พระศรีอริยเมตไตรย (บาลีวันละคำ 2,962)
พระศรีอริยเมตไตรย
ชื่อจริงที่ไม่มีใครรู้จัก
อ่านว่า พฺระ-สี-อะ-ริ-ยะ-เมด-ไตฺร
ประกอบด้วยคำว่า พระ + ศรี + อริย + เมตไตรย
(๑) “พระ”
มีผู้ให้ความเห็นว่าน่าจะมาจาก “วร” (วะ-ระ) ในบาลีสันสกฤต แปลว่า “ผู้ประเสริฐ” แปลง ว เป็น พ ออกเสียงว่า พะ-ระ แล้วกลายเสียงเป็น พฺระ (ร กล้ำ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “พระ” ไว้ 13 อย่าง ในที่นี้คำว่า “พระ” เป็นคำใช้ประกอบหน้าคําอื่นแสดงความยกย่องพระเจ้าแผ่นดินหรือของที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายชั้นสูง เช่น พระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์
(๒) “ศรี”
บาลีเป็น “สิริ” อ่านว่า สิ-ริ (บาลีมี “สิรี” อีกรูปหนึ่ง) รากศัพท์มากจาก สิ (ธาตุ = เสพ, คบหา, อาศัย) + ร ปัจจัย + อิ (หรือ อี) ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: สิ + ร = สิร + อิ (อี) = สิริ (สิรี) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งอันผู้ทำความดีไว้ได้สัมผัส” (2) “สิ่งที่อาศัยอยู่ในบุคคลผู้ทำความดีไว้”
พจนานุกรมบาลี-อังฤษ แยกความหมายของ “สิริ” ไว้ดังนี้ –
(1) ความโอ่อ่าอลังการ, ความสวยงาม (splendour, beauty)
(2) โชค, ความรุ่งโรจน์, ความมีเดช, ความรุ่งเรือง (luck, glory, majesty, prosperity)
(3) เทพธิดาแห่งโชคลาภ (the goddess of luck)
(4) (เมื่อ + คพฺภ = สิริคพฺภ) ห้องบรรทม (the royal bed-chamber)
“สิริ” สันสกฤตเป็น “ศฺรี” เขียนตามสันสกฤตเป็น “ศรี” อ่านว่า สี
คำว่า “ศฺรี” ในสันสกฤตมีความหมายอย่างไรบ้าง สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ศฺรี : (คำนาม) ‘ศรี,’ ภาคย์, สัมฤทธิหรือบุณโยทัย; ธน, ทรัพย์; เสาวภาคย์, ความงาม; อาภา, อาโลก; ความรัก, หน้าที่, และทรัพย์; เครื่องแต่งตัว, เครื่องประดับ; ภาวะหรือสถิติ; ทิพยศักดิ์, อมานุษศักดิ์; มติ, พุทธิ, ความรู้, ความเข้าใจ; ผล; เกียรติ; พระลักษมี, ผู้ชายาของพระวิษณุ, และเปน ‘ภควดีศรี’ หรือเจ้าทรัพย์และความเจริญ; นามของสรัสวดี; กานพลู; อุปสรรคหรือบทน่านามเทวดา (ย่อมใช้ซ้ำ), ดุจคำว่า ศรีศรีทุรคา; บทน่าบอกความเคารพต่อวิสามานยนามของบุรุษ, ดุจคำว่า ศรีชัยเทพ; บทน่าครันถ์, ดุจคำว่า ศรีภาควัต; ต้นศรัลหรือต้นสน; fortune, prosperity; wealth, riches; beauty, splendor; light; love, duty, and wealth; dress, decoration; state; superhuman power; intellect, understanding; consequence; fame or glory; the goddess Lakshmi, the wife of Vishṇu, and deity of plenty and prosperity; a name of Sarasvati; cloves; a prefix to the name of deities (often used repeatedly), as Śri Śri Durgā; a prefix of respect to proper names of persons, as Śri Jayadeva; a prefix to works, as Śri Bhāgavat; the Śaral or pine tree.”
ในภาษาไทยใช้ทั้ง “สิริ” และ “ศรี”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “สิริ” ไว้ดังนี้ –
(1) ผสม เช่น สามีภรรยาสิริอายุเข้าด้วยกัน 150 ปี, รวม เช่น สิริอายุได้ 72 ปี
(2) (ความหมายข้อนี้เป็น “สิรี” ด้วย) ศรี, มิ่งขวัญ, มงคล, เช่น สิริราชสมบัติ, มักใช้เข้าคู่กับคำ มงคล เป็น สิริมงคล; สวย, งาม, เช่น ทรงมีพระสิริโฉม
และบอกความหมายของ “ศรี” ไว้ดังนี้ –
(1) มิ่ง, สิริมงคล, ความรุ่งเรือง, ความสว่างสุกใส, ความงาม, ความเจริญ, เช่น ศรีบ้าน ศรีเรือน ศรีเมือง
(2) ใช้นำหน้าคำบางคำเป็นการยกย่อง เช่น พระศรีรัตนตรัย วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
(3) พลู. (คำมลายู); (ราชาศัพท์) หมากพลู เรียกว่า พระศรี
(4) ผู้หญิง (คำเขมร = สี)
(5) (คำที่ใช้ในบทกลอน) ลักษณนามใช้แก่คน เช่น พระปิตุราชมาตุรงค์ทรงพระสรวล เห็นสมควรคู่ครองกันสองศรี (จากเรื่องพระอภัยมณี)
(๓) “อริย”
บาลีอ่านว่า อะ-ริ-ยะ รากศัพท์มาจาก –
(1) อรห = “ผู้ฆ่าข้าศึกคือกิเลส”, แปลง อ ที่ ร และ ห เป็น อิย
: (อร + อห = ) อรห : อห > อิย : อร + อิย = อริย แปลเท่ากับคำว่า “อรห” คือ “ผู้ฆ่าข้าศึกคือกิเลส”
(2) อรฺ (ธาตุ = ถึง, บรรลุ) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, ลง อิ อาคม
: อรฺ + อิ = อริ + ณฺย > ย = อริย แปลว่า “ผู้บรรลุธรรมคือมรรคและผล”
(3) อารก = “ผู้ไกลจากกิเลส”, แปลง อารก เป็น อริย แปลเท่ากับคำว่า “อารก” คือ “ผู้ไกลจากกิเลส”
(4) อรฺ (ธาตุ = ถึง, บรรลุ) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, ลง อิ อาคม [เหมือน (2)] แปลว่า “ผู้อันชาวโลกพึงเข้าถึง”
(5) อริย = “ผลอันประเสริฐ” + ณ ปัจจัย, ลบ ณ
: อริย + ณ = อริยณ > อริย แปลว่า “ผู้ยังชาวโลกให้ได้รับผลอันประเสริฐ”
สรุปว่า “อริย” แปลว่า –
(1) ผู้ฆ่าข้าศึกคือกิเลส
(2) ผู้บรรลุธรรมคือมรรคและผล
(3) ผู้ไกลจากกิเลส
(4) ผู้อันชาวโลกพึงเข้าไปใกล้
(5) ผู้ยังชาวโลกให้ได้รับผลอันประเสริฐ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ประมวลความหมายของ “อริย” ไว้ดังนี้ –
๑ ทางเชื้อชาติ: หมายถึง ชาติอารยัน (racial: Aryan)
๒ ทางสังคม: หมายถึง ผู้ดี, เด่น, อริยชาติ, สกุลสูง (social: noble, distinguished, of high birth)
๓ ทางจริยศาสตร์: หมายถึง ถูกต้อง, ดี, ดีเลิศ (ethical: right, good, ideal)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อริย-, อริยะ : (คำนาม) ในพระพุทธศาสนา เรียกบุคคลผู้บรรลุธรรมวิเศษ มีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น ว่า พระอริยะ หรือ พระอริยบุคคล. (คำวิเศษณ์) เป็นของพระอริยะ, เป็นชาติอริยะ; เจริญ, เด่น, ประเสริฐ.”
(๔) “เมตไตรย”
บาลีเป็น “เมตฺเตยฺย” อ่านว่า เมด-เตย-ยะ รากศัพท์มาจาก –
(๑) เมตฺตา (ความรักใคร่, เมตตา) + เอยฺย ปัจจัย, ลบสระหน้า คือ อา ที่ (เมตฺ)-ตา (เมตฺตา > เมตฺต)
: เมตฺตา > เมตฺต + เอยฺย = เมตฺเตยฺย แปลตามศัพท์ว่า “เกี่ยวพันกับเมตตา” หมายถึง ผู้มีความเมตตา
(๒) เมตฺติ (ไมตรี, ความเป็นมิตร) + เอยฺย ปัจจัย, ลบสระหน้า คือ อิ ที่ (เมตฺ)-ติ (เมตฺติ > เมตฺต)
: เมตฺติ > เมตฺต + เอยฺย = เมตฺเตยฺย แปลตามศัพท์ว่า “เกี่ยวพันกับความเป็นมิตร” หมายถึง ผู้มีไมตรี
“เมตฺเตยฺย” เขียนอิงสันสกฤตเป็น “เมตไตรย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เมตไตรย : (คำนาม) พระนามของพระพุทธเจ้าที่จะมาตรัสรู้ข้างหน้า. (ป. เมตฺเตยฺย; ส. เมไตฺรย).”
การประสมคำ :
(1) ศรี + อริย = ศรีอริย แปลว่า “อันเจริญอย่างโอ่อ่าอลังการ”
(2) ศรีอริย + เมตไตรย = ศรีอริยเมตไตรย แปลว่า “ผู้มีความเป็นมิตรอันเจริญอย่างโอ่อ่าอลังการ”
(3) พระ + ศรีอริยเมตไตรย = พระศรีอริยเมตไตรย แปลว่า “พระผู้มีความเป็นมิตรอันเจริญอย่างโอ่อ่าอลังการ”
อภิปราย :
คำว่า “พระศรีอริยเมตไตรย” เป็นคำเต็มๆ ที่เราเรียกพระพุทธเจ้าที่จะมาตรัสรู้ข้างหน้า แต่เมื่อเรียกนานเข้าคำว่า “เมตไตรย” หดหายไป เหลือแต่ “พระศรีอริย” แล้วเราก็กลายคำว่า “อริย” เป็น “อารย” แล้วสะกดเป็น “อารย์” อ่านว่า อาน
ดังนั้น จาก “พระศรีอริยเมตไตรย” จึงกลายเป็น “พระศรีอารย์” (พฺระ-สี-อาน) แล้วเลยรู้จักกันในชื่อ “พระศรีอารย์” เวลาเอ่ยถึงพระพุทธเจ้าที่จะมาตรัสรู้ข้างหน้า เราก็พูดกันว่า “ศาสนาพระศรีอารย์”
เรียกกันอย่างนั้นมานานจนติดปากติดใจ จะแก้ก็คงยาก ก็ต้องยอมให้เรียกกันอย่างนั้นต่อไป
แต่พึงเข้าใจและรู้ทันว่า พระนามจริงๆ ของพระพุทธเจ้าที่จะมาตรัสรู้ข้างหน้านั้นไม่ใช่ “พระศรีอารย์” แต่คือ “พระเมตไตรย”
ช่วยกันรู้และช่วยกันเรียกให้มากๆ เข้า สักวันหนึ่งคำว่า “พระเมตไตรย” ก็คงจะมีคนเรียกจนติดปากติดใจเหมือนกับที่เรียก “พระศรีอารย์” ในบัดนี้
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ความดีที่จะมีในวันหน้า
: คือความดีที่เรากล้าลงมือทำในวันนี้
#บาลีวันละคำ (2,962)
22-7-63