บาลีวันละคำ

อุสฺสาวพินฺทุ (บาลีวันละคำ 2,937)

อุสฺสาวพินฺทุ

เรียนบาลีวันละคำจากอุปมาชีวิต

…………..

ในคัมภีร์สัตตกนิบาต อังคุตรนิกาย มีพระสูตรหนึ่ง ชื่อ “อรกานุสาสนีสูตร” (พระไตรปิฎกเล่ม 23 ข้อ 71) พระพุทธองค์ตรัสเล่าถึงสมัยที่มนุษย์มีอายุขัย 60,000 ปี (หกหมื่นปี) มีครูสอนศาสนาท่านหนึ่งชื่อ “อรกะ” ประพฤติธรรมถึงระดับสิ้นกามราคะ

ครูอรกะสอนสาวกว่าด้วยเรื่องชีวิตว่า ชีวิตมนุษย์นั้นน้อยนิด พลันจะแตกดับ มีทุกข์มาก คับแค้นขัดข้องมาก ควรจะทำความเข้าใจให้ถูกต้องด้วยสติปัญญา ควรประกอบกุศลกรรม ทำชีวิตให้สะอาด ชีวิตที่เกิดแล้วจะไม่ตายนั้นไม่มี

ครูอรกะเปรียบความน้อยนิดแห่งชีวิตมนุษย์ (ในยุคที่มีอายุขัยหกหมื่นปี! !) ด้วยข้ออุปมา 7 อย่าง

อุสฺสาวพินฺทุ” เป็น 1 ในข้ออุปมาทั้ง 7 นั้น

หวังว่าเราท่านคงมีชีวิตอยู่นานพอที่จะเรียนอุปมาชีวิตเป็นบาลีวันละคำจนครบทั้ง 7 คำ

อุสฺสาวพินฺทุ” อ่านว่า อุด-สา-วะ-พิน-ทุ ประกอบด้วยคำว่า อุสฺสาว + พินฺทุ

(๑) “อุสฺสาว

อ่านว่า อุด-สา-วะ รากศัพท์มาจาก อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น, นอก) + สุ (ธาตุ = ไหล; เปียก) + ปัจจัย, ลบ , ซ้อน สฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (อุ + สฺ + สุ), แผลง อุ ที่ สุ เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว, ทีฆะ อะ ที่ เป็น อาด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” (สุ > โส > สว > สาว)

: อุ + สฺ + สุ = อุสฺสุ + = อุสฺสุณ > อุสฺสุ > อุสฺโส > อุสฺสว > อุสฺสาว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่หลั่งไหลมาจากเบื้องบน” (2) “สิ่งที่เปียกมาจากเบื้องบน” หมายถึง น้ำค้างแข็ง, น้ำค้าง (hoar-frost, dew)

(๒) “พินฺทุ

อ่านว่า พิน-ทุ รากศัพท์มาจาก –

(1) พิทิ (ธาตุ = ส่วน, อวัยวะ) + อุ ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุแล้วแปลงเป็น นฺ (พิทิ > พึทิ > พินฺทิ), ลบสระหน้า คือ อิ ที่ (พิ)-ทิ (พิทิ > พิท)

: พิทิ > พึทิ > พินฺทิ > พินฺท + อุ = พินฺทุ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาทำให้เป็นส่วน

(2) วิทฺ (ธาตุ = ได้) + อุ ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุแล้วแปลงเป็น นฺ (วิทฺ > วึทฺ > วินฺทฺ), แปลง เป็น

: วิทฺ > วึทฺ > วินฺทฺ + อุ = วินฺทุ > พินฺทุ แปลตามศัพท์ว่า “เสียงอันเขาได้” (คือได้เสียงที่ไพเราะน่าฟังมาตั้งแต่เกิด)

พินฺทุ” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) หยด, หยดน้ำ (a drop, a drop of water)

(2) จุดที่แต้มลงไป (a spot)

(3) (เป็นคุณศัพท์) คุณสมบัติอย่างหนึ่งของเสียงที่สมบูรณ์ เป็น 1ใน 8 อย่าง (one of the eight qualities of perfect sound) พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ อธิบายลักษณะของเสียงที่เป็น “พินฺทุ” ว่า full, close, compact (เต็ม, แน่น, กระชับ)

ในที่นี้ “พินฺทุ” ใช้ในความหมายตามข้อ (1)

อุสฺสาว + พินฺทุ = อุสฺสาวพินฺทุ (อุด-สา-วะ-พิน-ทุ) แปลว่า “หยาดน้ำค้าง” (a dew drop)

อธิบายขยายความ :

ชีวิตมนุษย์น้อยนิดเหมือนหยาดน้ำค้างอย่างไร พระสูตรขยายความไว้ว่า

…………..

หยาดน้ำค้างบนยอดหญ้า เมื่ออาทิตย์อุทัยขึ้นมา ย่อมเหือดแห้งหายไปเร็วพลัน ไม่อยู่ได้นาน แม้ฉันใด

ชีวิตมนุษย์ทั้งหลายก็น้อยนิด พลันจะแตกดับ มีทุกข์มาก คับแค้นขัดข้องมาก อุปมาเหมือนหยาดน้ำค้างบนยอดหญ้า ฉันนั้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: หยาดน้ำค้างบนยอดหญ้ายังมีเวลาให้ความงามแก่ผู้เพ่งพิศ

: ท่านได้สร้างสิ่งที่ดีงามในชีวิตเพื่อให้โลกชื่นชมไว้บ้างหรือยัง?

#บาลีวันละคำ (2,937)

27-6-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *