บาลีวันละคำ

วัสสูปนายิกา (บาลีวันละคำ 2,946)

วัสสูปนายิกา

ไม่คุ้นหน้า แต่คุ้นใจ

เป็นรูปคำบาลี อ่านว่า วัด-สู-ปะ-นา-ยิกา เขียนแบบบาลีเป็น “วสฺสูปนายิกา” แยกศัพท์เป็น วสส + อุปนายิกา

(๑) “วสฺส” (วัด-สะ)

รากศัพท์มาจาก วสฺสฺ (ธาตุ = ราด, รด) + (อะ) ปัจจัย

: วสฺสฺ + = วสฺส แปลตามศัพท์ว่า (1) “น้ำที่หลั่งรดลงมา” (2) “ฤดูเป็นที่ตกแห่งฝน” (3) “กาลอันกำหนดด้วยฤดูฝน

วสฺส” (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ฝน, ห่าฝน (rain, shower)

(2) ปี (a year)

(3) ความเป็นลูกผู้ชาย, ความแข็งแรง (semen virile, virility)

ในที่นี้ “วสฺส” มีความหมายตามข้อ (1)

(๒) “อุปนายิกา” (อุ-ปะ-นา-ยิ-กา)

รากศัพท์มาจาก อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้, มั่น) + นี (ธาตุ = นำไป) + อิก ปัจจัย, แปลง อี ที่ นี เป็น เอ แล้วแปลง เอ เป็น อาย (อา-ยะ) (นี > เน > นาย) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: อุป + นี = อุปนี > อุปเน > อุปนาย + อิก = อุปนายิก + อา = อุปนายิกา แปลตามศัพท์ว่า “ดิถีเป็นที่น้อมไป

ข้อสังเกต :

คำว่า “อุปนายิกา” ในที่นี้รูปคำเหมือนคำที่เราใช้ในภาษาไทยคำหนึ่งคือ “อุปนายิกาสภากาชาดไทย”

พึงทราบว่า “อุปนายิกา” ในที่นี้กับ “อุปนายิกา” ในคำว่า “อุปนายิกาสภากาชาดไทย” เป็นคำคนละความหมายกัน แม้จะมีรากศัพท์เหมือนกัน แต่ใช้ในความหมายคนละอย่าง

อุปนายิกา” ในคำว่า “อุปนายิกาสภากาชาดไทย” มาจาก “อุปนายก” (อุ-ปะ-นา-ยก) คือตำแหน่งในองค์กรที่มี “นายก” และมีรองนายกซึ่งเรียกว่า “อุปนายก

สภากาชาดไทยเป็นองค์กรที่ถือกันว่าดำเนินงานโดยสตรี ตำแหน่งในองค์กรที่ใช้คำบาลีสันสกฤตจึงมีรูปคำเป็นอิตถีลิงค์เพราะผู้ดำรงตำแหน่งเป็นสตรี คำว่า “อุปนายก” ตามรูปคำเป็นตำแหน่งเพศชาย จึงเปลี่ยนเป็นคำเพศหญิง คือ “อุปนายิกา

วสฺส + อุปนายิกา = วสฺสูปนายิกา (วัด-สู-ปะ-นา-ยิ-กา) (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ดิถีเป็นที่น้อมไปสู่กาลฝน” เขียนแบบไทยเป็น “วัสสูปนินายิกา” (วัด-สู-ปะ-นา-ยิ-กา) หมายถึง การใกล้เข้ามาของฤดูฝน, การเริ่มอยู่จำพรรษา (the approach of the rainy season, commencement of Vassa residence)

คำว่า “วัสสูปนินายิกา” ยังไม่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

วัสสูปนินายิกา” มีความหมายตรงกับคำที่เราพูดกันว่า “วันเข้าพรรษา

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายไว้ดังนี้ –

…………..

วันเข้าพรรษา : วันที่พระสงฆ์เริ่มจำพรรษา (วัสสูปนายิกา) ตามปกติหมายถึงเข้าพรรษาต้น คือ เริ่มจำปุริมพรรษา (ปุริมวัสสูปนายิกา หรือปฐมวัสสูปนายิกา หรือปุริมิกา วัสสูปนายิกา) ได้แก่ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ (ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือเพิ่มเดือน ๘ เข้ามาอีกเดือนหนึ่ง เป็นสอง ๘ ในปีนั้น ให้ถือวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ หลัง เป็นวันเข้าปุริมพรรษา), แต่ถ้าเข้าพรรษาต้นไม่ทันคือเข้าปุริมพรรษาไม่ทัน ด้วยเหตุจำเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง สามารถเลื่อนไปเข้าพรรษาหลัง คือเริ่มจำพรรษาในวันเข้าปัจฉิมพรรษา (ปัจฉิมวัสสูปนายิกา หรือทุติยวัสสูปนายิกา หรือปัจฉิมิกาวัสสูปนายิกา) ได้แก่ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๙.

…………..

เข้าพรรษาเป็นช่วงเวลาสร้างสาระให้แก่ชีวิตเป็นกรณีพิเศษ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: สาระไม่ได้แถมมากับชีวิต

: คนมีความคิดต้องสร้างมันขึ้นมาเอง

#บาลีวันละคำ (2,946)

6-7-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย