัง
สะมิทธัง เนตุ เมทะนิง.
มาตา ปิตา จะ อัต๎ระชัง
นิจจัง รักขันติ ปุตตะกัง
เอวัง ธัมเมนะ ราชาโน
ปะชัง รักขันตุ สัพพะทา.
…………..
(แบบสวดบาลีสลับคำแปล)
ยา เทวะตา สันติ วิหาระวาสินี
ถูเป ฆะเร โพธิฆะเร ตะหิง ตะหิง
เทวดาเหล่าใดมีปกติอยู่ในวิหาร/ สถิตอยู่ที่เรือนพระสถูปที่เรือนพระโพธิ (เรือน-พฺระ-โพ-ธิ) ในที่นั้นๆ
ตา ธัมมะทาเนนะ ภะวันตุ ปูชิตา
เทวดาเหล่านั้นเป็นผู้อันเราทั้งหลายบูชาแล้วด้วยธรรมทาน
โสตถิง กะโรนเตธะ วิหาระมัณฑะเล.
จงกระทำความสวัสดีในวิหารมณฑลนี้
เถรา จะ มัชฌา นะวะกา จะ ภิกขะโว
พระภิกษุทั้งหลายที่เป็นเถระ ที่เป็นปานกลาง ที่ยังใหม่ก็ดี
สารามิกา ทานะปะตี อุปาสะกา
อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย/ ผู้เป็นทานบดี พร้อมด้วยอารามิกชนก็ดี
คามา จะ เทสา นิคะมา จะ อิสสะรา
ชนทั้งหลายที่เป็นชาวบ้าน ที่เป็นชาวประเทศ/ ที่เป็นชาวนิคมที่เป็นอิสระก็ดี
สัปปาณะภูตา สุขิตา ภะวันตุ เต.
สัตว์ที่มีชีวิตทั้งหลายเหล่านั้น/ จงเป็นผู้ถึงซึ่งความสุข
ชะลาพุชา เยปิ จะ อัณฑะสัมภะวา
แม้สัตว์เหล่าใดที่เป็นชลาพุชะกำเนิด/ ที่เป็นอัณฑชะกำเนิด
สังเสทะชาตา อะถะโวประปาติกา
ที่เป็นสังเสทชะกำเนิด/ ที่เป็นอุปปาติกะกำเนิดก็ดี
นิยยานิกัง ธัมมะวะรัง ปะฏิจจะ เต
สัตว์เหล่านั้นได้อาศัยธรรมอันประเสริฐเป็นนิยานิกธรรมแล้ว
สัพเพปิ ทุกขัสสะ กะโรนตุ สังขะยัง.
แม้สัตว์ทั้งหมด จงกระทำความสิ้นไปแห่งทุกข์.
ฐาตุ จิรัง สะตัง ธัมโม
ขอธรรมของสัตบุรุษทั้งหลายจงดำรงอยู่นาน
ธัมมัทธะรา จะ ปุคคะลา
แลบุคคลทั้งหลายที่ทรงธรรมจงดำรงอยู่นาน
สังโฆ โหตุ สะมัคโค วะ
ขอพระสงฆ์จงเป็นผู้พร้อมเพรียงกันเทียว
อัตถายะ จะ หิตายะ จะ
เพื่อประโยชน์แลเกื้อกูล
อัมเห รักขะตุ สัมธัมโม
ขอพระสัทธรรมจงรักษาเราทั้งหลาย
สัพเพปิ ธัมมะจาริโน
จงรักษาซึ่งท่านผู้ประพฤติธรรมแม้ทั้งปวง
วุฑฒิง สัมปาปุเณยยามะ
ธัมเม อะริยัปปะเวทิเต
ขอเราทั้งหลายจงถึงความเจริญในธรรมที่พระอริยเจ้าแสดงแล้ว เทอญ.
ปะสันนา โหนตุ สัพเพปิ
ปาณิโน พุทธะสาสะเน.
ขอเหล่าสรรพสัตว์จงมีความเลื่อมใสยึดมั่นในพระพุทธศาสนา
สัมมา ธารัง ปะเวจฉันโต
กาเล เทโว ปะวัสสะตุ
ขอฝนจงตกต้องตามฤดูกาล ยังสายธารให้หลั่งไหลด้วยดี
วุฑฒิภาวายะ สัตตานัง
สะมิทธัง เนตุ เมทะนิง.
เพื่อยังความเจริญงอกงามให้บังเกิดแก่หมู่สัตว์/ และทำแผ่นดินให้เกิดประโยชน์
มาตา ปิตา จะ อัต๎ระชัง
นิจจัง รักขันติ ปุตตะกัง
เอวัง ธัมเมนะ ราชาโน
ปะชัง รักขันตุ สัพพะทา.
ขอพระราชาผู้ปกครองแผ่นดิน จงปกครองโดยชอบธรรมทุกเมื่อ/ เปรียบดังเช่นมารดาบิดารักษาบุตรน้อยผู้เกิดแต่อกของตนเป็นนิตย์ฉะนั้น.
…………..
ดูก่อนภราดา!
ผู้รู้ท่านไม่ได้บอกแต่เพียงว่า –
: อันยศลาภหาบไปไม่ได้แน่
แต่ท่านยังบอกต่อไปอีกว่า –
: เว้นเสียแต่ต้นทุนบุญกุศล
วันนี้ท่านได้ทำบุญกุศลบ้างหรือยัง?
ถ้ายัง
รีบทำซะ
#บาลีวันละคำ (2,932)
22-6-63