บาลีวันละคำ

ศุภนิมิต (บาลีวันละคำ 2,966)

ศุภนิมิต

อย่าติดอยู่แค่ฝันดี

อ่านว่า สุบ-พะ-นิ-มิด

ประกอบด้วยคำว่า ศุภ + นิมิต

(๑) “ศุภ

บาลีเป็น “สุภ” (สุ เสือ) อ่านว่า สุ-พะ รากศัพท์มาจาก –

(1) สุ (คำอุปสรรค = ดี,งาม) + ภา (ธาตุ = รุ่งเรือง) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ, ลบสระที่สุดธาตุ (ภา > )

: สุ + ภา = สุภา + กฺวิ = สุภากฺวิ > สุภา > สุภ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่รุ่งเรืองด้วยดี

(2) สุภฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + (อะ) ปัจจัย

: สุภฺ + = สุภ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่งดงาม

(3) สุ (คำอุปสรรค = ดี,งาม) + ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ, ลบสระที่สุดธาตุ (ภู > )

: สุ + ภู = สุภู + กฺวิ = สุภูกฺวิ > สุภู > สุภ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นโดยสภาวะที่งดงาม

สุภ” ใช้เป็นคุณศัพท์หมายถึง –

(1) เจิดจ้า, สว่าง, งดงาม (shining, bright, beautiful)

(2) ได้ฤกษ์, โชคดี, น่าพึงใจ (auspicious, lucky, pleasant)

สุภ” ใช้เป็นคำนามหมายถึง สวัสดิภาพ, ความดี, ความพึงใจ, ความสะอาด, ความสวยงาม, สุขารมณ์ (welfare, good, pleasantness, cleanliness, beauty, pleasure)

บาลี “สุภ” สันสกฤตเป็น “ศุภ” (ศุ ศาลา)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

(1) ศุภ : (คำวิเศษณ์) เปนสุขหรือมีสุข, มีโชคหรือเคราะห์ดี, มีหรือเป็นมงคล; งาม; วิศิษฏ์; คงแก่เรียน; happy, fortunate, auspicious; handsome, beautiful; splendid; learned.

(2) ศุภ : (คำนาม) มงคล; ศุภโยค, โชคหรือเคราะห์ดี; สุข; นักษัตรโยคอันหนึ่ง; คณะเทพดา; ข้าวหลาม; อาภา; โสภาหรือความงาม; auspiciousness; good junction or consequence, good fortune; happiness; one of the astronomical Yogas; an assemblage of the gods; bamboo-manna; light; beauty.

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ศุภ– : (คำนาม) ความงาม, ความดีงาม, ความเจริญ. (ส.; ป. สุภ).”

(๒) “นิมิต

บาลีเป็น “นิมิตฺต” (นิ-มิด-ตะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) นิ (คำอุปสรรค = เข้า,ลง) + มา (ธาตุ = กะ, กำหนด, นับ) + ปัจจัย, แปลง อา ที่ มา เป็น อิ (มา > มิ), ซ้อน ตฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย (มา + ตฺ + )

: นิ + มา = นิมา + ตฺ + = นิมาตฺต > นิมิตฺต แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่กำหนดผลของตนไว้” (2) “สิ่งเป็นเครื่องอันเขากำหนด” (คือใช้เป็นเครื่องหมาย)

(2) นิ (คำอุปสรรค = เข้า,ลง) + มิ (ธาตุ = ใส่) + ปัจจัย, ซ้อน ตฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย (มิ + ตฺ + )

: นิ + มิ = นิมิ + ตฺ + = นิมิตฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นที่อันเขาใส่ผลไว้แล้ว

(3) นิ (คำอุปสรรค = ออก) + มิหฺ (ธาตุ = ไหล, หลั่ง) + ปัจจัย, แปลง เป็น (มิหฺ > มิตฺ)

: นิ + มิหฺ = นิมิหฺ + = นิมิหฺต > นิมิตฺต แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะที่หลั่งน้ำออกมา

นิมิตฺต” (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เครื่องหมาย, นิมิต, สิ่งบอกเหตุ, การทำนาย (sign, omen, portent, prognostication)

(2) รูปร่างภายนอก, ตำหนิ [ของร่างกาย], ลักษณะ, คุณสมบัติ, ปรากฏการณ์ (outward appearance, mark, characteristic, attribute, phenomenon)

(3) เครื่องหมาย, จุดมุ่งหมาย (mark, aim)

(4) องคชาต (sexual organ)

(5) หลักฐาน, เหตุผล, เงื่อนไข (ground, reason, condition)

ในที่นี้ “นิมิตฺต” ใช้ในความหมายตามข้อ (1)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “นิมิต” ไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –

(1) นิมิต ๑ : (คำกริยา) นิรมิต, สร้าง, แปลง, ทํา. (ป. นิมฺมิต; ส. นิรฺมิต).

(2) นิมิต ๒ : (คำนาม) เครื่องหมาย, ลาง, เหตุ, เค้ามูล; (คำแบบ) (คำนาม) อวัยวะสืบพันธุ์ เช่น อิตถีนิมิต ปุริสนิมิต. (ป., ส. นิมิตฺต).

นิมิต ๑” ที่แปลว่า นิรมิต, สร้าง, แปลง, ทํา เป็นคนละคำกับ “นิมิต” ที่กำลังพูดถึง

นิมิต” ที่กำลังพูดถึง คือ “นิมิต ๒” บาลีเป็น “นิมิตฺต” (นิ-มิด-ตะ) ส่วน “นิมิต ๑” (นิรมิต, สร้าง, แปลง, ทํา) บาลีเป็น “นิมฺมิต” (นิม-มิ-ตะ) เป็นคนละคำกับ “นิมิตฺต

สุภ + นิมิตฺต = สุภนิมิตฺต แปลว่า “สิ่งบอกเหตุที่ดีงาม” หมายถึง นิมิตที่เป็นมงคล, ศุภนิมิต (auspicious sign, auspiciousness as an object of one’s thought)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

ศุภนิมิต : (คำนาม) นิมิตดี, ลางดี.”

คำไทยเก่าๆ “นิมิต” ใช้ในความหมายว่า ฝันหรือความฝันก็มี ถ้าใช้ในความหมายเก่า “ศุภนิมิต” ก็หมายถึง ฝันดี

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ฝันดียังเป็นเพียงศุภนิมิต

: ลงมือทำดีทุกขณะจิตจึงจะเป็นความจริง

#บาลีวันละคำ (2,966)

26-7-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *