บาลีวันละคำ

อณู (บาลีวันละคำ 2,965)

อณู

“นิดดดดดดดเดียว”

อ่านว่า อะ-นู

อณู” บาลีเป็น “อณุ” (อะ-นุ) รากศัพท์มาจาก อณฺ (ธาตุ = เป็นไป) + อุ ปัจจัย

: อณฺ + อุ = อณุ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นไปโดยภาวะที่ละเอียด” หมายถึง เล็กน้อย, กระจ้อยร่อย, ละออง, ละเอียด, ประณีต (small, minute, atomic, subtle)

บาลี “อณุ” สันสกฤตก็เป็น “อณุ” รูปเดียวกัน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

อณุ : (คำนาม) อณูของวัตถุ; an atom (of matter); – (คำวิเศษณ์) ละเอียด, เล็กจิ๋ว, เปนปรมาณู; fine, minute, atomic.”

บาลี “อณุ” ภาษาไทยใช้เป็น “อณุ” และ “อณู” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) อณุ, อณู ๑ : (คำนาม) มาตราวัดโบราณ ๓๖ ปรมาณู เป็น ๑ อณู.ว. เล็ก, น้อย; ละเอียด. (ป., ส. อณุ).

(2) อณู ๒ : (คำนาม) ส่วนของสารที่ประกอบด้วยปรมาณู. (ป., ส. อณุ).

อภิปรายขยายความ :

ข้อควรทราบคือ “อณุ” (-ณุ ณ เณร) ในบาลีคำนี้บางทีสะกดเป็น “อนุ” (-นุ น หนู) เหมือน “อนุ” คำอุปสรรคที่แปลว่า น้อย, ภายหลัง, ตาม. แต่ยังคงใช้ในความหมายของ “อณุ” กล่าวอีกนัยหนึ่ง คำนี้สะกดได้ทั้ง “อณุ” (-ณุ ณ เณร) และ “อนุ” (-นุ น หนู)

อณุ” ที่มักพบในประโยคบาลีก็อย่างเช่น “อณุมตฺต” หรือ “อนุมตฺต” (อะ-นุ-มัด-ตะ) “มตฺต” แปลว่า ประมาณ “อณุมตฺต” แปลว่า “ประมาณเล็กน้อย” หมายถึง ขนาดเล็ก, เล็กน้อย, นิดเดียว (of small size, atomic, least) อย่างที่ภาษาปากพูดกันว่า “เรื่องจิ๊บจ๊อย

อณุมตฺต” ที่ใช้ในวลีแสดงคุณสมบัติของภิกษุผู้สำรวมระวังในสิกขาบทคือ “อณุมตฺเตสุ วชฺเชสุ ภยทสฺสาวี” (อะณุมัตเตสุ วัชเชสุ ภะยะทัสสาวี) แปลว่า “ผู้มีปกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย” ถอดความว่า ความผิดแม้เพียงเล็กน้อยก็กลัว ไม่กล้าทำไม่กล้าล่วงละเมิด

คำที่มีความหมายตรงกันข้ามกับ “อณุ” และมักมาคู่กันคือ “ถูล” (ถู-ละ) เป็น “อณุถูล” (อะ-นุ-ถู-ละ) หรือ “อณุํถูล” (อะ-นุง-ถู-ละ) แปลว่า ละเอียดและหยาบ, เล็กและใหญ่ (fine and coarse, small & large) เช่นในภาษิตบทหนึ่งว่า –

…………..

นาทิฏฺฐา  ปรโต  โทสํ

อณุํถูลานิ  สพฺพโส

อิสฺสโร  ปณเย  ทณฺฑํ

สามํ  อปฺปฏิเวกฺขิย.

ยังไม่เห็นความผิดของผู้อื่น

ไม่ว่าน้อยหรือมากโดยรอบด้าน

ยังไม่ได้ตรวจสอบด้วยตนเองก่อนแล้ว

ผู้เป็นใหญ่ไม่พึงลงโทษใครๆ

ที่มา: มหาปทุมชาดก ทวาทสนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 27 ข้อ 1698

…………..

คำที่เราคุ้นกันในภาษาไทยคำหนึ่ง คือ “ปรมาณู” ก็ประกอบขึ้นจาก “อณู” คำนี้ คือ ปรม + อณู = ปรมาณู แต่เมื่อกลายรูปเป็น “ปรมาณู” แล้ว เราก็แทบจะไม่ได้นึกถึงคำว่า“อณู

คำว่า “ปรมาณู” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

ปรมาณู : (คำนาม) ส่วนของสารที่มีขนาดเล็กที่สุดจนไม่สามารถจะแยกย่อยได้อีกด้วยวิธีเคมี. (ป., ส. ปรมาณุ).”

ในภาษาเขียนหรือโวหารของนักประพันธ์ นิยมใช้สำนวนเช่น – “ทุกอณูของลมหายใจ” หมายถึงทุกขณะที่หายใจเข้าออกไม่มีเวลาว่างเว้นแม้สักขณะจิตเดียว “ทุกอณูของผืนแผ่นดินไทย” หมายถึง ทุกตารางนิ้วหรือทุกถิ่นทุกที่บนผืนแผ่นดินไทยไม่เว้นว่างไว้ตรงไหนเลย

อณู” ในภาษาเขียนเช่นนี้หมายถึง ทั้งหมดทั้งสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่เว้นแม้แต่สิ่งที่ละเอียดเล็กน้อยที่สุดเท่าที่จะเล็กได้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อุจจาระ แม้นิดเดียวก็เหม็น

: บาป แม้นิดเดียวก็นำไปนรกได้

#บาลีวันละคำ (2,965)

25-7-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *