บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ของฝากจากเทศน์มหาชาติ

ของฝากจากเทศน์มหาชาติ

—————————-

งานปีวัดมหาธาตุ ราชบุรี ปีนี้ผ่านไปเรียบร้อยด้วยดี สมความปรารถนาของผม คือได้ฟังเทศน์มหาชาติครบบริบูรณ์ทั้ง ๑๓ กัณฑ์ 

ไม่นับกัณฑ์คาถาพันหัวม้วนซึ่งฟังจนจบรวดเดียวไม่ลุกจากที่ไปไหนเลยเป็นเวลาเกือบ ๔ ชั่วโมง

รู้สึกอิ่มบุญเป็นล้นเหลือ ขออนุญาตแบ่งส่วนบุญให้ญาติมิตรทั้งปวงทั่วกันครับ

“โมทนาเอาเถิด” – คำคนเก่าท่านพูดไว้อย่างนั้น

————-

งานปีวัดมหาธาตุ ปีนี้เริ่มงานวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ เสร็จงานวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ผมไปอยู่ที่วัดเต็มๆ ทั้ง ๔ วัน ยกเว้นเฉพาะเวลาที่กลับมาอาบน้ำกินข้าวที่บ้านและกลับมานอนบ้าน

ผมเดินไปและเดินกลับทุกเที่ยว เลิกงานตอนดึกเดินกลับบ้านหมาเห่าเกรียวตลอดทาง แบ่งส่วนบุญให้เพื่อนร่วมโลกทุกชีวิต เป็นบรรยากาศแบบไทยๆ ที่หาดูได้ยาก เพราะคนสมัยนี้เคลื่อนที่กันด้วยยานพาหนะจนแทบจะเดินไม่เป็นกันแล้ว

มาฆบูชาปีนี้ผู้คนมาเวียนเทียนที่วัดมหาธาตุมืดฟ้ามัวดิน

ผมเห็นงานมาฆบูชาที่วัดมหาธาตุมาตั้งแต่มีคนมาเวียนเทียนไม่กี่สิบคน

เห็นมาตั้งแต่ผู้หญิงที่มาเวียนเทียนนุ่งผ้าเกือบปิดตาตุ่ม 

จนกระทั่งบัดนี้นุ่งผ้าเกือบจะปิดก้นไม่มิด

————-

กลับมาที่เทศน์มหาชาติ

เทศน์มหาชาติของวัดมหาธาตุ เป็นการเทศน์แบบอนุรักษ์แบบแผน คือมีเทศน์คาถาพันก่อน แล้วเทศน์แต่ละกัณฑ์ไปตามลำดับครบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ มีวงปี่พาทย์จริงๆ ทำเพลงสาธุการเมื่อเจ้าภาพจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย และทำเพลงประจำกัณฑ์เมื่อจบแต่ละกัณฑ์ตามแบบแผน

เฉพาะกัณฑ์มัทรี ตอนพระนางมัทรีสลบ ปีพาทย์ทำเพลงโอดรับโดยที่พระธรรมกถึกกับวงปี่พาทย์ไม่ต้องตกลงอะไรกันไว้ก่อน แต่เป็นที่รู้กัน

พระธรรมกถึกบางกัณฑ์ทางวัดนิมนต์ยืน

ไม่ใช่นิมนต์ให้มายืนเทศน์ แต่หมายความว่านิมนต์ประจำทุกปีตลอดไป จนเป็นที่รู้กัน เพราะท่านเป็นเอกในการเทศน์เฉพาะกัณฑ์ เช่น 

กัณฑ์ชูชก พระธรรมกถึกประจำกัณฑ์นี้คือ พระมหากิตติศักดิ์ โคตมสิสฺโส วัดพระเชตุพนฯ ว่าชูชกอร่อยนัก มีลูกเล่นแพรวพราว

กัณฑ์มัทรี พระธรรมกถึกประจำกัณฑ์นี้คือ พระราชวิสุทธิดิลก (ละเอียด ป.ธ.๙) วัดสามพระยา น้ำเสียงหวนละห้อยบีบหัวใจสุดประมาณ

กัณฑ์มหาราช พระธรรมกถึกประจำกัณฑ์นี้คือ พระครูวิธานธรรมปรีชา (ธีรวัฒน์) วัดดอนเมือง เสียงก้องกระหึ่ม สมัยเทศน์ไม่มีเครื่องขยายเสียง ขึ้นนโมกระเบื้องศาลาสั่น

แต่ละกัณฑ์มีผู้รับเป็นเจ้าภาพโดยที่ทางวัดไม่ได้ออกบอกขอ คือเมื่อญาติโยมทราบก็รับเป็นเจ้าภาพกันด้วยศรัทธาบริสุทธิ์

ฟังเทศน์มหาชาติปีนี้มีเรื่องประหลาดสำหรับตัวผมเรื่องหนึ่ง

————-

ขอแวะอธิบายตรงนี้ก่อน

มหาเวสสันดรชาดกแบ่งเป็น ๑๓ กัณฑ์ แต่ละกัณฑ์มีความยาวไม่เท่ากัน

ความยาวนั้นนับเป็นคาถาที่บรรยายเนื้อความในกัณฑ์นั้นๆ 

ผมจดมาให้ดูในที่นี้ด้วยแล้ว

ข้างหน้าเป็นชื่อกัณฑ์ 

ตัวเลขข้างหลังเป็นจำนวนคาถาประจำกัณฑ์

……..

ทศพร 19

หิมพานต์ 134

ทานกัณฑ์ 209

วนประเวศน์ 57

ชูชก 79

จุลพน 35

มหาพน 80

กุมาร 101

มัทรี 90

สักรบรรพ 43

มหาราช 69

ฉกษัตริย์ 36

นครกัณฑ์ 48

รวม ๑๓ กัณฑ์ได้จำนวน ๑,๐๐๐ พระคาถา อันเป็นที่มาของคำว่า “คาถาพัน”

ใครเก่งเลขลองบวกกันดูนะครับ

เวลากล่าวถึงกัณฑ์ไหนว่ามีกี่คาถา ท่านนิยมพูดเป็นสำนวนว่า “ประดับไปด้วยพระคาถา…” เช่น กัณฑ์ทศพรก็ว่า “ประดับไปด้วยพระคาถา ๑๙ พระคาถา”

————-

ในศาลาที่มีเทศน์ประดับต้นกล้วยอ้อย แต่งให้มีบรรยากาศป่าๆ ตรงหน้าธรรมาสน์ตั้งโอ่งน้ำมนต์ มีราวเทียนพาดปากโอ่ง ติดเทียนเตรียมไว้จำนวนเล่มเทียนเท่าจำนวนพระคาถาในกัณฑ์นั้นๆ 

พิธีกรจะชิญเจ้าภาพจุดเทียน ๓ แห่ง คือ – 

จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยที่โต๊ะหมู่บูชา

จุดเทียนส่องธรรมบนธรรมาสน์

จุดเทียนบูชาพระคาถาที่โอ่งน้ำมนต์

ผมไปฟังเทศน์ก็พยายามนั่งหลบๆ ไม่เสนอหน้า 

วันแรกถูกเจ้าภาพกัณฑ์ทศพรกัณฑ์แรกเชิญจุดเทียนบูชาพระคาถา 

กัณฑ์อื่นๆ ก็นั่งฟังปลอดโปร่งมาทุกกัณฑ์ แม้แต่กัณฑ์มหาพนซึ่งปีนี้คณะผู้รักษาอุโบสถศีลวัดมหาธาตุอันมีผมเป็นสมาชิกอยู่ด้วยเป็นเจ้าภาพ ก็มีท่านผู้อื่นจุดกันครบหมด

จนถึงนครกัณฑ์อันเป็นกัณฑ์สุดท้าย เจ้าภาพกัณฑ์นครกัณฑ์เชิญให้ผมไปจุดเทียนบูชาพระคาถาอีกกัณฑ์หนึ่ง 

เป็นอันว่าได้จุดเทียนบูชาพระคาถากัณฑ์แรกและกัณฑ์สุดท้ายโดยไม่ได้ตั้งใจมาก่อนเลย

จะเป็นนิมิตหมายอะไรก็ยังนึกไม่ออก

อนุโมทนาโดยทั่วกันเถิด

————-

ฟังเทศน์มหาชาติจนจบเรื่อง คนเก่าๆ ท่านมักจะถามลองภูมิกันว่า ใครในเรื่องกลับชาติมาเกิดเป็นใครในชาติปัจจุบัน

ขอจดมาให้ญาติมิตรเป็นของฝากแถมมากับบุญดังนี้ครับ –

ชูชก กลับชาติมาเป็นพระเทวทัต

นางอมิตตดา = นางจิญจมาณวิกาสาวกเดียรถีย์ที่รับแผนไปปฏิบัติในการใส่ไคล้พระพุทธองค์ว่าทำให้นางมีครรภ์ จนในที่สุดถูกแผ่นดินสูบ (น่าสังเกตว่า พระเทวทัตกับนางจิญจมาณวิกาถูกแผ่นดินสูบทั้งคู่)

พรานเจตบุตร = นายฉันนะอำมาตย์คนสนิทของเจ้าชายสิทธัตถะ

อจุตฤๅษี = พระสารีบุตร

พระอินทร์ = พระอนุรุทธเถระ

วิสสุกรรมเทพบุตร = พระมหาโมคคัลลานะ

เทวดาที่แปลงเป็นราชสีห์มาขวางทางพระนางมัทรี = พระอุบาลี

เทวดาที่แปลงเป็นพญาเสือโคร่ง = พระสีวลี

เทวดาที่แปลงเป็นพญาเสือเหลือง = พระจุลนาคมหาเถระ

เทวดาที่แปลงเป็นพระเวสสันดรมาอภิบาลสองกุมารระหว่างทางที่ชูชกพาไป = พระมหากัจจายนะ

เทวดาที่แปลงเป็นพระนางมัทรี = นางวิสาขามหาอุบาสิกา

ช้างปัจจัยนาคที่พระเวสสันดรประทานแก่ชาวเมืองกาลิงคะอันเป็นชนวนให้ต้องถูกเนรเทศ = พระมหากัสสปเถระ

แม่ของช้างปัจจัยนาค = พระนางกีสาโคตมีศากยธิดา

พระเจ้ากรุงมัททราช พระราชบิดาของพระนางมัทรี = เจ้ามหานามศากยะ

อำมาตย์เดินสาส์นของพระเวสสันดร = พระอานนท์

อำมาตย์ผู้จัดการสัตตสดกมหาทาน (สัด-ตะ-สะ-ดก-คือของที่ให้มีจำนวนอย่างละ ๗๐๐) ก่อนที่พระเวสสันดรจะออกจากเมืองไปอยู่เขาวงกต = อนาถบิณฑิกมหาเศรษฐี

พระเจ้ากรุงสญชัย = พระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา

พระนางผุสดี = พระนางสิริมหามายา พระพุทธมารดา

พระนางมัทรี = พระนางยโสธราพิมพา

ชาลี = พระราหุล

กัณหา = นางอุบลวรรณาเถรี

พระเวสสันดร กลับชาติมาเป็นพระพุทธเจ้า

……..

ของฝากจากฟังเทศน์มหาชาติก็มีเท่านี้แหละครับ

อนุโมทนาบุญโดยทั่วกัน เทอญ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙

๑๗:๒๗

————

มหาเวสสันดรชาดก

พระนิพนธ์ 

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

(เว้นกัณฑ์ทานกัณฑ์ ชูชก มหาพน กุมาร มัทรี และมหาราช)

พิมพ์ประกาศพระเกียรติคุณ

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

๑๑ ธันวาคม ๒๕๓๘

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *