บาลีวันละคำ

อุทฺธํ อโธ – อุด-อัด (บาลีวันละคำ 2,963)

อุทฺธํ อโธ – อุด-อัด

คาถากันปืน

อุทฺธํ” อ่านว่า อุด-ทัง

อโธ” อ่านว่า อะ-โท

อุทฺธํ อโธ” เป็นคำประเภท “นิบาต” บอกสถานที่ 2 คำที่เอามาพูดควบกัน ยังเป็นคนละคำอยู่ ไม่ใช่รวมกันเป็นคำเดียว

นักเรียนบาลีท่องจำว่า “อุทฺธํ เบื้องบน อโธ เบื้องต่ำ

อุทฺธํ” แปลว่า สูง, เบื้องบน, เหนือ (high up, on top, above)

อโธ” แปลว่า ต่ำ, เบื้องล่าง, ใต้ (down, below)

อุทฺธํ” เขียนแบบคำอ่านเป็น “อุทธัง

อโธ” เขียนแบบคำอ่านเป็น “อะโธ

ขยายความ :

ผู้ที่ชอบสวดมนต์คงระลึกได้ถึงบทพิจารณาอาการ 32 ความตอนต้นที่ว่า –

…………..

อะยะเมวะ กาโย

กายคือประชุมส่วนเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดนี้นั้นแล

อุทธัง ปาทะตะลา

เบื้องบนตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นมา

อะโธ เกสะมัตถะกา

เบื้องต่ำตั้งแต่ปลายผมลงไป

ตะจะปะริยันโต

มีหนังหุ้มอยู่ที่สุดรอบ

ปูรันนานัปปะการัสสะ อะสุจิโน

เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ

…………..

คำว่า “อุทธัง  อะโธ” ที่มาคู่กัน มีปรากฏใน “กรณียเมตตสูตร” คาถาบทที่ 8 ความในบทนี้ว่าดังนี้ –

…………..

เมตตัญจะ  สัพพะโลกัสมิง  

มานะสัมภาวะเย  อะปะริมาณัง

บุคคลพึงเจริญเมตตามีในใจไม่มีประมาณไปในโลกทั้งสิ้น

อุทธัง  อะโธ  จะ  ติริยัญจะ  

อะสัมพาธัง   อะเวรัง  อะสะปัตตัง.

พึงเจริญเมตตาอันไม่คับแคบ ไม่มีเวร ไม่มีศัตรู ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง

…………..

นักเล่นคาถาจับเอาคำว่า “อุทธัง  อะโธ” ไปภาวนา นับถือกันว่าเป็น “คาถากันปืน” แต่จับเสียงแปลงความเสียใหม่ คือ –

อุทธัง” จับเสียงเป็น “อุด” คือปิดปากกระบอกปืนไว้ให้ยิงไม่ออก

อะโธ” จับเสียงเป็น “อัด” คือดันให้กลับเข้าไป ก็คือยิงไม่ออกนั่นเอง

ในกรณียเมตตสูตรยังมีอีกศัพท์หนึ่ง คือ “ติริยัง” (เขียนแบบบาลีเป็น “ติริยํ”) แปลว่า ทางขวาง (across)

ความจริง กรณียเมตตสูตรนั้นเป็นคาถาแผ่เมตตา เมื่อรวมกันเป็น “อุทธัง  อะโธ  จะ  ติริยัญจะ” ก็เป็นอันแผ่ไปได้ครบทุกทิศทุกทาง ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องกลาง ป้องกันภัยได้สารพัด ไม่ใช่เฉพาะกันปืนอย่างเดียว

…………..

ดูก่อนภราดา!

: หมั่นแผ่เมตตาทุกวันคืน

: ช่วยคาถากันปืนให้ขลังได้จริง

#บาลีวันละคำ (2,963)

23-7-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *