บาลีวันละคำ

อภิสิทธิ์ = สิทธิพิเศษ (บาลีวันละคำ 2,955)

อภิสิทธิ์ = สิทธิพิเศษ

บาลีว่าอย่างไร

นักเรียนบาลีอยากรู้ว่า คำที่พูดกันว่า คนนั้นมีอภิสิทธิ์ คนนี้ได้รับอภิสิทธิ์ คำว่า “อภิสิทธิ์” ที่พูดกันนี้ ภาษาบาลีว่าอย่างไร?

วิธีหาความรู้ ควรเริ่มที่ศึกษาความหมายของคำว่า “อภิสิทธิ์” ในภาษาไทยก่อน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อภิสิทธิ์ : (คำนาม) สิทธินอกเหนือขอบเขต, สิทธิเหนือกฎหรือระเบียบที่วางไว้, สิทธิที่ได้รับนอกเหนือไปจากกฎหรือระเบียบที่วางไว้. (ป., ส.).”

วงเล็บ “(ป., ส.)” หมายความว่า คำว่า “อภิสิทธิ์” เป็นคำบาลีสันสกฤต

อภิสิทธิ์” เขียนแบบบาลีเป็น “อภิสิทฺธิ” (อะ-พิ-สิด-ทิ) ตรวจดูในคัมภีร์บาลี โดยใช้โปรแกรมพระไตรปิฎกเท่าที่ผู้เขียนบาลีวันละคำมีอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ ไม่พบคำว่า “อภิสิทฺธิ

(ขอบคุณวิทยาการไฮเทคที่ช่วยทำให้การสืบค้นคำในคัมภีร์ทำได้อย่างรวดเร็วและทั่วถ้วน ถ้าใช้วิธีแบบเก่าคือเอาเล่มหนังสือมาเปิดดู น่าจะต้องใช้เวลาเป็นวันและหลายวัน หรืออาจเป็นเดือนเป็นปีกว่าจะตรวจได้หมดทุกเล่มทุกหน้า ซ้ำไม่อาจรับประกันว่าจะหลงตาไปบ้างหรือเปล่า)

ตรวจดูใน สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ซึ่งเป็นพจนานุกรมสันสกฤตเพียงเล่มเดียวที่ผู้เขียนบาลีวันละคำมีให้ค้นคำสันสกฤต ก็ไม่มีคำว่า “อภิสิทฺธิ” เช่นกัน

ได้ความรู้เบื้องต้นว่า คำว่า “อภิสิทธิ์” เป็นเพียงรูปคำที่เป็นบาลีสันสกฤต

อภิ” เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า เฉพาะ, ข้างหน้า, ยิ่ง

สิทฺธิ” (สิด-ทิ) บาลี-สันสกฤตรูปเหมือนกัน แปลว่า การกระทำสำเร็จ, ความสำเร็จ, ความรุ่งเรือง

อภิสิทฺธิ” แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำสำเร็จอย่างยิ่ง

ความหมายในภาษาไทย พจนานุกรมฯ บอกว่า “อภิสิทธิ์” คือ สิทธินอกเหนือขอบเขต, สิทธิเหนือกฎหรือระเบียบที่วางไว้, สิทธิที่ได้รับนอกเหนือไปจากกฎหรือระเบียบที่วางไว้

ตามความหมายในภาษาไทยและความหมายตามรูปศัพท์ในบาลีสันสกฤต “อภิสิทฺธิอภิสิทธิ์” มีความหมาย 2 นัย คือ

นัยที่หนึ่ง : สิทธิพิเศษที่จะทำอะไรข้ามหัวคนทั่วไปได้

นัยที่สอง : การทำงานได้สำเร็จเหนือกว่าคนอื่นที่เคยทำหรือที่เคยอยู่ในตำแหน่งหน้าที่นั้นๆ มาก่อน

แต่ในคัมภีร์ไม่พบรูปคำเช่นนี้ (เท่าที่ตรวจดูแล้วในเวลานี้) จึงมีปัญหาว่า“อภิสิทธิ์” ตามความหมายในภาษาไทยนั้น คำบาลีว่าอย่างไร

ต่อจากนี้ก็ต้องใช้วิธีที่ผู้เขียนบาลีวันละคำเรียกว่า “ยิงกระสุนวิถีโค้ง” นั่นคือ ตรวจดูในพจนานุกรมไทย-อังกฤษ เพื่อหาคำแปล “อภิสิทธิ์” เป็นคำอังกฤษ

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล “อภิสิทธิ์” เป็นอังกฤษว่า privilege

พอได้คำอังกฤษแล้วก็เข้าสู่ขั้นตอนปกติที่ผู้เขียนบาลีวันละคำทำอยู่เป็นประจำ คือตรวจดูในพจนานุกรมอังกฤษ-บาลี หรือ English-Pali Dictionary ฉบับที่ผู้เขียนบาลีวันละคำใช้อยู่คือฉบับของ A.P. BUDDHATTA MAHTHERA จัดพิมพ์โดย THE PALI TEXT SOCIETY พร้อมกับฉบับ online ซึ่งจัดทำโดย dictionary.tamilcube.com

น่าสังเกตว่า ชาติอื่นที่เรียนบาลีเขาสามารถทำพจนานุกรมอังกฤษ-บาลี และพจนานุกรมภาษาของชาติเขาแปลกลับเป็นบาลีได้สำเร็จชนิดที่ถือเป็นมาตรฐานได้

แต่ชาติไทยเราที่ถือกันว่าเป็นชาติที่นับถือพระพุทธศาสนาแข็งแรงที่สุด มีคนเรียนบาลีกันมากที่สุด ยังไม่สามารถทำพจนานุกรมไทย-บาลี (พจนานุกรมภาษาไทยแปลเป็นบาลี) ได้เลยแม้แต่เล่มเดียว

น่าจะถือว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกได้ชนิดหนึ่ง!

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล privilege เป็นบาลีดังนี้ –

๑ เป็นคำนาม:

(1) visesādhikāra วิเสสาธิการ (วิ-เส-สา-ทิ-กา-ระ) = การทำอะไรๆ ได้เป็นพิเศษนอกเหนือกฎเกณฑ์ปกติ

(2) pasāda ปสาท (ปะ-สา-ทะ) = “ความเลื่อมใส” > การยอมให้ทำตามความต้องการ

(3) vara วร (วะ-ระ) = “พร” > สิ่งที่ขอเลือกเอาตามประสงค์ (wish, boon, favour)

๒ เป็นคำกริยา:

visesādhikāraṃ or varaṃ deti

(1) วิเสสาธิการํ เทติ = ให้ทำอะไรๆ ได้เป็นพิเศษนอกเหนือกฎเกณฑ์ปกติ หรือ –

(2) วรํ เทติ = “ให้พร” คือให้สิทธิพิเศษตามที่ขอ

๓ เป็นคุณศัพท์หรือคำวิเศษณ์ (adjective):

(1) dinnavara ทินฺนวร (ทิน-นะ-วะ-ระ) = “มีพรอันตนให้แล้ว” > ผู้ให้สิทธิพิเศษ

(2) varalābhī วรลาภี (วะ-ระ-ลา-พี) = ผู้ได้พร, ผู้ได้รับสิทธิพิเศษ

ได้ความตามที่รวบรวมมาเพียงเท่านี้

…………..

บาลีวันละคำวันนี้ตั้งใจบอกถึงขั้นตอนการทำงานของผู้เขียนบาลีวันละคำ เผื่อว่าจะมีใครเกิดแรงบันดาลใจและมีแก่ใจช่วยกันทำงานสืบค้นทางภาษาบาลีให้เกิดผลดียิ่งๆ ขึ้นไป

…………..

ดูก่อนภราดา!

: จิตที่ตั้งไว้ผิด

: ร้ายกว่าอภิสิทธิ์ในมือคนเขลา

#บาลีวันละคำ (2,955)

15-7-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *