ธรรมาสน์ (บาลีวันละคำ 1,124)
ธรรมาสน์
อ่านว่า ทำ-มาด
บาลีเป็น “ธมฺมาสน” อ่านว่า ทำ-มา-สะ-นะ
ประกอบด้วย ธมฺม + อาสน
(๑) “ธมฺม” (ทำ-มะ)
รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ และ ร ต้นปัจจัย = ธมฺม
: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)
(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)
(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)
(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)
(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)
คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้”
“ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –
(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม
(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า
(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม
(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม
(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม
(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ
(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ
(8) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม
ในที่นี้ “ธรรม” มีความหมายเน้นที่-คําสั่งสอนและหลักประพฤติปฏิบัติในพระพุทธศาสนา
(๒) “อาสน” (อา-สะ-นะ)
รากศัพท์มาจาก :
(1) อาสฺ (ธาตุ = นั่ง), ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: อาสฺ + ยุ > อน = อาสน แปลตามศัพท์ว่า “การนั่ง” “ที่นั่ง”
(2) อาสฺ (ธาตุ = นั่ง), ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: อาสฺ + ยุ > อน = อาสน แปลตามศัพท์ว่า “การนั่ง”
(3) อาสฺ (ธาตุ = ตั้งไว้), ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: อาสฺ + ยุ > อน = อาสน แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ตั้ง”
(4) อา (แทนศัพท์ “อาคนฺตฺวา” = มาแล้ว) + สิ (ธาตุ = นอน), ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ลบ อิ ที่ สิ (สิ > ส, ภาษาไวยากรณ์ว่า “ลบสระหน้า”)
: อา + สิ > ส + ยุ > อน = อาสน แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มานอน” (คือแท่นหรือเตียงนอน)
“อาสน” หมายถึง การนั่ง, การนั่งลง, ที่นั่ง, บัลลังก์ (sitting, sitting down; a seat, throne)
“อาสน” ในภาษาไทยใช้ว่า อาสน-(มีคำอื่นต่อท้าย), อาสน์ และ อาสนะ พจน.54 บอกไว้ว่า –
“อาสน– ๒, อาสน์, อาสนะ : (คำนาม) ที่นั่ง, เครื่องปูรองนั่ง, (ใช้เฉพาะพระภิกษุสามเณร). (ป., ส.).”
ธมฺม + อาสน = ธมฺมาสน ในภาษาไทยใช้เป็น “ธรรมาสน์”
ความรู้จากพจนานุกรม :
(๑) พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ธมฺมาสน” ว่า the preacher’s seat or throne (ที่นั่งหรือบัลลังก์ของผู้แสดงธรรม)
(๒) พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
ธรรมาสน์ (Dhammāsana) : the Dhamma-seat; a seat on which a monk sits while preaching; pulpit.
(๓) พจนานุกรม สอ เสถบุตร บอกไว้ว่า –
pulpit : มุข ยื่นออกมาจากระเบียงโบสถ์สำหรับพระสอนศาสนายืนเทศน์, ธรรมาสน์
(๔) พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล pulpit เป็นบาลีว่า –
(1) dhammāsana ธมฺมาสน (ทำ-มา-สะ-นะ) = ที่นั่งแสดงธรรม
(2) kathikāsana กถิกาสน (กะ-ถิ-กา-สะ-นะ) = ที่นั่งสำหรับนักเทศน์
(๕) พจน.54 บอกไว้ว่า –
“ธรรมาสน์ : (คำนาม) ที่สําหรับพระภิกษุสามเณรนั่งแสดงธรรม. (ส.).”
: ธรรมาสน์เป็นที่ประกาศธรรมะ
: ไม่ใช่ที่แสดงวาทะหรือความคิดเห็นส่วนตัว
23-6-58