ทีฆายุโก โหตุ สังฆราชา
ทีฆายุโก โหตุ สังฆราชา
—————————-
วิรุฬฺโห โหตุ สาสเน สงฺฆราชา
…………………
วันที่ ๒๖ มิถุนายน เป็นวันประสูติสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก อัมพรมหาเถระ มีผู้ยกป้ายถวายพระพรในที่ทั่วไปว่า –
“ทีฆายุโก โหตุ สังฆราชา”
ใครที่เห็นข้อความนี้ย่อมจะเข้าใจตรงกันว่าเป็นคำที่แปลงมาจาก “ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา” นั่นเอง
นั่นคือ ผู้ใช้คำถวายพระพรนี้เห็นว่า พระเจ้าแผ่นดินมีสถานะเช่นใด สมเด็จพระสังฆราชก็มีสถานะเช่นนั้น
พระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นประมุขของอาณาจักร คือประเทศชาติและประชาชนเช่นใด
สมเด็จพระสังฆราชก็ทรงเป็นประมุขของพุทธจักร คือคณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนเช่นนั้น
ภาพประกอบเรื่องนี้ ที่เป็นภาพป้ายของเทศบาลเมืองราชบุรี (เป็นภาพเก่า ตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ ปีที่มีพระราชพิธีสถาปนา) ลงท้ายว่า “เกล้ากระหม่อม เทศบาลเมืองราชบุรี และพสกนิกรชาวราชบุรี” ยิ่งแสดงให้เห็นชัดว่ามีผู้เข้าใจไปถึงขั้นที่ว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นผู้ปกครองประชาชนเช่นเดียวกับพระเจ้าแผ่นดินนั่นเลย ประชาชนจึงมีฐานะเป็น “พสกนิกร” ของสมเด็จพระสังฆราชด้วย
ความเป็นจริงแล้วมิได้เป็นเช่นนั้นเลย คนเขียนถ้อยคำของเทศบาลเมืองราชบุรีใช้คำเช่นนั้นด้วยความเข้าใจผิดไปเอง เพราะสมเด็จพระสังฆราชมิได้ทรงอยู่ในฐานะผู้ปกครองประชาชนเหมือนพระเจ้าแผ่นดิน เพราะฉะนั้นประชาชนจึงมิได้อยู่ในฐานะเป็นพสกนิกรของสมเด็จพระสังฆราชแต่ประการใด
——————-
“ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา” เป็นภาษาบาลี แปลตามตัวว่า “ขอพระมหาราชาจงทรงพระชนมายุยืนนาน”
ก็คือที่เราพูดกันสั้นๆ ว่า “ทรงพระเจริญ” นั่นเอง
คำว่า “ทีฆายุโก โหตุ สังฆราชา” แปลว่า “ขอสมเด็จพระสังฆราชจงทรงพระชนมายุยืนนาน”
คำถวายพระพรและคำแปลนี้ถ้าฟังผ่านๆ เพลินๆ ไป ก็ไม่มีอะไรผิดปกติ เพราะความรู้สึกของคนทั่วไปเห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินกับสมเด็จพระสังฆราชทรงอยู่ในสถานะเดียวกันดังกล่าวแล้ว คำถวายพระพรพระเจ้าแผ่นดินก็ย่อมแปลงมาเป็นคำถวายพระพรสมเด็จพระสังฆราชได้โดยไม่ขัดเขิน
แต่ถ้าฉุกคิดก็จะเห็นความไม่ปกติ
——————-
เบื้องต้น ต้องเข้าใจก่อนว่าความเป็นพระเจ้าแผ่นดินกับความเป็นสมเด็จพระสังฆราชนั้นไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะ “หลักนิยม” หรือหลักการ หรืออุดมคติ คือที่ไปที่มาและจุดหมายปลายทางแตกต่างกันมาก
สัจธรรมของความเป็นพระเจ้าแผ่นดินก็คือ มีตำแหน่งเดียว แต่มีคนอยากเป็นหลายคน และการที่จะได้ขึ้นไปเป็นพระเจ้าแผ่นดินนั้นมักจะต้องฝ่าด่านอำนาจต่างๆ เป็นอันมาก
แปลว่าต้องใช้อำนาจปราบอำนาจ ใครมีอำนาจเหนือกว่า คนนั้นก็ชนะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน
ความเป็นมาในอดีตย่อมเป็นเช่นนั้น แม้ในปัจจุบันจะมีกฎเกณฑ์การสืบอำนาจที่ชัดเจนและรัดกุม แต่แม้กระนั้นเงาของอำนาจต่างๆ ก็ยังมีแฝงอยู่เสมอ ไม่ได้หายไปไหน
ในประวัติศาสตร์ของเราเองก็ปรากฏชัดว่าเมื่อฝ่ายหนึ่งได้ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินก็ต้องล้างเผ่าพันธุ์ฝ่ายตรงข้ามจนสิ้นซาก เพราะถ้าขืนปล่อยเชื้อให้เหลือไว้ก็เป็นพระเจ้าแผ่นดินไม่เป็นสุข
สรุปเป็นภาพรวมว่า ผู้ที่จะเป็นพระเจ้าแผ่นดินได้ต้องรักษาชีวิตให้อยู่รอดจึงจะมีสิทธิ์ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน
ดังนั้น การที่ยังมีชีวิตรอดอยู่ได้จึงเป็นยอดปรารถนาของพระเจ้าแผ่นดิน
ข้างประชาชนในปกครอง ถ้าได้รับความร่มเย็นเป็นสุข ก็ย่อมปรารถนาให้พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นครองแผ่นดินไปนานๆ ซึ่งจะเป็นเช่นนั้นได้พระเจ้าแผ่นดินก็ต้องมีพระชนมายุยืนนาน
ดังนั้น การที่มีชีวิตรอดอยู่ได้ยาวนานจึงเป็นยอดปรารถนาทั้งของพระเจ้าแผ่นดิน และของประชาชนที่ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขในแผ่นดิน
นี่คือที่มาของคำถวายพระพร “ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา”
——————-
แต่สมเด็จพระสังฆราชมิได้มีที่มาหรือภูมิหลังเป็นเช่นนั้น
สมเด็จพระสังฆราชเป็นตำแหน่งที่ทางบ้านเมืองสถาปนาให้เป็น มิใช่สถาปนาพระองค์เอง หรือคณะสงฆ์เป็นผู้คัดเลือกกันขึ้นมาเอง สมเด็จพระสังฆราชไม่ต้องฝ่าฟันกับอำนาจจากฝ่ายใดๆ เพื่อขึ้นไปสู่ตำแหน่ง
และโดยสถานภาพของภิกษุ ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชก็มิใช่ตำแหน่งที่จะให้คุณให้โทษแก่ใคร หรือแม้แต่เป็นตำแหน่งที่จะอำนวยผลประโยชน์ใดๆ ให้แก่ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งนั้นเอง
สารัตถะหรือเป้าหมายของตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชจึงไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับการได้เป็นอยู่นานๆ หรือการมีอายุยืนนาน นี่เป็นจุดหนึ่งที่สมเด็จพระสังฆราชต่างจากพระเจ้าแผ่นดิน
แต่ที่สำคัญที่สุดอยู่ตรงที่ความเป็นพระภิกษุ
ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน หมวด ๑ สมเด็จพระสังฆราช มาตรา ๑๑ บัญญัติไว้ว่า –
……………………
สมเด็จพระสังฆราชพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) มรณภาพ
(๒) พ้นจากความเป็นพระภิกษุ
(๓) ลาออก
(๔) ทรงพระกรุณาโปรดให้ออก
……………………
จะเห็นได้ว่า มรณภาพ (คือตาย) ลาออก และทรงพระกรุณาโปรดให้ออก ( = ผู้มีอำนาจสั่งให้ออก) ทั้ง ๓ กรณีนี้เป็นหลักที่ใช้กับตำแหน่งทั่วไปทั้งทางโลกทางธรรม
แต่ที่พิเศษมีเฉพาะในทางพระศาสนาก็คือ “ความเป็นพระภิกษุ”
นั่นคือ ผู้ที่จะเป็นสมเด็จพระสังฆราชได้ต้องเป็นพระภิกษุเท่านั้น
เมื่อใดพ้นจากความเป็นพระภิกษุ
เมื่อนั้นก็ต้องพ้นจากตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชไปด้วย
เห็นได้ชัดแล้วใช่ไหม ที่ผมว่า-ที่สำคัญที่สุดอยู่ตรงที่ความเป็นพระภิกษุ
แต่ที่สำคัญที่สุดของความเป็นพระภิกษุก็อยู่ตรงที่ดำรงมั่นคงอยู่ในพระธรรมวินัย ตลอดจนความเจริญงอกงามในธรรมปฏิบัติ
หากสมเด็จพระสังฆราช “ทีฆายุโก โหตุ … ทรงพระชนมายุยืนนาน” ตามที่ยกป้ายถวายพระพร แต่-สมมุติว่า-มิได้ทรงดำรงมั่นคงอยู่ในพระธรรมวินัย จะเป็นด้วยทรงย่อหย่อนในพระธรรมวินัยก็ตาม หรือถึงขั้นพ้นจากความเป็นพระภิกษุก็ตาม การทรงมีพระชนมายุยืนนานจะมีความหมายอะไร?
——————-
โปรดสังเกตว่า กฎหมายใช้คำรอบคอบอย่างยิ่ง คือ “พ้นจากความเป็นพระภิกษุ” ไม่ได้ใช้คำระบุกิริยาเฉพาะ เช่น “ลาสิกขา” ตามที่หลายคนนึกว่าน่าจะระบุตรงๆ เช่นนั้น
ทั้งนี้เพราะการ “พ้นจากความเป็นพระภิกษุ” นั้นมิได้ตัดสินกันที่ “ลาสิกขา” อย่างที่คนส่วนมากเข้าใจกัน
ภิกษุกระทำการล่วงละเมิดสิกขาบทเข้าองค์ประกอบถึงขั้นพ้นจากความเป็นพระภิกษุ แม้จะยังนุ่งสบงทรงจีวรอยู่ คือยังไม่ได้ “ลาสิกขา” ตามที่คนทั่วไปเข้าใจกันก็ตาม แต่นั่นก็คือเข้าถึงภาวะ “พ้นจากความเป็นพระภิกษุ” ไปเรียบร้อยแล้ว
นี่คือความละเอียดรอบคอบของกฎหมายที่สอดรับกับพระธรรมวินัย
——————-
ในพระไตรปิฎก คัมภีร์พระธรรมบท มีพระพุทธพจน์ตรัสว่า –
……………
คนอายุยืนตั้งร้อยปี แต่ทุศีล ปัญญาทราม เกียจคร้าน ไม่เห็นความเกิดดับ ไม่เห็นอมฤตบท ไม่เห็นอุดมธรรมคือพระนิพพาน …
คนมีศีล มีปัญญา มีความเพียร เห็นความเกิดดับ เห็นอมฤตบท เห็นอุดมธรรมคือพระนิพพาน มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียวประเสริฐกว่า
……………
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ในระบบพระธรรมวินัย ความมีอายุยืนนานไม่สำคัญเท่าความดำรงมั่นคงและเจริญงอกงามอยู่ในพระธรรมวินัย
ถวายพระพรสมเด็จพระสังฆราชให้พระองค์ท่าน “ทีฆายุโก โหตุ … ทรงพระชนมายุยืนนาน” แม้จะฟังดูดีในทางโลก แต่ก็ไม่ใช่ถวายสิ่งที่ดีที่สุดในทางธรรม
——————-
ถ้าถามว่า-แล้วควรจะใช้คำอย่างไร
ผมก็ไม่ทราบว่าควรจะใช้คำว่าอย่างไร
แต่ได้เคยเห็นที่โบราณาจารย์ท่านแสดงมุทิตาจิตกับพระสงฆ์ ท่านกล่าวในทำนองนี้ —
……………
วุฑฺฒึ วิรุฬฺหิ เวปุลฺลํ
ปปฺโปตุ พุทฺธสาสเน
(วุฑฒิง วิรุฬหิ เวปุลลัง
ปัปโปตุ พุทธะสาสะเน)
แปลว่า –
ขอจงประลุถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์
ในพระพุทธศาสนา เทอญ
……………
เป็นใจผม ผมจะใช้คำว่า –
“วิรุฬฺโห โหตุ สาสเน สงฺฆราชา”
แปลว่า “ขอสมเด็จพระสังฆราชทรงเจริญงอกงามในพระศาสนาเทอญ”
อธิบายว่า-จะทรงมีพระชนมายุนานแค่ไหนก็สุดแต่บุญบารมีของพระองค์ แต่ตลอดเวลาที่ทรงมีพระชนม์อยู่นั้น ขอให้ทรงเจริญงอกงามในพระศาสนายิ่งๆ ขึ้นไป เทอญ
อนึ่ง คำว่า “เจริญงอกงามในพระศาสนา” นั้น ไม่ได้หมายความว่ามีฐานะมีตำแหน่งสูงขึ้น เช่นเป็นพระธรรมดาก็ขยับขึ้นพระมหา
จากพระมหาเจริญขึ้นเป็นท่านเจ้าคุณ
เป็นชั้นราช
ชั้นเทพ
ชั้นธรรม …
เป็นสมเด็จ
เป็นสมเด็จแล้วก็เจริญขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช
เป็นสมเด็จพระสังฆราชอยู่แล้วก็ให้เจริญขึ้นเป็นอภิมหาสังฆราช
ไม่ได้หมายความอย่างนี้เลย อย่าได้เข้าใจผิด
แต่หมายความว่า ให้เจริญในทางธรรมปฏิบัติ คือรักษาพระธรรมวินัยบริสุทธิ์ผุดผ่อง เจริญในมรรคผลไปตามลำดับ จนประลุถึงความพ้นทุกข์เป็นปริโยสาน-หมายความอย่างนี้
……………
แต่ใครอย่าเอา “วิรุฬฺโห โหตุ สาสเน สงฺฆราชา” ไปใช้เลยครับ
เชย!!
ผมใช้คนเดียวพอ จะได้เชยน้อยหน่อย
คนติด “ทีฆายุโก โหตุ สังฆราชา” กันทั้งบ้านทั้งเมืองแล้ว
ต่อไปก็คงจะมีผู้พยายามอธิบายว่า “ทีฆายุโก โหตุ สังฆราชา” เป็นคำที่เหมาะสมด้วยเหตุผลอย่างนี้ๆๆๆ
ทั้งนี้เพราะเมื่อคิดคำนี้ขึ้นมาใช้ และคนก็พากันใช้จน “ติด” ไปแล้ว จะแก้เป็นคำอื่นก็ไม่รู้ว่าจะแก้อย่างไร จะเลิกใช้คำนี้ ก็เลิกไม่ได้ เพราะคนเขาจะใช้ ใครจะไปห้ามได้
เพราะฉะนั้น ก็เหลือทางเดียวคือ ช่วยกันศึกษาให้รู้เหตุผลที่ควรจะเป็น แล้วช่วยกันรู้ทัน
จะใช้ตามเขา หรือใช้ต่างจากเขา หรือใช้อย่างไร ก็ใช้อย่างรู้ทัน บอกเหตุผลได้ ใช้ปัญญาเป็นตัวนำ
……………………
วิรุฬฺโห โหตุ สาสเน สงฺฆราชา.
ขอสมเด็จพระสังฆราชทรงเจริญงอกงามในพระศาสนาเทอญ
……………………
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๓
๑๓:๐๙
…………………………….
…………………………….