บาลีวันละคำ

ชยมงฺคลานิ – ชยมงฺคลคฺคํ (บาลีวันละคำ 2,935)

ชยมงฺคลานิชยมงฺคลคฺคํ

กฎทุกกฎมีข้อยกเว้น

เขียนแบบคำอ่านเป็น ชะยะมังคะลานิ – ชะยะมังคะลัคคัง

พาหุง” หรือที่มีชื่อโดยเฉพาะว่า “ชยมังคลัฏฐกคาถา” มีคาถา 9 บท เป็นตัวชัยมงคล 8 บท เป็นคำสรุปอานิสงส์ 1 บท บาทสุดท้ายของบทที่ 1 ถึง 8 มีข้อความเหมือนกันทั้ง 8 บทว่า “ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ

มีคำถามว่า คำว่า “ชยมงฺคลานิ” ทำไมบางสำนักจึงเปลี่ยนเป็น “ชยมงฺคลคฺคํ” บางสำนักก็ยังคงเป็น “ชยมงฺคลานิ

ตอบเป็นเบื้องต้นว่า สำนักที่เปลี่ยน “ชยมงฺคลานิ” เป็น “ชยมงฺคลคฺคํ” คือคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต สำนักที่ยังคงสวดเป็น “ชยมงฺคลานิ” คือคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย

ในกรณีที่สวดร่วมกัน จะสวดเป็น “ชยมงฺคลานิ

ในกรณีที่สวดเฉพาะฝ่ายธรรมยุต จะสวดเป็น “ชยมงฺคลคฺคํ

ส่วนเหตุผลที่เปลี่ยน “ชยมงฺคลานิ” เป็น “ชยมงฺคลคฺคํ” น่าจะเป็นดังที่จะกล่าวต่อไปนี้

ข้อยุติที่ยอมรับกันทั่วไปก็คือ ต้นฉบับบทสวดเดิมเป็น “ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ” (ตันเตชะสา  ภะวะตุ  เต  ชะยะมังคะลานิ)

แปลยกศัพท์ว่า –

(1) ชยมงฺคลานิ = อันว่าชัยชนะอันเป็นมงคลทั้งหลาย, อันว่ามงคลคือชัยชนะทั้งหลาย, อันว่าชัยมงคลทั้งหลาย

(2) ภวตุ = จงมี

(3) เต = แก่ท่าน

(4) ตนฺเตชสา = ด้วยเดชแห่งชัยชนะของพระพุทธองค์นั้น

แปลโดยอรรถว่า –

ด้วยเดชแห่งชัยชนะของพระพุทธองค์นั้น ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน

คาถาบาทนี้มีปัญหาตรงที่ บทประธาน คือ “ชยมงฺคลานิ” เป็นพหูพจน์ แต่บทกริยา คือ “ภวตุ” เป็นเอกพจน์

ถ้าจะให้พจน์ตรงกัน :

ประธาน “ชยมงฺคลานิ” กริยาต้องเป็น “ภวนฺตุ” (ภะวันตุ)

หรือถ้ายังคงกริยาเป็น “ภวตุ” ประธานต้องเป็น “ชยมงฺคลํ” (ชะยะมังคะลัง)

แต่เนื่องจากบทพาหุงท่านแต่งเป็นคาถาชนิดที่มีชื่อว่า “วสันตดิลกฉันท์” ข้อกำหนดทั่วไปของคาถาก็คือบังคับครุลหุ (คำที่เท่าไรต้องเป็นครุ คำที่เท่าไรต้องเป็นลหุ) ตามชนิดของฉันท์นั้นๆ

ตามผังของวสันตดิลกฉันท์ (โปรดดูภาพประกอบ) คำที่ 5-6-7 บังคับลหุเรียงกัน 3 พยางค์ คำว่า “ภวตุ” เป็นลหุล้วน (ภะ-วะ-ตุ สระเสียงสั้นทั้ง 3 พยางค์) อยู่ในตำแหน่งนั้นตรงตามข้อบังคับ

ภวตุ” ถ้าเปลี่ยนเป็น “ภวนฺตุ” เพื่อให้เป็นพหูพจน์ตรงกับบทประธาน ก็จะผิดคณะฉันท์ เพราะ “-วนฺ-” เป็นคำครุ (สระเสียงยาวหรือคำที่มีตัวสะกด) มาอยู่ในตำแหน่งที่เป็นคำลหุไม่ได้ – นี่คือความจำเป็นที่ต้องคงคำนี้เป็น “ภวตุ

ส่วน “ชยมงฺคลานิ” ถ้าเปลี่ยนเป็นเอกพจน์เพื่อให้มีพจน์ตรงกับ “ภวตุ” อันเป็นบทกริยา รูปเอกพจน์ของ “ชยมงฺคลานิ” ก็คือ “ชยมงฺคลํ

ถ้าเปลี่ยน “ชยมงฺคลานิ” เป็น “ชยมงฺคลํ” ข้อความทั้งบาทจะเป็น “ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลํ” คำก็จะขาดไป 1 พยางค์ ไม่ครบ 14 พยางค์ตามกฎของวสันตดิลกฉันท์ – นี่คือความจำเป็นที่ต้องคงคำนี้เป็น “ชยมงฺคลานิ” หรือถ้าจะเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยนเป็นคำอื่นที่มีจำนวนพยางค์เท่ากัน

คณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตเลือกที่จะเปลี่ยน “ชยมงฺคลานิ” ซึ่งเป็นพหูพจน์ให้เป็นเอกพจน์และมีจำนวนพยางค์เท่ากัน โดยเปลี่ยนเป็น “ชยมงฺคลคฺคํ” (ชะยะมังคะลัคคัง)

ชยมงฺคลคฺคํ” ประกอบด้วยคำว่า ชย (ชัยชนะ) + มงฺคล (มงคล) + อคฺค (เลิศ, ยอด)

การประสมคำ :

ชย + มงฺคล = ชยมงฺคล (ชะ-ยะ-มัง-คะ-ละ) แปลว่า “ชัยชนะอันเป็นมงคล” “มงคลคือชัยชนะ” หรือทับศัพท์ว่า “ชัยมงคล

ชยมงฺคล + อคฺค = ชยมงฺคลคฺค (ชะ-ยะ-มัง-คะ-ลัก-คะ) แปลว่า แปลว่า “ชัยชนะอันเป็นมงคลอันเลิศ” “มงคลคือชัยชนะอันเลิศ” “ชัยมงคลอันเลิศ

ชยมงฺคลคฺค” เป็นคำสมาสชนิดที่เรียกว่า “วิเสสนุตตรบท” (วิ-เส-สะ-นุด-ตะ-ระ-บด) คือคำขยายอยู่ท้ายศัพท์

ชยมงฺคลคฺค” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ นปุงสกลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “ชยมงฺคลคฺคํ

เมื่อแก้บทประธานเป็นดังนี้แล้ว ข้อความทั้งบาทจะเป็น “ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลคฺคํ” (ด้วยเดชแห่งชัยชนะของพระพุทธองค์นั้น ขอชัยมงคลอันเลิศจงมีแก่ท่าน)

แก้แล้ว ประธานกับกริยาก็มีพจน์ตรงกัน ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์

แต่ข้อพิรุธก็คือ บทพาหุงมีข้อความผิดเพี้ยนไปจากต้นฉบับ

ส่วนคณะสงฆ์มหานิกายยังคงสวดตามต้นฉบับ

กรณีที่บทประธาน คือ “ชยมงฺคลานิ” กับบทกริยา คือ “ภวตุ” มีพจน์ไม่ตรงกัน ก็สามารถอธิบายได้โดยหลัก “ฉนฺทานุรกฺขนตฺถํ” (เพื่อการตามรักษาคณะฉันท์) หรือ “ฉนฺทานุรกฺขนวเสน” (ด้วยเหตุผลคือการตามรักษาคณะฉันท์) ซึ่งมีกฎยอมยกเว้นให้ใช้คำที่มีพิรุธได้เพื่อรักษารูปแบบของฉันท์ให้มีคำครุลหุตรงตามกฎเกณฑ์

กล่าวคืออธิบายว่า “ภวตุ” ก็คือ “ภวนฺตุ” นั่นเอง แต่ลบ “นฺ” เสีย (ภวนฺตุ > ภวตุ) ด้วยอำนาจ “ฉันทานุรักษ์”

นอกจากสามารถอธิบายได้โดยหลัก “ฉันทานุรักษ์” ดังนี้แล้ว ก็ยังคงรักษาข้อความตามต้นฉบับไว้ได้โดยไม่ผิดเพี้ยน

และสอดคล้องกับคำกล่าวที่ว่า “กฎทุกกฎมีข้อยกเว้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ทำบาปแม้จะปกปิดมิดเม้น

: นรกก็ไม่ยกเว้นให้ใคร

—————-

(ตามข้อสงสัยของ Ronbanchob Ron Apiratikul และ อาคม จูแปะ)

#บาลีวันละคำ (2,935)

25-6-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *