บาลีวันละคำ

อัสสุชล (บาลีวันละคำ 2,956)

อัสสุชล

ดูชอบกลคล้ายกับ a tear water

อ่านว่า อัด-สุ-ชน

ประกอบด้วยคำว่า อัสสุ + ชล

(๑) “อัสสุ

เขียนแบบบาลีเป็น “อสฺสุ” อ่านว่า อัด-สุ รากศัพท์มาจาก อสฺ (ธาตุ = ตกลงมา) + สุ ปัจจัย

: อสฺ + สุ = อสฺสุ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “น้ำที่ตกลงมาจากดวงตา” หมายถึง น้ำตา (a tear)

บาลี “อสฺสุ” สันสกฤตเป็น “อศฺร” “อศฺรุ” และ “อสฺรุ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(1) อศฺร : (คำนาม) น้ำตา; โลหิต; a tear; blood.

(2) อศฺรุ : (คำนาม) น้ำตา; a tear.

(3) อสฺรุ : (คำนาม) น้ำตา; a tear.

บาลี “อสฺสุ” ในภาษาไทยใช้เป็น “อัสสุ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

อัสสุ : (คำนาม) นํ้าตา. (ป.).”

(๒) “ชล

บาลีอ่านว่า ชะ-ละ รากศัพท์มาจาก ชลฺ (ธาตุ = ผูกรัด; ไหลไป; รุ่งเรือง) + (อะ) ปัจจัย

: ชลฺ + = ชล (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ผูกรัด” (คือบีบทำให้เรือแตกได้) (2) “สิ่งที่ไหลไป” (3) “สิ่งที่รุ่งเรือง” (คือระยิบระยับยามค่ำคืน) หมายถึง น้ำ (water)

บาลี “ชล” สันสกฤตก็เป็น “ชล

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “ชล” ในสันสกฤตไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ชล : (คำวิเศษณ์) เยือกเย็นหรืออนภิลาษ; สถุล; เฉื่อยชา, ไม่มีอุตสาหะ; เกียจคร้าน; cold; stupid; apathetic; idiotic; – (คำนาม) น้ำ; วิราค, เสนหาภาพ, ความเฉื่อยชาหรือความไม่มีเสนหา; water; frigidity; coldness, want of animation or coldness of affection.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ชล, ชล– : (คำนาม) นํ้า. (ป., ส.).”

อัสสุ + ชล = อัสสุชล

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อัสสุชล : (คำนาม) นํ้าตา. (ป.).”

อภิปราย :

พจนานุกรมฯ บอกว่า “อัสสุชล” เป็นคำบาลี

ความจริง คำว่า “อสฺสุ” แปลว่า “น้ำตา” ได้ความเต็มคำอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีคำว่า “ชล” ที่แปลว่า “น้ำ” มาต่อเติม

เทียบได้กับว่า a tear ในภาษาอังกฤษก็หมายถึง “น้ำตา” ตรงเต็มคำอยู่แล้ว ไม่ต้องพูดว่า a tear water

อสฺสุชล” ก็เหมือน a tear water นั่นเอง

ถ้าเช่นนั้น “อสฺสุชล” จะมีนัยเช่นไร?

ในพระไตรปิฎกยังไม่พบคำว่า “อสฺสุชล” (อัด-สุ-ชะ-ละ) แต่ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาพบคำนี้อย่างน้อย 4 แห่ง ขอยกมาเสนอประกอบการพิจารณาสัก 2 แห่ง ซึ่งเป็นข้อความเดียวกัน ดังนี้ –

เขียนแบบบาลี :

จตูสุ สมุทฺเทสุ ชลํ ปริตฺตกํ

ตโต พหุํ อสฺสุชลํ อนปฺปกํ

ทุกฺเขน ผุฏฺฐสฺส นรสฺส โสจโต

กึการณา สมฺม ตุวํ ปมชฺชสิ.

เขียนแบบคำอ่าน :

จะตูสุ สะมุทเทสุ ชะลัง ปะริตตะกัง

ตะโต พะหุง อัสสุชะลัง อะนัปปะกัง

ทุกเขนะ ผุฏฐัสสะ นะรัสสะ โสจะโต

กิงการะณา สัมมะ ตุวัง ปะมัชชะสิ.

คำแปล :

น้ำในสมุทรทั้งสี่ก็นิดหน่อย

คนที่ถูกทุกข์กระทบเศร้าโศกอยู่

น้ำตาของเขามากกว่านั้นไม่น้อยเลย

เพื่อนเอย เหตุไรท่านจึงยังประมาทอยู่?

ที่มา:

วนวาสิติสฺสตฺเถรวตฺถุ อันตรคาถา ธมฺมปทฏฺฐกถา (ตติโย ภาโค) หน้า 185

ปรมตฺถทีปนี ปฏาจาราเถรีคาถาวณฺณนา หน้า 173

อสฺสุชลํ” ในที่นี้ต้องแปลว่า “น้ำคือน้ำตา” ไม่ใช่ “น้ำแห่งน้ำตา

ที่ท่านใช้คำว่า “ชลํ” เพิ่มเข้ามาด้วยน่าจะเป็นเพราะความท่อนแรกพูดถึง “จตูสุ สมุทฺเทสุ ชลํ” = น้ำในสมุทรทั้งสี่ มีคำว่า “ชลํ” ยืนอยู่ ท่อนหลังจึงต้องเล่นคำว่า “ชลํ” เป็นการล้อกันตามลีลาของกวี

ความข้อนี้ถ้าจะแปลให้ล้อกัน ก็ต้องว่า “อสฺสุชลํ น้ำในดวงตามากกว่า สมุทฺทชลํ น้ำในมหาสมุทร” ดังนี้ จึงจะได้อรรถรสทางภาษา

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เสียน้ำเหงื่อมากขึ้นเท่าไร

: ก็จะเสียน้ำตาน้อยลงเท่านั้น

#บาลีวันละคำ (2,956)

16-7-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *